“ศักราช” คืออะไร? ทําไมเรียก “ศักราช”?

นับ ศักราช

ทําไมจึงเรียกจํานวนปีที่ล่วงไปว่า ศักราช ?

ตามรูปศัพท์ ศักราช หมายถึง ราชาแห่งศกะ (คือ ศากยวงศ์แห่งพระพุทธองค์) เพราะการบอกปีในสังคมอินเดียแต่ก่อน นิยมนับตามพระชนมายุของกษัตริย์ว่า เรื่องนั้น บุคคลนั้น ถือกำเนิดขึ้น เมื่อพระราชาอายุเท่านั้น ดังเช่นว่า พระพุทธองค์ประสูติเมื่ออัญชนศักราช 28 ซึ่งหมายความว่า เมื่อพระเจ้าอัญชนะ (พระเจ้าตาของพระพุทธองค์) พระชนมายุ 68 ชันษา พระสิทธัตถกุมารก็ประสูติ ดังนี้เป็นต้น

เอกสารเก่าของอินเดียจึงระบุถึงศักราชต่างๆ ตามพระนามมหาราชที่มีอำนาจมาก เช่น ศักราชวิกรรมาทิตย์ หรือ วิกรรมาทิตย์สัมวัติ (สมวัติ = ปี) เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดอยู่มากในคำอธิบายกันเรื่องพงศาวดารโยนก

ต่อมา คำศักราชจึงเลื่อนความหมายมาเป็นจำนวนปีที่กำหนดนับอย่างใดๆ ก็ได้ที่นิยมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นราชาแห่งศกะ ดังเช่น เราใช้ว่า คริสต์ศักราช นั้น เป็นต้น

การจะนิยมใช้ศักราชชนิดไหนเป็นเรื่องของประเพณี บางศักราชที่มุ่งนับจำนวนปีที่ล่วงไปอย่างเดียว ดังเช่น พุทธศักราช ที่ไทยเราใช้อยู่ทุกวันนี้ บางศักราชที่มุ่งใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การคำนวณวิถีโคจรทางดาราศาสตร์ หรือใช้พยากรณ์ในทางโหราศาสตร์ ดังเช่น จุลศักราช นั้น เป็นต้น ดังจะได้ขยายเรื่องราวบอกกล่าวกันตามควร ดังต่อไปนี้

ศักราชที่มุ่งแสดงนับเวลาที่ล่วงไปอย่างเดียว ย่อมถือเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นจุดเริ่ม ดังเช่น พุทธศักราช ที่เริ่มนับจากวันปรินิพพานของพระพุทธองค์ นั่นคือ หมายเอาวันเพ็ญเดือนวิสาขะเป็นจุดเริ่ม หรือจุดสิ้นสุดปี (ต่างจากปัจจุบันที่เปลี่ยนปีในวันที่ 1 มกราคม)

จุดวันเพ็ญเดือนวิสาขะนี้ คือจุดที่พระจันทร์เพ็ญโคจรอยู่ ณ ตำแหน่งดาวฤกษ์วิสาขะ หรือเรียกอย่างไทยว่า ดาวหนองลาด หรือ ดาวแขนนาง เป็นนักษัตรในราศีพิจิก นั่นคือ ดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ราศีพฤษภ หรือเรียกตามระบบสุริยคติว่า เดือนพฤษภาคม

การตรวจสอบพุทธศักราชที่มีการบันทึกไว้ในสมัยก่อน จึงต้องคำนึงถึงเรื่องจุดเปลี่ยนปีที่ต่างจากปัจจุบัน อันอาจทำให้ส่วนเหลื่อมปีมีความสับสน คือ เกณฑ์เทียบกับศักราชอื่นๆ ผิดพลาดไปได้หนึ่งถึงสองปี ดังที่ท่านก่อนๆ บันทึกหรือตั้งเป็นข้อสงสัยไว้

นอกจากนั้น บางประเทศ เช่น ลังกา พม่า นับเอาปีย่างเข้าเป็นตัวเลขพุทธศักราช ส่วนทางไทยถือเอาปีล่วงแล้วเป็นตัวระบุ ก็ทำให้ศักราชคลาดกันได้หนึ่งปีเช่นเดียวกัน การเทียบระหว่างวัฒนธรรมจึงต้องคำนึงถึงคติดังกล่าวมา

หรือรัตนโกสินทรศก ถือเอาวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นจุดเริ่มต้น จึงมีเกณฑ์เทียบกับพุทธศักราช 2324 เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานขึ้นใช้ในปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) โดยให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเริ่มศักราช ได้ใช้ในเอกสารทางราชการจนถึงปี ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ก็เป็นอันยกเลิก

ส่วนศักราชที่มุ่งใช้ในการคำนวณวิถีโคจรของดาวพระเคราะห์ หรือประโยชน์ทางดาราศาสตร์ นักปราชญ์แต่ก่อนท่านกำหนดวันมหาสงกรานต์เป็นจุดเริ่ม และแบ่งปี จุดดังกล่าวนี้คือ จุดตัดระหว่างเส้นโคจรดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า สุริยวิถี กับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า โดยถือเอาวันที่กลางคืนกับกลางวันมีระยะเวลาเท่ากัน เรียกว่า จุดราตรีเสมอภาค หรือ วิษุวัต (Equinox)

และเพราะแกนของโลกเอียงและหมุนรอบตัวเอง จุดดังกล่าวนี้จะเคลื่อนจากจุดเดิมอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 50 วิลิปดา (ในวิชาดาราศาสตร์ว่า แต่เดิมหรือประมาณ 13,000 ปีมาแล้ว ขั้วโลกเหนืออยู่ที่ดาว Vega ทุกวันนี้เลื่อนมาอยู่ตรงกับดาวเหนือ ในกลุ่มดาวหมีเล็ก และในอนาคตจะเคลื่อนไปที่ดาว Vega อีก มีรอบอยู่ประมาณ 26,000 ปี)

ศักราชที่อาศัยการคำนวณหาวันมหาสงกรานต์นี้ ที่รู้จักและใช้กันอยู่ในเอกสารไทยโบราณคือ กลียุคศักราช มหราศักราช และจุลศักราช  ซึ่งจะได้กล่าวถึงพอสังเขปดังต่อไปนี้

กลียุคศักราช

ตั้งขึ้นจากการคำนวณหาจุดเริ่มต้นกลียุค อันเป็นยุคของโลกปัจจุบัน (ตามความเชื่อว่าโลกมีสี่ยุค คือ กฤตยุค ไตรดายุค ทวาบรยุค และกลียุค) ในพงศาวดารโยนก เริ่มต้นก่อนพุทธศก 2,559 ปี (ในหนังสือเถลิงศก 5,284 ปี นายทองเจือ อ่างแก้ว เทียบ ก.ศ. 0 ว่าตรงกับก่อนพุทธศก 2,558 ปี) เป็นระยะวันมหาสงกรานต์อยู่ที่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ (ทุกวันนี้เลื่อนมาอยู่ตรงกับประมาณวันที่ 15 เมษายน ตามตำราว่า วันมหาสงกรานต์จะเคลื่อนออกไปประมาณ 116 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางโหราศาสตร์ภาคคำนวณ)

มหาศักราช

ศักราชนี้ พระเจ้าสลิวาหนะ ซึ่งเป็นศากยวงศ์องค์หนึ่งทรงปราบได้ทั่วอินเดียใต้ จึงได้ตั้งขึ้นใช้เป็นศักราชใหม่ โดยเริ่มจากวันมหาสงกรานต์แห่งกลียุคศักราช 3180 ตรงกับปีเถาะ มีเกณฑ์เทียบพุทธศักราช 621 ปี เรียกกันแต่เดิมว่า สักสลิวาหนสัมวัติบ้าง สักกะสัมวัติบ้าง

เมื่อแพร่หลายมาใช้ในสยามประเทศก็เรียกว่า สักกราชหรือศักราช (อันน่าจะเป็นนัยให้ความหมายเลื่อนเรียกการนับเวลาที่ล่วงเป็นปี และเมื่อจุลศักราชแพร่หลายแทนที่ ชื่อที่เรียกน่าจะได้เปลี่ยนเป็นมหาศักราช ให้คู่กันดังเช่นทุกวันนี้

จุลศักราช

มีเรื่องราวว่า เมื่อสังฆราชบุพโสรหันสึกจากเพศบรรพชิตชิงราชสมบัติตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งพุกามประเทศ จึงได้ตั้งศักราชใหม่ โดยเริ่มจากวันมหาสงกรานต์ ปีกุน เมื่อกลียุคศักราชล่วงไปแล้วได้ 3,739 ปี (จ.ศ. 1 เทียบ ก.ศ. 3750) มีเกณฑ์เทียบพุทธศักราช 1,181 ปี มีเหตุผลประกอบเพิ่มเติมว่า เพื่อความสะดวกในการคิดคำนวณวิถีโคจรของดาวพระเคราะห์

เพราะการคิดตามกลียุคสักราชที่ใช้อยู่ขณะนั้น เมื่อแตกศักราชเป็นหรคุณเพื่อหาวันเถลิงศก จะได้ตัวเลขมากหลักจนฟั่นเฝือ (เช่น เพียงหลักว่าตั้ง 292207 ลงคูณด้วยศักราชเท่านั้นเถลิงศกเมื่อลองทำดู 292207 X 3740 ก็ได้ผลลัพธ์ที่ทำให้ตาลาย และโอกาสพลาดมีมาก การตั้งศักราชน้อยโดยให้นับหนึ่งใหม่ จึงลดตัวเลขลงได้มาก) ด้วยเหตุนี้จุลศักราชจึงได้รับความนิยมกันมาก ในบรรดาประเทศทั้งปวงในดินแดนอุษาคเนย์

ศักราชที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ในการใช้จริงๆ ก็มีการปะปนและอ้างอิงอาศัยกัน ดังเช่นการใช้พุทธศักราช ซึ่งไทยเรารับมาทางพุทธศาสนาแต่ก่อนๆ มานิยมใช้บอกเวลาในการเทศนาธรรม บอกว่าการเทศน์ครั้งนั้นได้กระทำในวันนับจากพุทธปรินิพพานได้เท่านั้นๆ ปีเท่านั้นๆ เดือน เท่านั้นๆ วัน

แต่ในการกำหนดวันธรรมสวนะ การกำหนดวันเข้าออกพรรษา ก็ต้องอาศัยจุลศักราชในการคำนวณหาดิถีที่เป็นวันดับ วันเพ็ญ วันแปดค่ำ การวางอธิกวาร อธิกมาส

ที่เป็นดังนี้เพราะตัวเลขบอกพุทธศักราชไม่ได้เริ่มต้นในวันมหาสงกรานต์ จึงใช้คำนวณหาวิถีโคจรของดาวพระเคราะห์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 21 ฉบับที่ 3) เดือนมกราคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2562