ประเพณีอีสาน “แตกบ้าน” ไม่ใช่ “บ้านแตก” พ่อแม่พี่น้องยังปรองดองกันดีอยู่

แฟ้มภาพ-บรรยากาศประเพณีการแตกบ้าน วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของชุมชนบ้านกู่พระโกนา, บ้านสนาม, บ้านดงเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจาก กลุ่มสุวรรณภูมิราชบุรินทร์)

นิยามคำว่า “แตกบ้าน” หมายถึง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาที่อยู่แห่งใหม่ เนื่องจากที่อยู่เดิมนั้นเกิดเหตุเภทภัยสิ่งอวมงคลต่างๆ ขึ้น ผู้คนอยู่ไม่เป็นสุขหรือเกิดโรคระบาดรุนแรงในชุมชน เช่น โรคห่า(อหิวาต์) ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ผู้คนจึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปหาที่อยู่ที่ทำกินแห่งใหม่ ชาวอีสานเรียกว่า แตกบ้าน หรือ ไปบ้านใหม่

แต่ประเพณีแตกบ้านของชาวอีสานนั้นไม่ได้หมายถึงว่าต้องอพยพไปอย่างถาวร ประเพณีแตกบ้านคือการอพยพชั่วคราวตามประเพณีความเชื่อ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ในอดีตจะไม่มีพิธีทางสงฆ์มาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารเพลเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

มูลเหตุมาจากชาวบ้านเชื่อว่า ถ้าปีใดวันขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร หรือ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร ในปีนั้นต้องมีการแตกบ้าน โดยเชื่อว่าวันนั้นคือวันแข็ง วันร้อน, วันอุบาทว์, วันโลกาวินาศ, วันไม่เป็นมงคล และจะทำการสิ่งใดก็ไม่ดีไม่งาม จึงมีการทำพิธีแตกบ้าน ย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพื่อแก้เคล็ดให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

แฟ้มภาพ-บรรยากาศการรับประทานอาหารร่วมกัน ประเพณีแตกบ้าน วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของชุมชนบ้านดงเค็ง ตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจาก วรวุฒิ เฉนียง)

เมื่อถึงวันดังกล่าวมาบรรจบกัน ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำทางพิธีกรรม จะป่าวประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ว่า วันนี้ต้องมีการแตกบ้านตามประเพณี (ผู้สูงอายุที่ไปไหนไม่สะดวกก็ให้เฝ้าบ้าน) ให้พากันเตรียมตัวเตรียมข้าวของเสบียง และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ ปราชญ์ชาวบ้านจะอุปโลกน์สมมุติให้ผู้สูงอายุคนหนึ่งนุ่งผ้าขาวห่มขาวสะพายย่ามถือดาบ มาเรียกคนในหมู่บ้านแล้วพูดว่า “ให้เจ้าไปอยู่ยั้งบึงใหญ่นทีทอง ที่นั่นเป็นสถานซุ่มเย็นเลิงเรื่อย จนว่าแสงสูรย์เศร้ามัวเมาคล้อยค่ำ ยามตูดซ้ายสาแล้วค่อยมา” แปลว่า ให้พากันย้ายไปอยู่ที่ริมหนองน้ำเพราะที่นั่นอุดมสมบูรณ์ ให้อยู่จนกระทั่งเย็นจึงค่อยกลับมา

แฟ้มภาพ-ชาวบ้านกำลังหาบเครื่องใช้ออกจากบ้าน ในประเพณีแตกบ้าน วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของชุมชนบ้านเหล่าป่าแคน ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจาก สถาพร จุปะมะตัง)

จากนั้นผู้สูงอายุก็จะพาลูกหลานเดินทางออกจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออก และหาที่พักใกล้หนองน้ำ กลุ่มผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารที่มีในท้องถิ่น เช่น แย้ กระปอม นก ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็จะเตรียมทำอาหาร ประเภท ส้มตำ ต้มหอย ปิ้งกะปอม ต้มปลา เพื่อรอชาวบ้านมารับประทานร่วมกันเป็นวงใหญ่ ช่วงเวลาพักผ่อนมีการเล่นพนันเพื่อความสนุกสนานด้วย อาทิ ไพ่ ไฮโล ไก่ชน เป็นต้น เป็นภาพบรรยากาศที่ได้เห็นความสมัครสมานสามัคคี เปี่ยมด้วยความฮักแพงแบ่งปัน ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของของชุมชนอีสาน

เมื่อถึงตอนเย็นได้เวลากลับ จะมีปราชญ์ชาวบ้านแต่งชุดพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาวสะพายย่ามและถือดาบ เดินไปเรียกชาวบ้านกลับ (เสมือนหนึ่งมีผู้มีบุญมาเชิญกลับบ้าน) เมื่อพ่อพราหมณ์เดินมาถึง ชาวบ้านก็จะสมมุติถามขึ้นว่า “พ่อเอ้ย แม่นเจ้าลุกแต่ห้องสถานถิ่นแดนใด ใจประสงค์สันน้อจั่งล่วงมาทางนี้ พวกข้าหนีเข็ญเข้าฮอดสะพังเซาฮ่ม แตกบ้านมาอยู่นี้แต่เช้าดอกนา” แปลว่า พ่อเอ้ย ท่านมาจากไหนถึงได้มาทางนี้ พวกข้าพเจ้าแตกบ้านจึงพากันหนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่ที่นี่

พ่อพราหมณ์จะตอบกลับว่า “กูนี้มาแต่บ้านอยู่ซุมกินเย็น บัดนี้เข็ญกายหนีจากไปไกลแล้ว แม่นว่าโภยภัยฮ้ายอันตรายบังเบียด หรือว่าผีโขมดฮ้ายกะไปพร้อมพร่ำกัน ให้สูคืนเมือบ้านที่อยู่ภูมิสถาน ที่นั่นโสภางามศีลธรรมจริงแท้ ให้สูคืนเมือถ้อนฮอดยามแลงมันสิค่ำ พ่อนี้มาบอกเจ้าให้ฟ้าวต่าวเมีย ดอกนา ไปๆลูกหลานเอ้ย เมือบ้านเมือเฮียน โพยพะยาดกายไปแล้ว บาดนี้ให้อยู่ดีมีแฮง” แปลว่า เรามาจากบ้านที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข เหตุเภทภัยอันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ได้หายไปหมดสิ้นแล้ว ให้พวกท่านพากันกลับบ้าน และต่อไปนี้ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยเถิด

จากนั้นชาวบ้านก็พากันเดินทางกลับบ้าน มีการเป่าแคนร้องลำอย่างสนุกสนาน เมื่อมาถึงบ้านคนที่เฝ้าบ้านไม่ได้ไปด้วยก็ให้พูดว่า “พึ่งมาถึงเหมือนกัน” ห้ามบอกว่าอยู่นี่ไม่ได้ไปไหนเด็ดขาด ถือเป็นอันเสร็จพิธีแตกบ้านของชุมชนอีสาน

การแตกบ้านของชุมชนอีสานคือความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่น ที่มีการยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ถึงแม้ในปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีที่เจริญแล้ว ผู้คนก็ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมนี้อยู่ ซึ่งได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่คอยเกื้อกูลกันอย่างไม่เสื่อมคลาย


อ้างอิง

ประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , ม.ป.ป.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

วัชรินทร์ เขจรวงศ์. วันแตกบ้านที่ร้อยเอ็ด. (2553) ออนไลน์. https://www.gotoknow.org/posts/344836, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560

สัมภาษณ์    สมบูรณ์ ทำนา, สถาพร จุปะมะตัง


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ.2560