26 เมษายน 2431 กำเนิดโรงพยาบาลศิริราช

ภาพถ่าย ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช
ด้านหน้าของตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช สมัย 2 ชั้น (ขอบคุณภาพจากเพจ Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช)

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาล พระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” หรือ “โรงพยาบาลศิริราช” ในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง “โรงรักษาผู้ป่วย” หรือ “โรงพยาบาลชั่วคราว” ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ประกอบด้วย

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ยังความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง มีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่างๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันชักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ประชาชน นั่งรอตรวจ พบแพทย์ ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช
บรรยากาศการรอตรวจใต้ตึกอำนวยการ (ขอบคุณภาพจากเพจ Siriraj Museum – พิพิธภัณฑ์ศิริราช)

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ประเมิน จินทวิมล.”ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505

ราชกิจจานุเบกษา, ว่าด้วยกอมิตีผู้จัดการโรงพยาบาล ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้งโรงพยาบาล (ที่วังกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง (วังหลัง), เล่ม 4, ตอน 5, 5 พฤษภาคม จ.ศ.1887, หน้า 35

ศันศนีย์ วีระศิลป์ชัย. “โรงพยาบาลศิริราช”, ชื่อบ้านนามเมือง ในกรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2551

http://www.si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/

http://www.naph.or.th/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2563