ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2530 |
---|---|
ผู้เขียน | สมชาย นิลอาธิ วิทยาลัยครูมหาสารคาม |
เผยแพร่ |
จากการสังเกตที่ได้จากการสำรวจศึกษาสถาปัตยกรรมที่ใช้อยู่อาศัยของชาวอีสานทั่วๆ ไป พบว่าสถาปัตยกรรม เรือนพักอาศัยของชาวอีสาน ที่สัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพมี 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. เรือนใหญ่ 2. เหย้าและตูบต่อเล้า 3. เถียงนา
เรือนใหญ่ เป็นเรือนพักอาศัยถาวรที่ประกอบไปด้วยห้อง 3 ห้อง ตามแนวยาวของตัวเรือนคือ ห้องเปิง, ห้องนอนของพ่อ-แม่ และ ห้องส้วม หรือ ห้องส่วม ซึ่งเป็นห้องนอนของลูกสาวและลูกเขย มีส่วนระเบียงที่มีเกยเป็นหลังคาคลุมและมีชานแดด ยื่นลดชั้นออกมาทางด้านหน้าเรือน บางครั้งอาจแบ่งส่วนหนึ่งของชานไว้เป็นที่ทำครัว หรือไม่ก็อาจจะต่อ ห้องครัว ไว้ด้านข้างเรือนข้างใดข้างหนึ่ง
เหย้าและตูบต่อเล้า เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวเมื่อลูกสาวและลูกเขยแยกครัวเรือนมาจากเรือนใหญ่ของพ่อ-แม่ โดยแยกออกมาสร้างตูบต่อเล้าหรือสร้างเหย้าอยู่กันเองเป็นครอบครัวใหม่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับพ่อ-แม่
สำหรับ ตูบต่อเล้า นั้นจะต้องสร้างอยู่ชั่วคราวภายในบริเวณบ้านของพ่อ-แม่ แน่นอนเพราะจะสร้างในลักษณะเพิงหมาแหงน โดยอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวของพ่อ-แม่เป็นหลักยึดด้านหนึ่งเสมอ จึงได้ชื่อว่าตูบต่อเล้า และเล้าข้าวดังกล่าวก็จะอยู่ในบริเวณบ้านของพ่อ-แม่เสมอด้วย
ส่วน เหย้า นั้นเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวที่มีโครงสร้างของตัวเอง จึงอาจจะสร้างอยู่ภายในบริเวณบ้านของพ่อ-แม่ก็ได้ หรืออาจจะออกไปสร้างอยู่ริมนอกหมู่บ้านหรือสร้างในบริเวณที่นาใกล้หมู่บ้านก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่เห็นควรเกี่ยวกับความแออัดของบริเวณบ้านในชุมชนนั้นๆ เป็นสำคัญ
เถียงนา เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวอีกลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเหย้า แต่จะออกไปสร้างในบริเวณที่นา ซึ่งมักจะอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยในฤดูทำนาประมาณ 5-6 เดือนในแต่ละปี ซึ่งชาวอีสานส่วนใหญ่มักจะนิยมสร้างกันมากเสมอ จนดูเรียงรายกันทั่วไปตามทุ่งนา
จากเหตุที่ต้องอพยพครอบครัวออกไปอยู่เถียงนาซึ่งอยู่ไกลจากหมู่บ้านกันทุกปีนี้เอง กลุ่มของเถียงนาหลายแห่งจึงถูกพัฒนาดัดแปลงเพิ่มเติมเพื่ออยู่อาศัยตลอดปี จนกลายเป็นเหย้า แล้วจากนั้นก็มักจะมีเถียงนาอื่นๆ อพยพเข้าไปอยู่ร่วมกลุ่มด้วย จนกลายเป็นชุมชนใหม่เกิดขึ้น
จากลักษณะที่พักอาศัยทั้ง 3 ลักษณะ ดังกล่าวนี้พอจะเห็นได้ว่า แต่ละลักษณะจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นวงจร กล่าวคือ เรือนใหญ่ซึ่งเป็นเรือนพักถาวรจะเป็นที่อยู่อาศัยของ ครอบครัวต้น (STEM FAMILY) ที่ประกอบไปด้วยพ่อ-แม่, ลูก ลูกเขย และหลาน
ส่วนเหย้าและตูบต่อเล้าเป็นครอบครัวใหม่ที่แยกออกจากครอบครัวต้นไปอยู่กันเป็น ครอบครัวเดี่ยว (NUCLEAR FAMILY) ในบริเวณชุมชนเดียวกันกับพ่อ-แม่
สำหรับเถียงนานั้นก็เป็นที่พักที่แยกออกจากครอบครัวต้นในเรือนใหญ่เช่นกัน แต่จะออกไปเริ่มตั้งครอบครัวเดี่ยวนอกหมู่บ้านเดิมจนเกิดเป็นชุมชนใหม่ขึ้น
บรรดาครอบครัวเดี่ยวที่อยู่อาศัยในที่พักชั่วคราวทั้งหมดคือ เหย้า ตูบต่อเล้า และเถียงนา ต่างก็จะมีเป้าหมายหลักที่เป็นเสมือนจุดสุดยอดของความสำเร็จในชีวิตสังคมเหมือนกันคือ การสร้างเรือนใหญ่ซึ่งเป็นเรือนถาวรให้ได้
เมื่อสามารถสร้างเรือนใหญ่ได้แล้ว กระทั่งมีเขยเข้าอยู่ร่วมด้วย ก็จะมีสภาพเป็นครอบครัวต้น แล้วจากนั้นก็จะมีการแยกครัวเรือนออกไปสร้างที่พักชั่วคราวอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวต่อไปเรื่อยๆ
จากความสัมพันธ์ของที่อยู่อาศัยทั้ง 3 ลักษณะ โดยมีเรือนใหญ่ซึ่งอยู่ร่วมแบบครอบครัวต้นเป็นเป้าหมายสำคัญดังกล่าว เราจึงอาจพิจารณาวิเคราะห์ลักษณะของเรือนใหญ่ได้ 2 อย่างคือ 1. โครงสร้างของเรือน 2. รูปแบบของเรือน
หากพิจารณาวิเคราะห์โครงสร้างของเรือนใหญ่ผ่านลักษณะโครงสร้างของระบบครอบครัวแล้ว จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของเรือนใหญ่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และดูเหมือนจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพราะโครงสร้างของระบบครอบครัวยังอยู่ในลักษณะการแยกครัวเรือนจากครอบครัวต้นไปสร้างครอบครัวเดี่ยว ตามประเพณีการอยู่อาศัยเดิมที่มีการสืบทอดกันต่อๆ มา
กล่าวคือ ลักษณะโครงสร้างการอยู่อาศัยในเรือนใหญ่ของชาวอีสานจะสร้างเรือนขนาด 3 ห้อง เป็นหลักสำคัญ คือ มีห้องนอนของพ่อ-แม่ ห้องนอนของลูกสาวและลูกเขย และห้องเปิง (ห้องพระ/ห้องผี) ดังกล่าวแล้ว
เมื่อลูกสาวแต่งงานแล้ว ชาวอีสานจะถือประเพณีนิยมเอาเขยเข้าบ้าน เพื่อช่วยทำมาหากินในครัวเรือนเดียวกันระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่มีข้อกำหนดแน่นอนในเรื่องระยะเวลา แต่จะต้องแยกครัวเรือนออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตัวเอง เมื่อมีเขยใหม่เข้าไปอยู่แทน หรือเมื่อตัวเองและพ่อ-แม่เห็นว่าถึงเวลาสมควรที่จะต้องแยกครัวออกไปสร้างครอบครัวเป็นเอกเทศได้แล้ว เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าลักษณะครอบครัวของชาวอีสานจะหมุนเวียนเป็นวงจรสืบต่อกันไปสร้างครอบครัวเดี่ยว และเมื่อครอบครัวเดี่ยวพัฒนาขึ้นไปเป็นครอบครัวต้น โดยมีเรือนใหญ่อยู่อาศัยแล้ว ก็จะมีการแยกครัวเรือนต่อไปอีก
ฉะนั้น โครงสร้างของเรือนใหญ่จึงยังคงมีการสืบทอดต่อมาได้ เพราะสามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยของครอบครัวต้นได้อย่างเหมาะสมสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้โครงสร้างของเรือนใหญ่จึงสะท้อนให้เห็นภาพของระบบครอบครัวที่ชาวอีสานอยู่อาศัยร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ส่วนในแง่รูปแบบเรือนใหญ่นั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างทั้งในด้านรูปทรง วัสดุ เทคนิควิธีการ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเเละทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอก เป็นต้น
ในที่นี้จึงพอจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้รูปแบบและประโยชน์ใช้สอยของเรือนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างก็ตาม แต่ลักษณะโครงสร้างของเรือนใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ และยังสามารถสนองประโยชน์ใช้สอยต่อระบบครอบครัวของชาวอีสานที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงได้
แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ เรื่องสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ลักษณะโครงสร้างของเรือนใหญ่ในอีสานมีการสืบทอดกันเรื่อยมาบนพื้นฐานโครงสร้างของระบบครอบครัว
เหตุปัจจัยที่ทำให้มีการสืบทอดที่สำคัญก็คือ ความเชื่อต่างๆ ตลอดจนคะลำหรือข้อห้าม และผญาภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเรือนพักอาศัย ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งสนับสนุนที่ช่วยรักษาความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่างเรือนพักอาศัย ซึ่งสัมพันธ์กับระบบครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้
เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับ “โสก” ของชาวอีสานที่ใช้เป็นเหมือนมาตราวัดความสูง-ต่ำ, กว้าง-ยาวของวัสดุที่ใช้สร้างเรือน เช่น โสกเสา โสกกลอนเรือน โสกกะทอด (พลึง) และโสกแม่กะได เป็นต้น
ความเชื่อเรื่อง “เปิง” ก็มีส่วนที่กำหนดให้มีการยกเปิงขึ้นในเหย้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และเป็นหัวหน้าผู้นำครอบครัวใหม่ที่เป็นครอบครัวเดี่ยว และเมื่อสร้างเรือนใหญ่แล้วก็จะมีการยกเปิงขึ้นไว้ในห้องหนึ่งโดยเฉพาะแล้วเรียกว่า ห้องเปิง ซึ่งนอกจากจะแสดงสถานภาพของหัวหน้าครอบครัวแล้ว ยังจะใช้เป็นที่เก็บรักษาสิ่งที่เคารพสักการะบูชาต่างๆ เช่น รูปเคารพทางความเชื่อศาสนา อัฐิธาตุของบรรพบุรุษหรือสมาชิกในครัวเรือน ตลอดจนเครื่องรางของขลัง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ฯลฯ จนบางครั้งก็จะรู้จักห้องเปิงกันในอีกความหมายหนึ่งว่าคือ ห้องพระหรือห้องผี ด้วย
จากลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ความเป็นผู้นำครอบครัวนี้ จึงทำให้มีผลเกิดเป็นความเชื่อเรื่องคะลำหรือข้อห้ามไม่ให้เขยล่วงล้ำขึ้นเปิงโดยเด็ดขาด ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดเหมือนเป็นการละลาบละล้วงล่วงเกินพ่อตา ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่อยู่ในฐานะหัวหน้าผู้นำครอบครัว
จึงอาจกล่าวได้ว่า นอกจากความเชื่อเรื่องเปิงจะมีอิทธิพลต่อลักษณะโครงสร้างของเรือนใหญ่แล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็นตัว “ควบคุมสังคม” (SOCIAL CONTROL) ในระดับครอบครัว ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขไปด้วย
ส่วนคำกล่าวในลักษณะ “ผญาภาษิต โบราณต่างๆ” ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ก็จะมีลักษณะสนับสนุนให้มีการรักษาความเหมาะสมสอดคล้องกันระหว่างเรือนพักอาศัยกับประเพณีการอยู่อาศัยหลายอย่าง เช่น
ประเพณีนิยมในการแต่งงานของชาวอีสานที่เอาเขยเข้าบ้าน เพราะต้องการแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตรายได้ ก็จะมีคำภาษิตกล่าวย้ำในทางปฏิบัติว่า “เอาเขยมาเลี้ยงพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ปานได้ข้าวมาใส่เล้าใส่เยีย เอาลูกใภ้มาเลี้ยงปู่เลี้ยงย่า ปานได้ผีห่ามาใส่เฮือนใส่ชาน” และ “นาสองเหมือง เมืองสองท้าว เหย้าสองเขย” เป็นต้น
นอกจากนี้ คำกล่าวเกี่ยวกับการนำต้นไม้มาถากทำเป็นต้นเสาเรือน ก็ยังมีลักษณะที่บ่งบอกถึงสถานะและระยะเวลาในการสร้างที่อยู่อาศัยในลักษณะชั่วคราวหรือถาวรด้วย คือ “ถากเสาบ่มีเหลี่ยมเค้า แสนสิเกลี้ยงก็บ่งาม” ซึ่งจะมีความหมายอยู่ในทีเป็นที่รู้กันว่า เหย้าหรือเรือนน้อยส่วนใหญ่มักจะใช้เสาไม้กลมกะเทาะเปลือก หรืออาจจะถากบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเรือนใหญ่จะต้องนำท่อนเสามาถากให้เป็นเหลี่ยมเสมอ
จนที่สุดก็ยังมีภาษิตโบราณที่เน้นย้ำถึงลักษณะเรือนพักอาศัยของชาวอีสานที่แยกครัวเรือนแล้ว มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสร้างเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นเรือนที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างของระบบครอบครัว โดยแสดงนัยชี้ให้เห็นถึงความสุขในการดำรงชีวิตในสังคม เสมือนจะเป็นการประสบความสำเร็จในการสร้างครอบครัวอย่างหนึ่งว่า “สุขเพราะมี เฮือนใหญ่ มุงแป้นกระดาน”
ดังกล่าวมาโดยสังเขปเกี่ยวกับประเพณีการอยู่อาศัยในบ้านเรือนของชาวอีสานนี้ พอจะสรุปกว้างๆ ได้ว่า การแยกครัวเรือนออกมาอยู่ตูบต่อเล้านั้น เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวเดี่ยวขึ้นใหม่ เป็นเอกเทศทางเศรษฐกิจของตนเอง แต่ก็ยังมีความผูกพันอยู่กับครอบครัวเดิมอยู่บ้างทางด้านสังคม คือพวกลูกๆ ที่ยังเล็กอาจจะยังผูกพันกับตายายอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิมที่ยังอยู่ห้องส้วม หรือห้องส่วม และโดยเฉพาะสถานที่สร้างตูบ ซึ่งต้องต่อออกจากเล้าข้าวที่อยู่ในบริเวณบ้านของพ่อ-แม่
แต่ทั้งนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องแยกออกไปสร้างตูบอยู่ก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งอาจจะแยกครัวเรือนออกไปสร้างเหย้าหรือเรือนน้อยอยู่เลยก็ได้
แต่ไม่ว่าจะสร้างตูบอยู่ก่อน หรือบางครั้งอาจจะมีการปรับปรุงยกเถียงนาขึ้นเป็นเหย้า หรือจะสร้างเหย้าเลยก็ตาม กล่าวได้ว่า เหย้าหรือเรือนน้อยคือจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวใหม่ในลักษณะครอบครัวเดี่ยว ที่มีความพร้อมเบื้องต้นที่จะสร้างสถานภาพในสังคมต่อไปได้ด้วยตัวเองแล้ว เพราะนอกจากจะแยกครัวเรือนออกมาเป็นอิสระทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจะมีการยกเปิงขึ้นไว้ในเหย้า ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานภาพความเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำครอบครัวที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ส่วนเรื่องใหญ่นั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องพยายามสร้างให้ได้ เพราะนอกจากจะเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยในชีวิต และค่านิยมในสังคมตามประเพณีเดิมที่สัมพันธ์กับลักษณะสังคมแบบครอบครัวต้นแล้ว ยังจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพในสังคมที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอีกด้วย
นี่คือวิถีการสร้าง เรือนพักอาศัยของชาวอีสาน ตามแบบประเพณีเดิมที่มีการสืบทอดกันเรื่อยมาในลักษณะเหมือบวงจร แม้ว่ารูปแบบของเรือนพักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม แต่โครงสร้างของเรือนก็จะยังคงดำรงอยู่ได้ ตราบเท่าที่โครงสร้างระบบครอบครัวยังไม่เปลี่ยนแปลง และมีความเชื่อด้านต่างๆ เป็นเครื่องตอกย้ำสนับสนุนให้มีการสืบทอด
อ่านเพิ่มเติ่ม :
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เรือนอีสานและประเพณีการอยู่อาศัย” เขียนโดย สมชาย นิลอาธิ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2530
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2565