“มหาศักราช-จุลศักราช” ไม่ได้มาจากพม่า เหมือนที่ตำนานล้านนากล่าวอ้าง

จารึกนครชุม จารึก
จารึกนครชุม จารึกเมื่อมหาศักราช 1279 ปีระกา (พ.ศ. 1900)

“ศักราช” ทั้ง มหาศักราช และ จุลศักราช ไม่ได้มาจากพม่า เหมือนที่ “ตำนานล้านนา” กล่าวอ้าง

…แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะใช้ พุทธศักราช อย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ในอดีต ดังที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น พุทธศักราช จะไม่ถูกนำมาใช้โดยตรงเหมือนเช่นสมัยนี้ จะใช้ก็เพียงเป็นส่วนประกอบในการบอกศักราชประเภทอื่นในบางครั้งบางคราวเท่านั้น ที่บันทึกว่า ศักราชที่บันทึกไว้นั้นตรงกับเวลาที่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วกี่ปี

ศักราชอื่นที่ใช้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้นคือ มหาศักราช กับ จุลศักราช

มหาศักราช มีใช้อยู่ในศิลาจารึกรุ่นเก่าร่วมสมัยกับอาณาจักรขอมกัมพูชา ศิลาจารึกของสุโขทัยบางหลักกับเอกสารที่เป็นกฎหมาย

จุลศักราช เป็นศักราชที่ใช้อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึกของอยุธยา ล้านนา หรือสุโขทัย ตำนานพงศาวดารของล้านนา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ฯลฯ

ศักราชทั้งสองนี้แม้จะมีเรื่องเล่าในลักษณะนิทานปรัมปราของล้านนา เช่น ตำนานสิงหนวัติเล่าว่า พระเจ้าตรีจักขุพุกาม เป็นผู้ตั้งมหาศักราชเมื่อ พ.ศ. 622 (หรือ 621) หรือพระเจ้าอนิรุธกรุงพุกามตั้งจุลศักราชขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1182 (หรือ 1181) ก็ตาม

แต่โดยข้อเท็จจริงนั้น ศักราชทั้งสองมีพัฒนาการมาจากศักราชโบราณของพราหมณ์ในอินเดีย คือ ศักราชกาลียุค หรือ นวติงสันติ ที่มีอายุเก่ากว่าพุทธศักราชสองพันกว่าปี ซึ่งศักราชเหล่านี้เป็นศักราชทางโหราศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับการโคจรของดวงดาวต่างๆ ในจักรวาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อัญชนะศักราช ศักราชที่ไม่มีคนใช้” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2538


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2560