สภาพศิริราชยามสงคราม รักษาคนเจ็บถูกระเบิด และหมอสุด แสงวิเชียร โดนพยาบาลไล่!?

โรงศิริราชแพทยากร (ภาพจาก http://journal.sirirajmuseum.com)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่หนึ่ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย และก็เป็นหน้าที่ของบุคคลกรทางการแพทย์ที่ต้องเข้าช่วยเหลือประชาชน เรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี อาจารย์หมอด้านกุมารศัลยศาสตร์ของไทย เล่าไว้ดังนี้

“ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เครื่องบินทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ถี่ขึ้น วันไหนที่มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด เมื่อมีเสียงสัญญาณบอกถึงว่า กรุงเทพฯ ปลอดภัย และเครื่องบินกลับหมดแล้วดังไปทั่วกรุงเทพฯ ทางโรงพยาบาลศิริราชก็จะส่งรถยนต์ (รถยนต์เก่า ๆ และมีอยู่คันเดียว) ออกไปช่วยขนคนเจ็บจากบริเวณที่มีระเบิดมาให้ทางโรงพยาบาล

น่าปลื้มและภาคภูมิใจมาก ถ้าจะได้เห็นในครั้งนั้นว่า เมื่อเกิดมีความทุกข์ยากเดือดร้อนในยามสงครามสักเพียงใด และมีคนได้รับบาดเจ็บมากแค่ไหนก็ตาม พวกเราแพทย์ พยาบาล และนักเรียนแพทย์ทุกคนที่ว่างและอยู่ใกล้ ๆ จะร่วมกันช่วยรักษาคนเจ็บ ไม่ได้เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ต่างก็อดหลับอดนอนกันทั้งนั้น

พอรถขนคนได้รับบาดเจ็บมาถึง พวกคนงานและนักเรียนแพทย์อาสาสมัครเป็นพลเปล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนแพทย์ปี 2-3 จะช่วยกันพยุงอุ้มหรือช่วยกันยกเปลหามคนเจ็บมา คนเจ็บถูกนำเข้ามาให้ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (เวลานั้นอยู่ชั้นล่างตึกอำนวยการ) มีพยาบาลและพวกคอยลงทะเบียนชื่อคนเจ็บและที่อยู่

จากนั้นจะมีแพทย์ชุดหนึ่งคอยตรวจและเลือกคนเจ็บ และให้รวมอยู่เป็นพวก ๆ พวกบาดเจ็บมีแผลเล็กน้อย พวกบาดเจ็บที่มีอาการหนัก พวกที่หมดสติ พวกกระดูกหัก ฯลฯ เมื่อแยกเป็นพวก และนอนรวมอยู่เป็นที่ ก็ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำไว้ก่อนทุกราย มีแพทย์ที่ทำการตรวจคนเจ็บ รายไหนที่จะต้องผ่าตัดด่วนก็จะส่งห้องผ่าตัด ตึกศาลาศัลยกรรม ทุกรายต่างก็ได้รับการปฐมพยาบาลและมีการตรวจละเอียดพร้อมกับการรักษา ตึกที่จะต้องรับคนเจ็บเข้าไว้รักษาก็จะเตรียมรับคนเจ็บโดยพร้อมสมบูรณ์”

ด้านหน้าของตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช สมัย 2 ชั้น (ขอบคุณภาพจากเพจ Siriraj Museum – พิพิธภัณฑ์ศิริราช)

ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทิ้งระเบิดมีจำนวนมาก หรือบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ หรือจะเป็นทั้งสองประการ ทำให้แพทย์อย่าง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร นายแพทย์ชื่อดังของไทย หัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ และเป็นอาจารย์หมอของนักศึกษาแพทย์ในสมัยนั้น ต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือเป็นการด่วน แต่กลับถูกพยาบาลไล่!? นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี เล่าไว้ดังนี้

“วันหนึ่งหลังจากสัญญาณปลอดภัยทางอากาศ เมื่อเวลาเกือบ ๆ ตี 4 พอ ประมาณตี 5 กว่า ๆ คนที่ได้รับบาดเจ็บจากถูกระเบิดก็ถูกขนมาส่งอยู่เต็ม โอ.พี.ดี. ตอนนั้นแพทย์ พยาบาล และนักเรียนแพทย์ ยังมารวมอยู่ไม่มากนัก คนเจ็บยังนอน ไม่อยู่เป็นพวก ไม่เป็นที่เป็นทาง คนเจ็บหลายคนที่ยังนอนอยู่บนพื้นบริเวณทางเดินเข้ามาในตึก

ราว 6 โมงกว่า อาจารย์หมอสุดก็ขี่จักรยาน 2 ล้อคู่ชีพมาทำงาน และมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ท่านจูงจักรยานผ่าน โอ.พี.ดี. เพื่อจะไปตึกที่ทำงาน ตึกกายวิภาค อย่างที่เคยปฏิบัติมา พอเห็นคนเจ็บนอนครวญครางอยู่เต็มไปหมด และเห็นคนเจ็บคนหนึ่งที่นอนอยู่บนเปลที่วางอยู่บนรถเข็น ดิ้นพลิกไปมาโดยไม่มีที่กั้น และไม่มีผ้าผูกรัดคนเจ็บให้นอนนิ่ง คนที่จะยืนเฝ้าคอยดูแลคนเจ็บก็ไม่มี คนเจ็บอาจพลิกตัวและตกมาจากรถเข็นนั้นก็ได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร (ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร)

อาจารย์หมอสุด จูงรถจักรยานไปจอดแอบ ๆ ไว้ข้างผนังห้องแล้วรีบวิ่งมาที่คนเจ็บ จับตัวคนไข้ไว้แล้วบอกให้นอนนิ่ง ๆ มองดูไปรอบ ๆ หรือบริเวณนั้น คิดว่าพอจะเห็นเชือกหรือผ้าพอที่จะใช้ผูกรัดตัวคนเจ็บที่นอนเปลอยู่นั้นให้คนเจ็บและเปลผูกรัดกับตอนบนของรถเข็น เพื่อกันไม่ให้คนเจ็บตกเปล แต่ไม่เห็นสิ่งใดตามต้องการ ท่านจึงเพียงแต่จับตัวและตบตัวคนเจ็บเบา ๆ บอกให้คนเจ็บนอนนิ่ง ๆ และโดยที่ท่านเป็นแพทย์ ท่านก็จับข้อมือคนเจ็บขึ้นมาเพื่อตรวจคลำชีพจร

ทันใดนั้น ก็มีพยาบาลคนหนึ่งปราดเข้ามา ยืนมองหน้า ‘คุณอย่าเที่ยวล้วงควักตามกระเป๋าเขาสิ คุณไม่ใช่ญาติคนเจ็บ ไม่ต้องมาช่วย หรืออยู่ใกล้เขาหรอก หลีกไปเสียเถอะ’

พอโดนว่าและโดนไล่ อาจารย์ผงะถอยตัวออกห่างยิ้ม ๆ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เพียงพึมพำออกมาว่า ‘ผมเป็นหมอครับ’

พอดีแพทย์ผู้หนึ่งเห็นเหตุการณ์อยู่ เข้ามายืนโค้งคำนับและกล่าวสวัสดี แล้วบอกกับพยาบาลว่า ‘อาจารย์หมอสุดท่านเป็นหัวหน้าแผนกกายวิภาควิทยาครับ คุณไปช่วยพรรคพวกทางห้องโน้นทีเถอะ คนไข้มีเลือดออกจากแผลมาก’

พยาบาลคนนั้นหายวับไปกับตา

‘เขาคงไม่รู้จักผม อยู่โรงพยาบาลนี้ด้วยกันแท้ ๆ ผมนี่แย่จริง ๆ’ อาจารย์ท่านบ่น”

เหตุที่ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร ไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนในโรงพยาบาลนั้น นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี อธิบายว่า อาจารย์หมอสุด ท่านทำงานอยู่ประจำตึกกายวิภาคศาสตร์ต้องเรียกว่า ‘ประจำ’ จริง ๆ ไม่ค่อยจะมีเวลาได้ออกมาเดินเกร่นอกตึก หรือไปที่ไหนมาไหนให้ใคร ๆ ได้เห็นได้รู้จัก ตอนเช้ามาทำงานตั้งแต่เช้า โรงพยาบาลยังเงียบสงบ ไม่ค่อยมีใครเดินไปมานัก พอค่ำก็กลับบ้าน มืดแล้วไม่มีใครมัวมามองหน้าท่านจนทำให้จำได้ จะมีก็แต่พวกหมอกับนักเรียนหมอเท่านั้นที่รู้จักท่านดี คนอื่น ๆ ไม่รู้จักหรอก”


อ้างอิง :

เสนอ อินทรสุขศรี. (2556). 92 ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์ เสนอ อินทรสุขศรี. กรุงเทพฯ : ซไท-โล-กราฟ.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2564