จุลศักราช-รัตนโกสินทร์ศก มีที่มาอย่างไร และยกเลิกไปเมื่อไหร่

สกฎหมายตราสามดวง ฉบับหลวง เขียน จุลศักราช 2348 ตอนนั้น ยัง ไม่มี รัตนโกสินทร์ศก
กฎหมายตราสามดวง สันนิษฐานว่าฉบับจริงเขียนขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1167 (พ.ศ. 2348)

ใครที่ชอบติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย ต้องเคยได้ยินคำว่า จุลศักราช และ รัตนโกสินทร์ศก กันบ้าง “ศักราช” ทั้งสองนี้ มีที่มาอย่างไร และยกเลิกไปเมื่อไหร่

จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นศักราชที่ใช้มากในเอกสารประวัติศาสตร์ไทย ตำนานล้านนาเล่าว่า ศักราชนี้ตั้งขึ้นในพม่าเมื่อ พ.ศ. 1181 หากต้องการเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช ให้เอา 1181 บวกเข้ากับจุลศักราช

จุลศักราชนิยมใช้ในการคำนวณทางโหราศาสตร์และใช้คู่กับปีนักษัตร แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิก และเปลี่ยนไปใช้รัตนโกสินทร์ศก

รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ. – บ้างสะกด รัตนโกสินทรศก) เริ่มใช้ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 โดยให้นับ พ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง เป็นปีรัตนโกสินทร์ศก 1 และให้เริ่มปฏิทินสุริยคติเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 พร้อมกันไปด้วย หากต้องการเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช ให้เอา 2324 บวกเข้ากับรัตนโกสินทร์ศก

อย่างไรก็ตาม มีการใช้รัตนโกสินทร์ศกอยู่เพียง 20 กว่าปีเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ออกประกาศเปลี่ยนวิธีใช้ศักราชใหม่ ความตอนหนึ่งว่า

“อนึ่งทรงพระราชดำริห์เหนว่า ปีรัตนโกสินทรศกที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนการสดวกดีสำหรับใช้ในการประจุบันแลอนาคตได้แล้ว แต่การในอดีตภาคนั้น ถ้าจะบังคับให้ใช้ก็จะกระทำให้เข้าใจยากอยู่ที่จะต้องนับปีทวนถอยหลังเปนปฏิโลมเรียกว่าก่อนรัตนโกสินทรศก

“แลทรงพระราชดำริห์เหนว่าพระพุทธศักราชนั้น ได้เคยใช้ในราชการสำคัญๆ มามิได้ขาด ดังเช่นมีในประกาศเปนบาญพแนกราชการสำคัญ เปนแต่ยังหาได้บังคับให้ใช้ในราชการทั่วไปไม่

“ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราช แทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเปนการสดวกแก่การอดีตในพงษาวดารของกรุงสยามมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมี “มหาศักราช” (ม.ศ.) ที่ไทยรับมาจากอินเดีย ซึ่งอินเดียเรียกศักราชนี้ว่า “ศกาพทะ” แปลว่า ปีของชาวศกะ

ศักราชนี้แพร่หลายมากในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทย ที่มหาศักราชปรากฏในกฎหมายหลายฉบับในสมัยกรุงศรีอยุธยา หากต้องการเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช ให้เอา 621 บวกเข้ากับมหาศักราช

ส่วน “พุทธศักราช” (พ.ศ.) ที่ไทยใช้อย่างแพร่หลาย ปรากฏการใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตามระบบของไทย เขมร และลาว เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว 1 ปี ถึงจะนับเป็นพุทธศักราช 1 หากต้องการแปลงคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราช ให้บวกด้วย 543

พุทธศักราชยังมีใช้ใน พม่า ลังกา อินเดีย และประเทศแถบตะวันตก แต่ประเทศเหล่านี้มีวิธีการนับที่ต่างออกไป คือ เริ่มนับเป็นพุทธศักราช 1 ทันทีในวันหลังจากพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน คือนับแบบปีย่าง ดังนั้นหากต้องการแปลงคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราชในประเทศเหล่านี้ ให้บวกด้วย 544

ทุกวันนี้ เราจึงไม่เห็นการใช้ จุลศักราช และ รัตนโกสินทร์ศก ตามเหตุผลที่ยกมาข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิสุทธ์ บุษยกุล. “ปฏิทินและศักราชที่ใช้ในประเทศไทย”. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2547.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “จุลศักราช”.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. “ประกาศเปลี่ยนรัตนโกสินทรศกใช้พุทธศักราช”.

เฟซบุ๊ก สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ Institute Of Thai Studies, Chulalongkorn university. “ประวัติการใช้ศักราชในเมืองไทย”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567