ตามรอย “เถียงนา” กับวิถีชีวิตชาวอีสาน เหตุใดจึงเรียก “เถียง” ?

เถียง เถียงนา อีสาน

ตามรอย “เถียงนา” กับวิถีชีวิตชาวอีสาน เหตุใดจึงเรียก “เถียง” ?

“…ลืมเจ้าลืมสัญญา พี่นั่งคอยท่า อยู่เถียงนากลางโพน… บทเพลงเถียงนาน้อยคอยนาง” ของ พรศักดิ์ ส่องแสง หรือเพลงรอรักใต้ต้นกระโดน ของ จ่าหรอย เฮนรี่ ที่พรรณนาว่า…มองนั่งมองใต้ต้นกระโดน ยืนอยู่ใกล้โพนข้างเถียงนาน้อย สิ้นเมษาฝนตกมาปรอย ๆ เสียงเขียดจะนาน้อยร้องออดออยอยู่อ้อมอีอ่อม…” หรือบ้างก็มีคำกล่าวของชาวอีสานเกี่ยวกับวิถีชีวิตกับเถียงนาที่ว่า “ขี่งอยขอน (นั่งขี้บนไม้ขอน) นอนสูบยา พาเมียนอนนา (เถียงนา)”

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความหมายของงานช่างสิ่งปลูกสร้าง ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตสังคมชาวนา ที่เรียกว่าเถียงนา ในอีกมิติหนึ่งที่มีต่อความทรงจำของผู้คนโดยเฉพาะผู้บ่าวผู้สาวซึ่งนิยมใช้เถียงนา เป็นที่นัดพบพลอดรักกัน จนเกิดเป็นความทรงจำ ดั่งที่สะท้อนผ่านบทเพลงอยู่บ่อยครั้ง

คำว่า “เถียงนา”

เถียงนา เป็นชื่อเรียกงานช่างสิ่งปลูกสร้างอย่างง่าย ๆ ที่มีขนาดเล็ก ในบริบทวัฒนธรรมไทย-ลาว คำว่า เถียง หมายถึง โรงเรือนที่ปลูกสร้างไว้สำหรับพักอาศัยในลักษณะชั่วคราว เพื่อเฝ้าพืชผลในไร่นาเรียก เถียง ถ้าปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่นาเรียก เถียงนา ส่วนถ้าปลูกสร้างไว้ที่ป่าเรียก เถียงไร่ หรือ เถียงไฮ่

โดยคำว่า เถียงนา บ้างก็เรียกเพี้ยนเป็น เสียงนา หรือ เขียงนา ตามปากตามลิ้นที่ถนัด โดยในบริบทวัฒนธรรมล้านนา นิยมเรียกว่า ห้างนา ภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรียก โรงนา ส่วนภาคใต้เรียก ขนำนา ทั้งนี้ถ้าสร้างอยู่ในไร่บนภูเขาจะเรียกว่าทับ ที่ใช้เป็นที่พักตอนออกไปทำไร่ เลี้ยงควาย รวมถึงยังใช้เป็นที่พักในเวลาออกไปดักจับสัตว์เวลาค่ำคืน

โดยเถียงนามักสร้างอยู่ตามป่า ในพื้นที่ราบลุ่มที่มีการหักร้างถางพง เพื่อเตรียมปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำนา หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าส้าวนา โดยเฉพาะพื้นที่ “ดอนหัวนา” ซึ่งเป็นพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและบริเวณดังกล่าว มักมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่เป็นไม้ผลโดยรอบ ๆ บริเวณเถียงนา

โดยเฉพาะเถียงขนาดใหญ่กึ่งถาวร จะปลูกพืชผักสวนครัวไว้เป็นแหล่งอาหาร เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ โดยมีพื้นที่ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ บ้างก็มีการขุดบ่อน้ำไว้กินหรือขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา

ฤดูกาลทำนา

เถียงนาจะดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาก็ในช่วงฤดูกาลทำนาตั้งแต่การไถ-หว่าน จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยชาวนาจะยกครอบครัว เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ที่จำเป็นรวมถึงสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่เถียงนาเพื่อสะดวกในการดูแล (ในกรณีที่บ้านอยู่ไกลจากที่นา) เสมือนบ้านหลังที่ 2

เมื่อสิ้นฤดูการทำนา เถียงนาก็จะเงียบเหงา และมักถูกทิ้งร้างโดยจะใช้เป็นที่พักพิงก็แต่เฉพาะช่วงเวลากลางวันในยามที่ออกไปเลี้ยงวัว ควาย หรือหาของป่าตามหัวไร่ปลายนา หรือบ้างก็ถูกใช้เป็นที่ตั้งวงเหล้าขาวโสกัน รวมถึงยังถูกใช้เป็นที่เล่นการพนัน ด้วยชัยภูมิที่ตั้งไกลหูไกลตาตำรวจดี หรือในบางครั้งคราก็ถูกใช้เป็นที่พักพิงฉุกเฉินสำหรับนักเดินทาง

แต่ทั้งนี้ เมื่อมีการขยับขยายครอบครัว อย่างเช่น ถ้าลูกเต้าแต่งงานออกเรือนแต่พื้นที่ในหมู่บ้านและพื้นที่ในเฮือนพักอาศัยคับแคบ พ่อแม่อาจมอบที่นารวมถึงเถียงนาให้ลูกไว้อยู่อาศัยและทำกิน โดยการปรับเปลี่ยนเถียงนาเป็นเถียงเหย้าและขยับขยายเป็นเรือนใหญ่ เมื่อมีความพร้อมในด้านการเงิน จนเกิดเป็นชุมชนใหม่ขยายไปตามขนาดชุมชนต่อไปเรื่อย ๆ

โดยในแง่ความเชื่อพื้นบ้านชาวอีสาน คำว่า เถียง มีที่มาจากความเชื่อที่ว่าก่อนการสร้างเถียงนาจะต้องมีการถกเถียงกันเพื่อขับไล่ผีหรือวิญญาณที่อยู่ในบริเวณนั้นก่อน เป็นเสมือนการทำพิธีบนบานเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตก่อนที่จะลงมือปลูกสร้างและบางแห่งก็จะมีการสมมุติเหตุการณ์ขึ้น เป็นการถือเคล็ดโดยสมมุติให้คน 2 คนออกไปในนาบริเวณตรงที่จะปลูกสร้าง แล้วให้ทั้งสองถกเถียงกันอย่างรุนแรงทำเสียงให้ดังมาก ๆ หรืออาจจะทำให้ถึงขั้นลงมือชกต่อยกันเลยก็ได้

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ดูสมจริงเป็นเรื่องร้ายแรง จะได้เป็นการรบกวนไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จนเกิดความรำคาญหรือความกลัว จนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้พื้นที่ปลูกสร้างนั้นเกิดความสงบ ร่มเย็น ปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกสร้างเถียงนา (สมชาย นิลอาธิ. วิถีความคิดวิถีชาวนาอีสาน, 2543, น. 10.)

นอกจากนี้ยังคงถือตามความเชื่อเดียวกับการปลูกสร้างเฮือน เช่น ไม่หันหน้าเถียงนาไปในทิศตะวันตกที่เป็นทิศคนตาย ทั้งนี้ เถียงนายังเป็นสัญญะสำคัญในแง่การบ่งบอกสถานภาพทางสังคม โดยการมีเถียงนาเป็นของตนเองแสดงถึงความพรั่งพร้อมในทางเศรษฐกิจของครอบครัวนั้น ๆ อีกทางหนึ่งด้วย

เถียงนา เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมหลวงก็คือ ศาลา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ว่า ศาล (สา-ละ) ซึ่งแปลว่าโรงเรือน โดยในหนังสือสาส์นสมเด็จ ได้ให้คำจำกัดความคำว่า ศาลา ว่าเป็นที่พัก เช่น ศาลาย่าน ศาลาราย หรืออีกอย่างหนึ่งหมายความว่า ที่ประชุม เช่น ศาลาโรงธรรม ศาลาการเปรียญ แต่เห็นได้ว่าศาลาโรงธรรมเดิมพื้นก็คงอยู่กับแผ่นดิน ศาลาทุกอย่างที่ยกพื้นสูงมามีต่อภายหลัง แต่คงเรียกว่าศาลาตามเดิม (สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ. สาส์นสมเด็จ. 2499, น. 464)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าศาลาเป็นงานช่างสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนโถงที่มีพื้นที่ส่วนเว้นว่างรองรับกิจกรรมประเภทสาธารณ์ทั้งทางโลกย์และทางศาสนา โดยศาลาเมื่อจำแนกตามสถานที่ตั้งของศาลาและฐานานุศักดิ์ สามารถจำแนกเป็น ศาลาริมทาง ศาลาเกวียน ศาลาท่าน้ำ ศาลาพักร้อน ศาลาวัด ศาลาบาตร ศาลาการเปรียญ ศาลาราย ศาลาตั้งศพ ศาลาปรก ศาลาเปลื้องเครื่อง ศาลากลางบ้าน ฯลฯ

ในแง่ประวัติศาสตร์โบราณคดี รูปแบบเถียงนาหรือศาลา อาจถือเป็นนวัตกรรมงานช่างสิ่งปลูกสร้างชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์เริ่มรู้การใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ ที่พักพิงอยู่อาศัยโดยมีเทคนิคการป้องกันแดดฝนที่ผ่านพัฒนาการลองผิดลองถูก ดังปรากฏเป็นตำนานกำเนิดบ้านหลังแรกเรื่อง พญาสมมุติสร้างบ้านหลังแรกของกลุ่มชนชาวไต

ซึ่งสาระสำคัญของตำนานดังกล่าวอยู่ที่พยายามบอกเล่าให้เห็นถึงการที่มนุษย์พยายามสร้างที่พักอาศัยจากเดิมที่พักพิงอาศัยอยู่ตามเพิงผาหรือถ้ำในวิถีสังคมแบบชนเผ่าที่เร่ร่อน ดำรงชีพด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ มาสู่การสร้างเพิงพักในที่ราบลุ่มตามวิถีสังคมเกษตรกรรม

โดยเริ่มจากการทดลองเอาต้นบอน โดยใช้ใบบอนเป็นหลังคาที่ป้องกันแดดฝนแต่เกิดปัญหาการรั่วซึม จึงเฝ้าสังเกตเห็นท่านั่งของหมา ที่สามารถป้องกันแดดฝนและช่วยระบายน้ำฝนที่ตกลงมา จึงได้ทดลองสร้างโรงเรือนขนาดเล็กที่มีรูปทรงหลังคาแบบตูบหมานั่ง หรือที่รู้จักดีในชื่อเพิงหมาแหงนนั้นเอง

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัญหาตามมาอีกคือเมื่อลมเปลี่ยนทิศทำให้ไม่สามารถป้องกันแดดฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนต่อมาได้มีนกหงส์ทองเทวดามาแนะนำพญาสมมุติว่าให้ลองใช้รูปทรงสัดส่วนของนกหงส์ทองนี้เป็นแบบอย่างในการสร้างหลังคาโรงเรือนแบบทรงจั่วสามเหลี่ยมแบบปีกนก ที่จะช่วยคุ้มแดดฝนได้มีประสิทธิ์ภาพสูงสุดกว่าแบบอื่น ๆ จนรูปแบบดังกล่าวถือเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของรูปทรงหลังคา

รวมถึงวัฒนธรรมการสร้างเรือนมีเสาสูงหรือยกพื้นสูง ไม่อยู่ติดพื้นดินของกลุ่มวัฒนธรรมไตในสิบสองปันนาและเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของหงส์เทวดา พวกเขาจึงเรียกบ้านที่พวกเขาสร้างตามลักษณะรูปทรงสัดส่วนของหงส์ทองว่า เฮือนหงส์ หรือเรือนหงส์ มาจนถึงทุกวันนี้ (จูเหลียงเหวิน, ชนชาติไต สถาปัตยกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไตในสิบสองปันนา. 2536, น. 76-79.)

โดยรูปเรือนในลักษณะชั่วคราวดังกล่าวน่าจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหลักฐานร่องรอยจากการขุดค้นที่บ้านโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ที่พบร่องรอยหลุมเสาซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับหลักฐานหลุมเสาสิ่งปลูกสร้างอย่างรูปเรือนหรือศาลา ดั่งที่พบที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนักโบราณคดีกำหนดอายุไว้ประมาณ 5,000 ปี

ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่ของพัฒนาการแล้วก็พอจะมองเห็นได้ว่า มนุษย์ในยุคก่อนสังคมเกษตรกรรมจะเร่ร่อนอาศัยอยู่ตามถิ่นที่มีอาหารสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะต้องมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้ ๆ เข้าไว้ก่อน เพื่อความสะดวกและความอยู่รอด

ครั้นเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการผลิตทำการเกษตรกรรมปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์และสะสมอาหาร ก็คงต้องเริ่มอาศัยอยู่ติดที่รวมกัน โดยการสร้างเพิงพักอาศัยอย่างลักษณะง่าย ๆ ไปก่อน โดยรูปเรือนอาคารน่าจะมีรูปแบบลักษณะอย่าง “เถียงนาหรือศาลา” ที่มีลักษณะเป็นอาคารโปร่งโล่งหรืออาจมีการกั้นผนังบางส่วน โดยมีหลังคาเป็นส่วนป้องกันคุ้มแดดฝน

ที่สำคัญจะยกพื้นเพื่อความปลอดภัยเนื่องจากในแถบถิ่นนี้เป็นเขตร้อนชื้นตลอดปีมีไข้ป่า งู พืชแมลงที่มีพิษชุกชุม ผู้คนในแถบถิ่นนี้จึงนิยมสร้างบ้านที่มีเสาและยกใต้ถุนสูง โดยระดับความสูงก็ขึ้นอยู่กับบริบทสภาพแวดล้อมของที่ตั้งนั้น ๆ เป็นสำคัญ

มิติเชิงช่าง

เถียงนาและศาลาในมิติความหมายในเชิงช่าง สาระด้านรูปแบบอยู่ที่คุณค่าของพื้นที่เว้นว่างภายในและสะท้อนต่อมาถึงรูปทรงภายนอกโดยเฉพาะส่วนหลังคา เช่น เมื่อมีการต่อขยายพื้นที่การใช้งานก็จะทำให้ต้องมีการต่อเติมเสริมหลังคาให้คุ้มแดดฝนตามไปด้วย

และเมื่อมีการใช้ฝาผนังปิดกันเพื่อแบ่งแยกพื้นที่การใช้งานที่ซับซ้อนขึ้น ก็จะทำให้คุณค่าความหมายของเถียงนาหรือศาลาเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของเฮือนพักอาศัยลักษณะแบบถาวร อย่างเรือนไม้จริงหรือที่เรียกว่า เรือนใหญ่ หรืออาจกลายไปสู่รูปแบบการใช้งานในลักษณะอื่น ๆ ของบริบทที่เปลี่ยนไป

เช่น เมื่อเป็นศาลาที่รับใช้ศาสนา สถาบันกษัตริย์ ย่อมมีฐานานุศักดิ์ที่สูงกว่างานช่างชาวบ้านโดยแสดงออกผ่านรูปทรงหลังคาและการตกแต่งที่มีลักษณะพิเศษ ตามกรอบจารีตการจัดระเบียบชนชั้นในสังคมรวมถึงตัวแปรอื่น ๆ ทางเทคโนโลยีด้านวัสดุและการก่อสร้าง รวมถึงรสนิยมในแต่ละยุคสมัย

วันนี้เถียงนายังคงทำหน้าที่รับใช้วิธีสังคมชาวนาอย่างซื่อตรงแม้รูปกายสังขารจะถูกปรุงแต่งไปตามเงื่อนไขใหม่ เช่นเดียวกับที่ศาลาไทยได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็นสัญญะหนึ่งในฐานะสัญลักษณ์ตัวแทนชาติไทยในประชาคมโลก

รวมถึงมักถูกหยิบยืมนำไปผลิตเป็นจุดขายในฐานะวัตถุสถานทางวัฒนธรรม เป็นตัวแทนของขวัญทางการทูตอันทรงคุณค่าอันแสดงถึงความรุ่มรวยด้านทักษะฝีมือด้วยรูปแบบแห่งงานช่างหลวงไทยในสายสกุลวัดและวัง หาใช่ศาลาแบบอย่างในวิถีชาวบ้าน

โดยศาลาลักษณะดังกล่าว มักสร้างไว้เพื่อโชว์มากกว่าไว้ใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564