ผู้เขียน | ศาสตร์ตรา จันทร์ผ่องศรี |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ผักตบชวา” หรือ “ผักตบยาวา” เคยเป็นประเด็นทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาแล้ว และผักตบชวาสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร ?
ผักตบชวา มีในไทยเมื่อใด ?
จากหนังสือตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย ของพระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ) อธิบายไว้ว่า
“ผักตบชะวา (Eichornia crassipes ไอคอร์เนีย แคร็สสิปีส) ผักตบชะวามีบ้านเดิมอยู่ในประเทศบราซิล (อเมริกาใต้) เป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทั้งโดยทางหน่อและโดยทางเมล็ด ในเวลานี้มีอยู่ทั่วไปในภาคร้อนแห่งทวีปอาเซีย ผักตบชะวาเข้ามาเมืองไทยที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 คือ คราวรัชชกาลที่ 5 เสด็จประพาศชะวา”
ภายหลังนำเข้ามา ผักตบชวาได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนั้น กล่าวคือการขยายพันธุ์และเจริญเติบโต แพร่ไปอย่างรวดเร็วจนเต็มแม่น้ำลำคลอง เกิดเป็นความรังเกียจผักตบชวาในฐานะ “สวะ” นอกจากนี้ถึงขั้นต้องออก “พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456” เพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว
พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 มีใจความสำคัญ คือ “เมื่อประกาศพระราชบัญญัติฉบับนี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือเป็นน่าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวา ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในท้องที่ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบงอกเงย หรือเอาผักตบชวาทิ้งแม่น้ำลำคลองห้วยหนองใดๆ ก็ดี ล้วนมีความผิดตามโทษที่ระบุไว้”
พระราชบัญญัติฉบับนี้เอง เป็นที่มาของภาพสะท้อนสิทธิมนุษยชนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านคำร้องทุกข์ของนายใยและนายดิด
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2460 นายใยส่งคำร้องทุกข์เรื่อง “เจ้าหน้าที่ในจังหวัด เกณฑ์ราษฎรเก็บผักตบชวาโดยทางขอแรงมา ไม่เกณฑ์จ้างอย่างมณฑลอื่น และผิดต่อพระราชบัญญัติเก็บผักตบชวา” เพราะใครที่ไม่ยอมไปเก็บผักตบชวาตามเรียก ก็จะถูกปรับเงิน หากขัดขืนไม่ยอมจ่ายแต่โดยดีต้องถูกขังคุก 2 – 3 คืน
คำร้องทุกข์มองว่า “พวกตนได้รับการปฏิบัติ อย่างไม่เสมอหน้าอย่างมณฆลนครสวรรค์” เพราะก่อนจะปรับ กรมการอำเภอจะอ่านพระราชบัญญัติเก็บผักตบชวาให้ฟังก่อน แต่ตอนเกณฑ์มาไม่เห็นได้ฟัง ได้ฟังแต่ตอนปรับ และสาเหตุที่ตนไม่ได้ไปตามคำสั่งเพราะเป็นโรคริดสีดวง ทำงานหนักไม่ไหว และอายุมากแล้ว
หรือในกรณีนายดิด
เกิดขึ้นเมื่อ 30 กันยายน พุทธศักราช 2461 หลวงประชากรบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองอินทร์ ได้มีหมายเกณฑ์ให้ราษฎรในอำเภอไปเก็บผักตบชวาที่ลำลางบางตลาด นายดิดได้ชี้แจงกับกำนันว่า “ที่รายนี้หาได้เป็นที่นาของข้าพเจ้าไม่ เพราะเป็นที่ผูกขาดนาย เหลียงนายอากร จะให้ข้าพเจ้ากับพวกเก็บอย่างไร” ต่อมานายดิดถูกเรียกตัวไปอำเภอเพื่อซักถามในเรื่องดังกล่าว นายดิดจึงชี้แจงตามความจริงว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ขัดขืน เพราะที่รายนี้ไม่ใช่ที่ของข้าพเจ้าเป็นที่ผูกขาดของนายอากร” แต่ในท้ายที่สุดนายดิดถูกปรับเป็นเงิน 4 บาท
หลังเกณฑ์แรงงานครั้งแรกเพื่อเก็บผักตกชวาได้ไม่นาน ผักตบชวาก็กลับมาเต็มคลองอีก การเกณฑ์ราษฎรจึงเกิดขึ้น โดยมีการจัดแบ่งหน้าที่คือ ให้เจ้าของที่ดินตอนลำบางตลาดคอยเก็บผักตบชวาตามตลิ่งตรงที่ดินของตน ส่วนกลางของหนองน้ำนั้นให้ นายเหลียงนายอากรเก็บ คนอื่นๆทำตามคำสั่งดังกล่าว ยกเว้นนายดิดคนเดียว จึงทำให้ถูกปรับเป็นครั้งที่ 2 ด้วยเงิน 4 บาท ทั้งที่ไม่ยอมสืบสวนและฟังคำชี้แจงใดๆ ของนายดิด
นานดิดได้ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยที่เป็นของนายเหลียง ทางอำเภอไม่ยอมให้นายเหลียงเก็บผักตบชวาในที่ดังกล่าวเอง เพราะนายดิดเชื่อว่าหลวงประชากรบริรักษ์กับนายเหลืองนายอากร มีความสัมพันธ์พิเศษกัน
นอกจากนี้ “การที่หลวงประชากรฯ เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาลูกบ้านไม่เป็นยุติธรรมเช่นนี้ ข้าพจ้าได้รับความกดขี่เสมอๆ เป็นการเดือดร้อนของข้าพเจ้าเสมอเช่นนี้…เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอความกรุณาพระเดชพระคุณ ได้จัดการไต่สวนในเรื่องนี้ เพื่อข้าพเจ้าเป็นสัตว์ผู้ยาก จะได้รับความร่มเย็นเหนือได้รับความยุติธรรมต่อไป”
จากกรณีทั้งสอง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ได้ชี้ให้เห็นถึงว่า “ด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนในประวัติศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าราษฎรมีหลักคิดบางอย่างของพวกเขาในการดื้อต่อกฎ คำสั่งของผู้ปกครอง
หลักคิดประการแรกคือความยุติธรรมในสังคม ที่ราษฎรพึ่งได้รับจากการปฏิบัติในการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ความยุติธรรมอย่างที่นายคิดเรียกร้องนั้น คือต้องรับฟังข้อเท็จจริงในที่ดินริมคลองนั้นว่าเป็นของใคร นั่นคือความยุติธรรมในสังคมต้องเป็นเหตุเป็นผล ที่รับรู้และเข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายราษฎรกับฝ่ายรัฐ ไม่ใช่อํานาจและเหตุผลมีอยู่แต่กับฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว
ประการที่สองคือความเสมอหน้า การที่ราษฎรอ้างถึง “ความเสมอหน้า” ในการปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติเก็บผักตบชวาให้เหมือนกัน แท้จริงก็คือหลักการที่ว่า ทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย อันเป็นหลักการของระบบกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งในสมัยโน้นพึ่งจะเข้ามาพร้อมกับการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 แต่จากหนังสือร้องทุกข์ แสดงว่าราษฎรนั้นเข้าใจและต้องการความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนต่อหน้ากฎหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติจะพบว่า อันนี้เป็นจุดอ่อนในระบบการปกครองสยามมาแต่โบราณกาลกระทั่งปัจจุบันกาลที่รัฐบาลแทบทุกสมัยไม่ประสบความสําเร็จนักในการทําให้ราษฎรสามัญชนกับชนชั้นสูงเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายได้”
คำร้องทุกข์ของนายดิดและนายใย จากที่เหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไร แต่กลายเป็นว่าเรื่องราวดังกล่าวเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ทั้งสองเรียกร้องกำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม ที่ผู้คนกำลังร่ำร้องและโหยหา
100 ปีผ่าน ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนต่อหน้ากฎหมาย และความยุติธรรมในสังคม เป็นเช่นไร ?
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สืบปมข้อกล่าวหา…ใครนำ “ผักตบชวา” เข้ามาสู่เมืองไทย?
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ผักตบชวา” วัชพืชนำเข้าที่สร้างปัญหาตั้งแต่ 100 ปีก่อน
อ้างอิง
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2549.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 1 ธันวาคม 2562