ทิศสําคัญของ เมืองเชียงใหม่ และสุโขทัย

ผังเมือง เมืองเชียงใหม่ และ เมืองสุโขทัย
ภาพแสดง แผนที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ และเมืองสุโขทัย

ลักษณะและที่ตั้งของตัวเมืองเชียงใหม่กับเมืองสุโขทัยมีความเหมือนกันหลายประการ นับตั้งแต่การมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสในภาพรวมเหมือนกัน การเลือกทำเลที่ตั้งบนสภาพภูมิประเทศที่มีความเอียงลาดเหมือนกัน กล่าวคือ ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองจะเป็นภูเขา จากเชิงเขาพื้นที่จะลาดลงไปทางทิศตะวันออกจนถึงลำน้ำใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองคือแม่น้ำปิงของ เมืองเชียงใหม่ และแม่น้ำยมของ เมืองสุโขทัย

ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งเช่นนี้ ทำให้มีลำน้ำขนาดเล็กที่นำน้ำจากที่สูงมาหล่อเลี้ยงตัวเมืองก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำใหญ่ ดังนั้น รอบๆ ตัวเมืองทั้งสองจึงมีร่องรอยการขุดลำเหมืองทำฝายทดน้ำอยู่ทั่วไป

ลักษณะที่เหมือนกันอย่างมากของเมืองทั้งสองนี้ ทำให้เกิดเป็นเรื่องบอกเล่าในลักษณะเรื่องปรัมปราเพื่ออธิบายความเหมือนกัน เช่นนี้ว่า เมื่อพระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ได้ขอให้พระร่วงจากเมืองสุโขทัย กับพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยาผู้เป็นสหาย ได้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการสร้างเมืองเมื่อครั้งนั้น

นอกจากการสร้างเมืองทั้งสองให้เหมือนกันแล้ว ในการสร้างศาสนสถานนอกเมืองของแต่ละเมืองแห่งหนึ่งยังสร้างขึ้นด้วยแนวคิดอย่างเดียวกันด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

ที่เมืองเชียงใหม่ ตรงกับมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ไกลออกไปจากมุมเมืองประมาณ 1,500 เมตร เป็นที่ตั้งของ วัดเจ็ดยอด หรือมีชื่อเดิมแต่โบราณว่า วัดมหาโพธาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. 1999 สถานที่สำคัญภายในวัด คือ อาคารมียอด 7 ยอดนั้น เป็นลักษณะที่เลียนแบบมาจากพุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในประเทศอินเดีย

ดังนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น “ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่” (ชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวเป็นภาษาบาลีว่า นพฺพิสิราชธานิยา อุตฺตรปจฺฉิมทิสนฺตราเฬ) จึงได้นำพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากวัดป่าแดง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์จากลังกาอีกที่หนึ่งมาปลูกที่วัดนี้ และให้ชื่อว่า วัดมหาโพธาราม

ที่เมืองสุโขทัย ตรงมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างจากมุมเมืองออกไปประมาณ 500 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดศรีชุมซึ่งมีอาคารไว้พระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่อยู่ภายในเป็นประธานของวัด ส่วนบนของอาคารพังหมดแล้วจนไม่อาจทราบลักษณะเดิมได้ รวมทั้งที่วัดนี้ก็ไม่มีการบันทึกประวัติไว้ด้วย แต่จากการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม และลวดลายภาพเขียนลายเส้นบนแผ่นหินชนวนที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าว แสดงว่าสร้างขึ้นก่อนวัดมหาโพธารามประมาณ 100 ปี

ชื่อวัดศรีชุมอีกเช่นกันเป็นชื่อเดิมของวัดนี้ อย่างน้อยอาจจะกล่าวได้ว่าเรียกกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อครั้งมีการบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เพราะสมัยนั้นชื่อวัดศรีชุมได้มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เรียกเพี้ยนไปเป็นวัดฤาษีชุม ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในตอนที่กล่าวว่า เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรประชุมพล ก่อนที่จะยกทัพไปปราบปรามเมืองสวรรคโลก ที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ

ความหมายของชื่อวัดศรีชุมนั้นหมายถึงต้นโพธิ์ที่มารวมกันอยู่ เพราะคำว่า “ศรี” หมายถึงต้นโพธิ์ตามภาษาไทยโบราณที่ปัจจุบัน ยังใช้อยู่ในบางท้องที่ในภาคเหนือ ดังนั้น วัดศรีชุมจึงน่าจะมีความหมายเช่นเดียวกันกับวัดมหาโพธารามของเชียงใหม่ คือเป็นสัญลักษณ์ของการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจที่จะคิดต่อไปได้อีกว่า ส่วนบนที่ชำรุดหายไปของอาคารสำคัญวัดศรีชุมนั้น ควรเป็นที่ตั้งของสถูปทรงเหลี่ยมจำนวน 5 องค์ เหมือนที่พุทธคยา หรืออย่างน้อยก็ควรมีความคิดที่จะสร้างให้เป็นอย่างนั้น แต่สร้างไม่สำเร็จจึงเหลือเพียงส่วนล่างของตัวอาคารอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ว่าวัดทั้งสองที่เชียงใหม่และที่สุโขทัยจะมีรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันว่าไม่เหมือนกันเลย แต่ที่กล่าวมาก็ได้แสดงให้เห็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างวัดทั้งสองว่ามีความเหมือนกัน กล่าวคือ การจำลองสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์มาไว้ที่นี่ และการที่วัดทั้งสองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองทั้งสอง แม้ว่าจะมีระยะทางห่างจากมุมเมืองไม่เท่ากันก็ตาม ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า เป็นการเจตนากำหนดทิศทางที่ตั้งวัดอย่างเดียวกัน

ทิศทาง อาจมิใช่เป็นเรื่องลำบากสำหรับคนปัจจุบันที่จะทราบว่า พุทธคยาในประเทศอินเดียตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามภูมิศาสตร์จริงของสยามประเทศ อันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณทั้งสองแห่ง แต่คนสมัยโบราณจะทราบทิศทางจริงๆ ของพุทธคยา แล้วนำมาจำลองไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองอย่างถูกต้องตามภูมิศาสตร์ที่เป็นจริงหรือไม่นั้น จำเป็นที่จะต้องหาหลักฐานมาอ้างอิงด้วย

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2538 สานุศิษย์ของพระคุณเจ้าพระธรรมวิมลโมลี รองเจ้าคณะภาค 6 และเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองสมณศักดิ์พระคุณเจ้าผู้เป็นอาจารย์ ในงานนี้มีหนังสือแจกเล่มหนึ่งคือ “ตำนานเมืองเชียงแสน” ซึ่งพระธรรมวิมลโมลีได้ปริวรรตจากอักษรธรรมล้านนาบนใบลานมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน

เนื้อหาของตำนานเรื่องนี้คือตำนานสิงหนวัติอันเป็นที่รู้จักกัน เพราะฉบับหนึ่งได้รับการชำระและจัดพิมพ์รวมอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การจัดพิมพ์ในชุดประชุมพงศาวดารได้มีการตัดทอนข้อความบางตอนออกไป ตำนานสิงหนวัติอีกฉบับหนึ่งมีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ที่แพร่หลายมากที่สุด แต่พระยาประชากิจฯ ได้รวบรวมโดยการสรุปความ จึงไม่ได้ความเดิมที่แท้จริง

ตำนานสิงหนวัติในชื่อ “ตำนานเมืองเชียงแสน” ของพระธรรมวิมลโมลีตอนหนึ่ง เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว เสด็จออกโปรดสัตว์ตามที่ต่างๆ ทั้งในชมพูทวีปและสถานที่อื่นๆ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จออกโปรดสัตว์มาสู่บริเวณที่ราบเชียงแสนอันเป็นที่ตั้งของเมืองของพระยาสิงหนวัติ โดยกล่าวว่า

“ยามนั้น พระพุทธเจ้าจระเดินโผดปัณณสัตว์ทั้งหลาย ลำดับบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลายก็ไปหนอาคเนย์ ก็ไปเถิงเมืองพันธุสิงหนวัตินครนั้น ก็เพื่อว่าจักได้เมตตาพระยาสิงหนวัติราชตนนั้น…”

อนึ่ง ได้ตรวจสอบข้อความกับ “ตำนานเมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน” ซึ่งเป็นตำนานสิงหนวัติฉบับวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงแสน ก็มีความและคำว่า อาคเนย์ เช่นเดียวกัน

จากข้อความในตำนานสิงหนวัติแสดงว่า ชาวล้านนาผู้แต่งตำนานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 นั้นมีความรู้ว่า หากพระพุทธเจ้า (ขณะทรงประทับอยู่ในดินแดนแห่งพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำคงคา) ทรงมีพุทธประสงค์จะเสด็จออกโปรดสัตว์ในดินแดนสยามนั้น พระองค์จะต้องเสด็จไปทางทิศอาคเนย์คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ทิศตรงกันข้ามคือทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือทิศพายัพ จึงเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากมา

สรุป จากการที่วัดมหาโพธารามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ เมืองเชียงใหม่ กับการที่วัดศรีชุมตั้งอยู่ทางทิศเดียวกันของ เมืองสุโขทัย แสดงว่าทั้งชาวล้านนาและชาวสุโขทัยในสมัยที่ก่อสร้างวัดทั้งสองแห่งนั้น มีความรู้เป็นอย่างดีว่าดินแดนที่พระพุทธองค์ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาในพุทธประวัตินั้น อยู่ทางทิศของภูมิศาสตร์ที่แท้จริงทิศใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างวัดทั้งสองขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น จึงแสดงเจตนาการหาทิศให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ เพื่อจำลองดินแดนอันเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ให้ถูกที่ถูกทาง อันจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ตัวเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2565