เจาะอดีต ดูยุโรปยุคเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล กองอึโบราณยังช่วยชีวิตคนได้

การโยนบกที่กรุงปรากครั้งที่ 2

แง่มุมที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์มีมากมายหลายหลาก แต่นักประวัติศาสตร์หรือนักเขียนสารคดีส่วนใหญ่มักจะพุ่งเป้าไปที่เรื่องราวสำคัญๆ ซึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ หรือส่งผลต่อวิถีชีวิต อารยธรรม และวัฒนธรรมของชนรุ่นหลัง

ซาราห์ อัลบี (Sarah Albee) นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ จึงลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับแง่มุมเล็กๆ กับเขาบ้างในชื่อ Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up เรื่องราวเกี่ยวกับอึ หรือสิ่งปฏิกูลที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต้องขับถ่ายออกมา เพื่อปะติดปะต่อร่องรอยในหน้าประวัติศาสตร์ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเธอค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เอกสารเก่าแก่ และปรึกษากับนักประวัติศาตร์ผู้เชี่ยวชาญ นำเสนอในแง่มุมที่ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาดูแล้ว การขับถ่ายของเสียนี้เป็นกิจวัตรที่เราต้องทำอยู่ทุกวัน ทว่ากลับไม่ค่อยมีบันทึกใดๆ ที่ชี้ชัดให้เห็นว่าพวกเขาจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร ใครๆ ก็อึกันทั้งนั้น

Advertisement

ปัญหาของนักประวัติศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวชีวิตของคนเดินดิน ไม่ใช่เจ้าขุนมูลนาย ที่อาศัยอยู่ในรั้วในวังก็คือ ส่วนใหญ่สามัญชนเหล่านี้จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือถ้าพอจะมีความรู้อยู่บ้าง ก็คงไม่บ้าพอจะเอาทรัพย์สินที่มีอยู่น้อยนิด ไปแลกกับกระดาษและน้ำหมึก เพื่อมาจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้คนธรรมดาเหล่านี้จะมีสัดส่วนในสังคมมากถึงร้อยละ 96 แต่นักประวัติศาสตร์แทบไม่รู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับพวกเขาเลย ต่างจากชนชั้นสูง ที่แม้จะมีอยู่ในสังคมแค่ร้อยละ 4 แต่ก็มีมั่งคั่งและมีความรู้ จึงบันทึกเรื่องราวไว้มากมายทั้งในรูปแบบไดอารี่ งานศิลปะ รูปปั้น ภาพเขียน จดหมาย ฯลฯ

มีเรื่องน่าขบคิดมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับถ่ายที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกไว้ เราเคยอ่านบันทึกเกี่ยวกับการสู้รบของบรรดาอัศวิน การทำสนธิสัญญาสงบศึก วีรกรรมของผู้ชนะ ทว่าเราไม่เคยรู้เลยว่าบรรดาหนุ่มๆ ที่ต้องสวมชุดเกราะหนักไม่ต่ำกว่า 50 ปอนด์ ควบม้าไปไหนมาไหนเหล่านี้ ขับถ่ายกันอย่างไร หรือบรรดาเคาน์เตสชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ลากกระโปรงบานเท่าสุ่มไก่ของพวกเธอผ่านประตูแคบๆ ของห้องที่จัดไว้เผื่อทำธุระส่วนตัวได้อย่างไร หรือคนอียิปต์มีวิวัฒนาการก้าวหน้าถึงขนาดสร้างปิระมิดอันใหญ่โตมโหฬาร แล้วพวกเขาสร้างห้องส้วมกันหรือไม่ หรือแม้กระทั่ง มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่านักบินอวกาศในศตวรรษที่ 20 ซึ่งสวมชุดอวกาศตลอดเวลา ปลดทุกข์กันอย่างไร และเอาของเสียนั้นไปเก็บไว้ที่ไหน

การศึกษาเรื่องการขับถ่าย หรือระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลในชุมชนโบราณกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกินคาด เพราะทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องขับถ่ายของเสียออกมาจากร่างกายไม่ต่างกัน ทำให้เรารู้สภาพสังคมของคนในยุคนั้น อาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บ หรือกระทั่งได้รู้ว่าคนต้องย้ายถิ่นฐานเพราะอะไร หรืออาณาจักรนั้นล่มสลายลงเพราะเหตุอันใด

เรื่องขี้ๆ ที่ไม่ธรรมดา

ในยุโรปยุคกลาง มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าการจัดการกับสิ่งปฏิกูลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อเกิดผลที่ตามมาร้ายแรง โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้คนในยุคนั้นไม่รู้ว่าสาเหตุที่พวกเขาเจ็บป่วยมาจากอะไร เพราะคิดเพียงแต่ว่าเทพเจ้ากำลังลงโทษ โดยลืมไปว่าต่างเดินเท้าเปล่า หรือกินดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน ซึ่งต้นน้ำ หรือคุ้งน้ำก่อนจะมาถึงพวกเขา อาจมีคนทิ้งของเสียลงไปมากมายแล้ว (ลองนึกภาพแม่น้ำคงคาในอินเดีย) เพราะฉะนั้นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงมาพร้อมกับน้ำ หรืออาจจะเป็นแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ในดิน หรืออาจมากับแมลงที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งชอบกินสิ่งปฏิกูล อาทิ ฝีดาษ อหิวาตกโรค โปลิโอ ไทฟอยด์ โรคบิด โรคอี.โคไล เป็นต้น

โรคร้ายเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เช่น เหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในลอนดอนราวทศวรรษ 1960 เป็นกาฬโรคครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ คร่าชีวิตชาวลอนดอนไปราว 100,000 คน

สาเหตุของโรคนั้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหมัดเป็นพาหะนำโรค อาจเป็นเพราะในยุคนั้นจำนวนพลเมืองในลอนดอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนหลายล้านคนแออัดยัดเยียดอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่เพียง 76 ตารางไมล์ ผลก็คือพวกเขาขาดการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ แม้จะมีการนำสิ่งปฏิกูลใส่รถเข็นออกไปทิ้งนอกเมืองเป็นครั้งคราว แต่พวกเขากลับนำไปเททิ้งไว้ใกล้แหล่งน้ำ หรือนำไปเป็นปุ๋ยในฟาร์มรอบเมือง ที่ส่งผลผลิตเข้ามาหล่อเลี้ยงชาวลอนดอน ว่ากันว่าหากเราไปเดินบนถนนลอนดอนในช่วง 200-300 ปี ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ต้องนำติดตัวไปด้วยก็คือ ไม้หนีบผ้า หรือไม่ก็ผ้าเช็ดหน้า เพื่อกันกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจที่คละคลุ้งไปทั่วเมือง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบันทึกไว้ว่าคนสำคัญมากมายในประวัติศาสตร์ ที่กินอยู่อย่างสุขสบาย และมีการขับถ่ายที่ถูกสุขลักษณะ ต่างก็เคยทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้เช่นกัน อาทิ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ (Alexander Dumas) เป็นอหิวาตกโรค เจงกิส ข่าน (Genghis Khan), ดังเต้ (Dante) โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) อับราฮัม ลิงคอล์น ( Abraham Lincoln) ธีโอดอร์ รูสเวลท์ (Theodore Roosevelt) เป็นมาลาเรีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางเจ้าวิคตอเรีย (Prince Albert) ฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) เป็นไทฟอยด์ ไม่เพียงเท่านั้น ของเสียเหล่านี้ยังทำให้ผู้คนในอดีตติดแอลกอฮอล์ อายุสั้น เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ก่อกบฏ หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรยิ่งใหญ่ในอดีต เช่น เอเธนส์ โรม จักรวรรดิออตโตมัน

แม้ว่าสิ่งปฏิกูลเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในสาเหตุของหายนะ แต่ก็นับว่าเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว เพราะบางครั้งโรคภัยไข้เจ็บจากสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ สามารถคร่าชีวิตคนทั้งเมือง ทหารทั้งกองทัพ หรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหาร มากกว่าคมหอกคมดาบ หรือภัยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ได้หลายเท่าตัว นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอึ

เรารู้เรื่องราวของคนโบราณที่มีอายุย้อนหลังไปเกินกว่า 6,000 ปีที่แล้ว หรือที่เรียกว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้คนยังไม่รู้หนังสือ อาศัยอยู่ตามถ้ำ รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร ก็เพราะว่ามีการศึกษาอึโบราณ ต้องขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ที่เรียกกันว่าพาเอโอสโตโลจิสท์ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องอึโบราณ นักวิทยาศาสตร์สาขานี้ต้องศึกษาอึมนุษย์โบราณที่กลายเป็นฟอสซิล เพื่อเรียนรู้ว่าคนเหล่านั้นกินอะไร และเป็นโรคอะไร แล้วเก็บข้อมูลไว้เพื่อให้นักประวัติศาสตร์นำไปต่อยอดอีกที

อึช่วยชีวิต

ในปี ค.ศ. 1618 มีเรื่องชวนขบขันและน่าทึ่งอย่างหนึ่ง ทว่ากลับไม่ได้รับการจดจำและเลือนหายไปตามกาลเวลา ในปีนั้นกลุ่มชาวโบฮีเมียโปรเตสแตนต์หัวรุนแรง ซึ่งไม่พอใจองค์จักรพรรดิและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เดินขบวนตามท้องถนนในกรุงปรากไปยังปราสาทปราก เพื่อจัดการกับพระคาทอลิกซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ พวกเขาบุกเข้าไปถึงห้องที่บาทหลวง 4 รูปและข้ารับใช้อยู่ในนั้น บาทหลวง 2 รูปหนีไปได้ บาทหลวงที่เหลือและข้ารับใช้จึงถูกจับโยนออกมาทางหน้าต่างหอคอยที่สูง 50 ฟุต เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ การโยนบกที่กรุงปรากครั้งที่ 2 (Second Defenestration of Prague) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามสามสิบปี (Thirty Years War) ระหว่างกลุ่มชาวบ้านหัวรุนแรงและจักรวรรดิ ทำให้ผู้คนล้มตายไปมากมาย

การโยนบกที่กรุงปรากครั้งที่ 2

หลังสงครามสิ้นสุด นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงว่า จุดเริ่มต้นของสงครามคือการโยนบกบาทหลวง แต่พวกเขาลืมไปว่า ที่จริงแล้วบาทหลวง 2 รูปและข้ารับใช้ที่ถูกโยนลงมา ไม่ได้เสียชีวิตแต่อย่างใด พวกเขาตกลงมาบนกองอึขนาดมหึมาที่อยู่ใต้หน้าต่างของหอคอยหลังนั้น และลองจินตนาการดูว่า การตกลงมาจากที่สูง 50 ฟุตแล้วรอดชีวิตได้ กองอึที่รองรับร่างพวกเขามันจะสูงสักเพียงใด

ไวน์กับชาวกรีก

ชาวกรีกเชื่อว่าการดื่มน้ำตามแม่น้ำลำคลองที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าเลือกได้พวกเขาจะดื่มน้ำฝนที่เก็บไว้ในแท็งก์น้ำ นอกจากนี้ชาวกรีกนิยมดื่มไวน์เป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่า ถ้ามีไวน์ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย จะทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่พวกเขากลับลืมใช้ไวน์ล้างแผล เพราะการใช้น้ำเปล่าที่สกปรกล้างแผล เป็นการเพิ่มเชื้อโรคเข้าไปในบาดแผลมากยิ่งขึ้น

การขับถ่ายใครว่าไม่สำคัญ

ปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่สุภาพที่คนอายุเกิน 10 ปีจะพูดเรื่องอึ หรือการขับถ่ายในที่ชุมชน ทว่าเมื่อหลายพันปีก่อน เรื่องนี้เป็นกิจกรรมสาธารณะ ทุกคนจะทำธุระส่วนตัวกันในที่เปิดเผย ไม่ได้มีห้องหับมิดชิดเหมือนเช่นราชสำนักยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในกรุงโรม ผู้คนจะนั่งเคียงกันในตอนขับถ่าย คุยไปด้วยพร้อมกับทำธุระส่วนตัว (ถ้านึกภาพให้ใกล้เคียง ก็คือการเข้าไปทำธุระในห้องน้ำของจีน ที่ประตูเปิดโล่ง ให้เห็นหน้าค่าตากันชัดเจน) ผ่านมาอีกหลายร้อยปี ในบ้านเรือนที่หรูหราของผู้มีอันจะกิน จะมีกระโถนวางไว้พร้อมในห้องนั่งเล่นกันเลยทีเดียว

แม้แต่พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม ซึ่งเขียนขึ้นกว่า 2 สหัสวรรษที่ผ่านมา การจัดการกับสิ่งปฏิกูลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในพระราชบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าส่งผ่านโมเสสให้บอกกล่าวกับชาวฮีบรู บทที่ 23 ข้อที่ 13 กล่าวว่า

และท่านต้องมีไม้เสี้ยมรวมไว้กับเครื่องอาวุธ และเมื่อท่านนั่งลงในที่ข้างนอกนั้น ท่านจงใช้ไม้ขุดหลุมไว้ และหันไปกลบสิ่งปฏิกูลของท่านเสีย

ศักดิ์สิทธิ์ แต่ใช่จะถูกสุขลักษณะ

ในปี ค.ศ. 1947 คนเลี้ยงแกะชาวเบดูอินค้นพบจารึกโบราณในถ้ำที่คูมรันใกล้กับทะเลเดดซี จารึกเหล่านี้ได้รับการเรียกขานว่าลิขิตเดดซี ซึ่งมีอายุระหว่าง 250-68 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่ากลุ่มนักบวชชาวเอสซีน (Essene) เป็นคนเขียนจารึกเหล่านี้ นักโบราณคดียังค้นพบห้องส้วมของบรรดานักบวชใกล้ๆ กับบริเวณที่เก็บจารึกด้วย และสรุปได้ว่าพฤติกรรมการขับถ่ายของพวกเขา กลับกลายเป็นแหล่งอาศัยของพยาธิมากมาย เพราะนักบวชและชนชั้นสูงชาวเอสซีนถูกห้ามไม่ให้ขับถ่ายในวันสะบาโต พวกเขาจะขุดหลุมเพื่อขับถ่ายไว้นอกเมือง หลังจากทำธุระเสร็จก็จะฝังกลบเสีย ทว่าจากการสำรวจบริเวณที่เป็นห้องส้วมเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่ามีพยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิแส้ม้า พยาธิเข็มหมุด เป็นจำนวนมาก ซึ่งอึของนักบวช กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพยาธิที่โตวันโตคืน และรอคอยโอกาสที่จะกลับไปฝังตัวในลำไส้ของมนุษย์อีกครั้ง

ถ้าหากบรรดานักบวชขับถ่ายบนทรายแล้วปล่อยให้แสงอาทิตย์แผดเผาให้อึแห้ง เช่นเดียวกับชาวเบดูอิน เชื้อโรคและพยาธิก็จะถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว แต่นักบวชกลับกลายเป็นกลุ่มที่มีโรคภัยไข้เจ็บมากที่สุด และมีน้อยกว่าร้อยละ 6 ที่มีชีวิตยาวนานเกิน 40 ปี การจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ แห่งแรกของโลก

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า อารยธรรมของมนุษยชาติเริ่มจากการขีดเขียน ทว่าบางครั้งแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่แท้จริงอาจวัดกันที่ห้องส้วมแห่งแรกของโลกก็ได้ ชาวฮาร์ราปัน (Harrapan) ถือเป็นชนกลุ่มแรกที่มีการจัดการเรื่องสุขอนามัย พวกเขาคิดค้นท่อน้ำและระบบระบายของเสียเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้ว

ชาวฮาร์ราปันอาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา ในลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศปากีสถาน และครอบครองบริเวณนั้นกว่า 2,000 ปี พวกเขาสร้างเมืองฮาร์รัปปาและโมเฮนโจดาโรที่มีความสวยงาม มีระบบการวางท่อและการระบายน้ำที่ยอดเยี่ยม ตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ในขณะที่ชาวยุโรปยังอาศัยอยู่ตามถ้ำ ชาวฮาร์รัปปาสร้างบ้านเรือน ห้องอาบน้ำ ซึ่งต่อท่อน้ำทิ้งไปยังแหล่งระบายน้ำเสีย พวกเขาสามารถจัดการกับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในเมืองได้ก่อนชาวปารีสหลายพันปี

ส่วนชาวมิโนอัน ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะครีต ใกล้กับประเทศกรีซ เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ก็มีระบบการจัดการน้ำและของเสียที่ก้าวหน้าเช่นเดียวกัน พวกเขาสร้างบ้านเรือนที่สวยงาม พระราชวังที่หรูหรา พร้อมกับใส่ระบบประปาเข้าไปด้วย

ช่างประปาชาวมิโนอันครุ่นคิดว่าจะทำให้น้ำไหลออกมาจากก๊อกได้อย่างไร แล้วพวกเขาก็เดินหน้าต่อด้วยการสร้างส้วมชักโครก ซึ่งอาศัยน้ำฝนที่เก็บเอาไว้ในถังเก็บน้ำและไหลลงมาจากหลังคา ทว่าสิ่งอำนวยความสะดวกอันหรูหรานี้มีไว้เพื่อกษัตริย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ตัวอาคารจะผุพังไปตามกาลเวลา ทว่าส้วมชักโครกนี้ยังคงใช้การได้อยู่…


เอกสารอ้างอิง

Albee, Sarah. Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up. Walker Book, 2010.

http://www.answers.com

http://www.msnbc.msn.com/id/15689591/

http://www.wordplanet.org/ti/05/31.htm


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2562