ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ฟาโรห์” แห่งอียิปต์โบราณ ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเท่านั้น พวกเขาถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ ร่างจำแลงของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ “พระนาม” ของฟาโรห์จึงเปี่ยมด้วยความหมายอันล้ำลึก สะท้อนสถานะที่สูงส่ง ความเป็นผู้ปกครอง และการเชื่อมโยงกับสวรรค์หรือเทพเจ้า ทำให้ฟาโรห์องค์เดียวสามารถมีได้ถึง 5 พระนามด้วยกัน
พระนามเหล่านั้นไม่ได้นึกจะตั้งก็ตั้งเอาดื้อ ๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เป้าหมายของชื่อต่าง ๆ คือเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างอาณาจักรมนุษย์และความศักดิ์สิทธิ์ 5 พระนามของฟาโรห์จึงมักสื่อถึงอัตลักษณ์และพระราชอำนาจ โดยจะเถลิงพระนามครบทั้ง 5 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ และใช้พระนามต่าง ๆ ในบริบทที่ต่างกัน เช่น ในศาสนพิธี การบันทึกพงศาวดาร ฯลฯ
แต่ละพระนามยังมีความหมายเฉพาะตัว หลัก ๆ คือบอกถึงการสืบสายราชวงศ์ บุญญาบารมี พระราชอำนาจด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงองค์ฟาโรห์เข้ากับเทพเจ้าอียิปต์ ดังนี้
พระนามฮอรัส
เป็นชื่อที่น่าจะรู้จักมากที่สุดของฟาโรห์แต่ละองค์ พระนามฮอรัส (Horus Name) จะเชื่อมฟาโรห์กับเทพฮอรัส เทพเจ้าแห่งท้องนภา มีศีรษะเป็นนกเหยี่ยว เพราะตามความเชื่อของชาวอียิปต์ ฮอรัสคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นกษัตริย์ พระราชา และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ชาวอียิปต์ยังเชื่อด้วยว่า ฟาโรห์คือร่างจำแลงของเทพฮอรัสที่มาปกครองโลก
พระนามฮอรัสจะสลักไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายส่วนหน้าของพระราชวัง เรียกว่า เซเรค (Serekh) สื่อถึงพระราชอำนาจขององค์ฟาโรห์เหนือแผ่นดินอียิปต์ ตัวอย่างพระนามฮอรัส คือ เมดเจดู (Medjedu) ของฟาโรห์คูฟู ผู้สร้างมหาพีระมิดแห่งกิซา
พระนามเนปติ
พระนามเนปติ (Nebty Name) คือการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของฟาโรห์กับเทพีแห่งอียิปต์บน (Upper Egypt) และอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) โดยใช้สัญลักษณ์ของนกแร้งและงูเห่า เพื่อแสดงออกถึงอำนาจของฟาโรห์เหนืออาณาจักรอียิปต์ทั้งมวล สื่อถึงความเป็นเอกภาพ และสถานภาพของฟาโรห์ในฐานะผู้รวมอียิปต์ให้เป็นปึกแผ่น
ชาวอียิปต์เชื่อว่า เทพเนปติมอบอานุภาพให้ฟาโรห์สามารถรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและสมดุลภายในราชอาณาจักรของพวกเขา ตัวอย่างพระนามเนปติคือ เนปคา (Nebkha) ของฟาโรห์โจเซอร์แห่งราชวงศ์ที่ 3
พระนามฮอรัสทองคำ
พระนามฮอรัสทองคำ (The Golden Horus name) คือการอธิบายสาแหรกหรือพระราชวงศ์ของฟาโรห์ โดยทั่วไปเรียกว่า “ฮอรัสแห่งทองคำ” (Horus of Gold) อาจแทรกด้วยชื่อราชวงศ์และสมญานามบางอย่างที่แสดงถึงอำนาจ ความยิ่งใหญ่ หรือพระราชนิยมของฟาโรห์
พระนามฮอรัสทองคำมักมีนัยเรื่องสิทธิอันชอบธรรมทางสายโลหิตในการปกครองแผ่นดินอียิปต์ของฟาโรห์ ดังตัวอย่างของ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 หนึ่งในฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอียิปต์โบราณ ใช้พระนามฮอรัสทองคำว่า อูเซอมาเทร เซปเทเพนเร (Usermaatre Setepenre) แปลว่า อานุภาพความยุติธรรมแห่งเทพเร หรือผู้ถูกเลือกโดยเทพเร (พระสุริยเทพ)
พระนามต้น
พระนามต้น (Prenomen) มีความคล้ายปฐมโองการของฟาโรห์ อาจเรียกว่าเป็น พระนามบัลลังก์ (Throne name) หรือพระนามบรมราชาภิเษก เพราะจะกำหนดใช้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระนามต้นยังปรากฏอยู่ในบันทึกพงศาวดาร จารึกทางการ พระราชกฤษฎีกา และพระราชสาส์นติดต่อทางการทูตต่าง ๆ ด้วย
พระนามต้นมักแสดงออกถึงความทะเยอทะยาน ความสำเร็จ หรือการอุทิศตนเพื่อศาสนา (ก่อนครองราชย์) ของฟาโรห์ หรือแม้แต่การประกาศพระเกียรติคุณ โดยจะจารึกไว้ในคาร์ทูช (Cartouche) สัญลักษณ์รูปไข่ที่สื่อถึงความเป็นนิรันดร์และการปกป้องคุ้มครอง ตัวอย่าง ฟาโรห์ตุตันคาเมนมีพระนามต้นว่า เนบเคเปรูเร (Nebkheperure) แปลว่า ผู้ถือครองอภินิหารแห่งเทพเร
พระนามจริง
พระนามจริง (Nomen) มักเป็นที่รับรู้น้อยมาก โดยจะเป็น “นามกำเนิด” หรือชื่อแรกเกิด ที่สะท้อนความเป็นปัจเจกชนและอัตลักษณ์ส่วนตัวของฟาโรห์มากที่สุด
พระนามจริงของฟาโรห์จะไม่ค่อยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ยกเว้นคนสนิทและราชนิกูลระดับสูงเท่านั้น เพราะคนอียิปต์เชื่อว่า การรู้ชื่อแรกเกิดจะทำให้ผู้รู้มีอำนาจเหนือบุคคลนั้น พระนามจริงจึงมักถูกเก็บงำไว้เป็นความลับ ดังตัวอย่างพระนามจริงของฟาโรห์ตุตันคามุนคือ ตุตันคาเตน (Tutankhaten)
จะเห็นว่า พระนาม ทั้ง 5 ของฟาโรห์อียิปต์โบราณ มักวนเวียนอยู่กับสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ การเชื่อมโยงกับเทพเจ้า เชื้อสายราชวงศ์ และอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในปกครอง ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีเป้าหมายคือเพิ่มพูนอำนาจและสิทธิธรรมของฟาโรห์ในการปกครองอาณาจักร ตลอดจนย้ำเตือนถึงความสมบูรณ์พร้อมของผู้ปกครอง และสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าแห่งโลกและสวรรค์ในยุคโบราณ
อ่านเพิ่มเติม :
- ฟาโรห์ไม่ได้มีแต่ชาย พบอียิปต์มี “ฟาโรห์หญิง” อีก 6 พระองค์
- ฟาโรห์ผิวดำแห่งอียิปต์! เมื่อกษัตริย์ชาวนูเบียปกครองดินแดนไอยคุปต์
- ตามรอยนักโบราณคดี ขุดสุสานฟาโรห์ “ทุทันคามุน” เผยวินาทีพบโลงพระศพ-สมบัติสุดอึ้ง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Happy Egypt. Names of The Pharaohs in Ancient Egypt. June 15, 2023. (Online)
Aleksa Vučković, Ancient Origins. Why Did Egyptian Pharaohs Have Five Names?. April 19, 2024. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2567