ผู้เขียน | พล อิฏฐารมณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บันทึกรัก “หม่อมเป็ดสวรรค์” สัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันในราชสำนัก หญิงรักหญิง หรือการ “เล่นเพื่อน”
พฤติกรรม “รักเพศเดียวกัน” เป็นสิ่งที่พบได้ทั้งคนและสัตว์ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่นักวิทยาศาสตร์เขาว่า ส่วนหนึ่งมันคือสิ่งที่ส่งต่อทางพันธุกรรมซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ
และในบางสถานการณ์ การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันก็ใช่ว่าเขารักที่จะมีสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเสมอไป ด้วยความต้องการทางเพศเป็นแรงขับตามธรรมชาติที่ถึงเวลาก็จำเป็นต้องปลดปล่อย
ส่วนใครจะปลดปล่อยอย่างไรก็ต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมขณะนั้น บางคนอาจจะพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก บางคนอาจจะมองหาอุปกรณ์เสริม
และในสถานการณ์ที่สังคมบีบคั้นเช่นการต้องอยู่ในที่ที่มีแต่คนเพศเดียวกัน ใครบางคนก็อาจจะหา “เพื่อน” เพศเดียวกันมาช่วยปลดปล่อยแรงขับอันอัดอั้นก็เป็นได้
อย่างสาวชาววังยุคก่อนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีแต่ผู้หญิงและด้วยจารีตประเพณีที่กีดกันไม่ให้พวกเธอได้มีโอกาสได้รู้จักกับชายหนุ่มอื่นใด (อันเป็นพฤติกรรมพึงมีตามธรรมชาติ) การคบหากันเองของหญิงสาวหลายๆ คู่ เพื่อปลดปล่อยแรงขับทางเพศจึงเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ (ซึ่งบางคู่ก็อาจเกิดด้วยรสนิยมส่วนตัวอยู่แล้ว)
เรื่องนี้มีเค้ามูลปรากฏอยู่ในกลอนเพลงยาวเรื่อง “หม่อมเป็ดสวรรค์” ที่แต่งโดย คุณสุวรรณ ราชนิกูลบางช้าง นักกลอนผู้แต่ง “พระมเหลเถไถ” ที่หลายคนคงรู้จัก เพื่อล้อเลียนความสัมพันธ์ของหม่อมสุด กับหม่อมขำ สองหม่อมห้ามของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพที่มีสัมพันธ์ลึกซึ้งเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อ กรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตไปแล้ว ดังความที่ คุณสุวรรณกล่าวถึงหม่อมสุดว่า
คิดถึงพระเดชพระคุณให้มุ่นหมก
แสนเศร้าเปล่าอกตกเป็นหม้าย
ได้เห็นแต่หน้าหม่อมขำคอยช้ำใจ
รักใคร่แนบข้างไม่ห่างทรวง
เหตุที่ หม่อมขำ ถูกเรียกว่า “หม่อมเป็ด” นั้น เป็นเพราะกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงตั้งฉายาให้จากท่าเดินของ หม่อมขำ หลังทั้งสองหม่อมเข้ามารับราชการประจำตำหนักของพระองค์ ดังที่ คุณสุวรรณ กล่าวว่า
ข้างหม่อมเป็ดเสด็จท่านโปรดปราน
ได้ประทานเปลี่ยนนามตายศถา
เพราะเดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา
จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน
เรื่องการ “เล่นเพื่อน” หรือพฤติกรรมหญิงรักหญิงของทั้งสองหม่อมนี้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยของกรมศิลปากรผู้ล่วงลับท่านกล่าวว่า เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่ในราชสำนัก โดย หม่อมขำ เจ้าของชายา หม่อมเป็ด นั้นจะออกกริยาแบบผู้หญิง ส่วน หม่อมสุด นั่นออกจะก๋ากั่นเหมือนผู้ชาย อย่างที่ คุณสุวรรณ บรรยายลักษณะของ หม่อมสุด หรือ “คุณโม่ง” เอาไว้ว่า
ชื่อคุณโม่งโด่งดังฝีปากดี
จะพาทีกาลางสนามไม่ขามใคร
พูดเล่นเฮฮาร่าเริงแรง
ถึงนายแฟงนายคงครูไม่สู้ได้
ส่วนบทรักของทั้งคู่ คุณสุวรรณ อ้างว่าครั้งหนึ่งได้ทำกันต่อหน้าผู้เป็นนายเพราะ หม่อมสุด สำคัญไปว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บรรทมหลับไปแล้ว จึงดับเทียนเอาผ้าคลุมโปงแล้วกอดจูบหม่อมขำที่นอนอยู่ปลายพระบาท ดังที่คุณสุวรรณบรรยายเอาไว้ว่า
ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ
หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง
ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท
ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ
ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท
อุตลุตอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง
จึ่งตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา
และนั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ประทานฉายาให้กับ หม่อมสุด ว่า “คุณโม่ง” นั่นเอง
เรื่องความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงของสองหม่อมตามสำนวนของ คุณสุวรรณ ออกจะเป็นทำนองขบขันเสียมาก แต่ก็มิได้มีท่าทีต่อต้านความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าว เช่นเดียวกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพที่ทรงเมตตาหม่อมทั้งสองไม่ถือโทษกับการ “เล่นเพื่อน” ของทั้งคู่ แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎมณเฑียรบาล มาตรา 124 วรรคสอง ที่ระบุว่า
“อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุจชายเปนชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักฅอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ”
ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์แบบ หญิงรักหญิง ในยุคนั้นแม้จะไม่ถูกครรลองของราชสำนัก แต่ก็ได้รับการผ่อนปรนอยู่มาก มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรง อย่างที่กฎมณเฑียรบาลบัญญัติโทษไว้เสียหนักหน่วง
อ่านเพิ่มเติม :
- “เล่นเพื่อน” หรือ “เลสเบี้ยน” ว่าด้วยเรื่องเล่าสาวชาววัง
- “อย่าเล่นเพื่อนกับใคร มีผัวมีเถิด” ดูวิธีมีคู่ครองของชาววัง ผ่าน “พ่อสื่อแม่สื่อ-การดูตัว”
- กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เทพธิดาแห่งราชสํานัก ทำไมกล้าอุปการะสุนทรภู่ แม้รัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดสุนทภู่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“หม่อมห้าม ‘เลสเบี้ยน’, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2522)
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 20 กันยายน 2562