ผู้เขียน | จักรมนตรี ชนะพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เกลือสินเธาว์อีสาน” ลมหายใจของอุตสาหกรรมครัวเรือนถิ่นอีสาน
พื้นที่ภาคอีสานครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง โครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็น 2 ลักษณะ คือ เป็นแอ่ง (Basin) และขอบแอ่งที่เป็นภูเขาสูง (Mountain Range) แบ่งได้ 2 แอ่ง เรียกว่า “แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร”
ทั้ง 2 แอ่งมีชั้นเกลือหินที่รองรับอยู่ใต้ดินเป็นโดมเกลือ (Salt Dome) ขนาดใหญ่ ชั้นเกลือหินจะสัมผัสกับชั้นน้ำบาดาลเกิดการละลายเป็นชั้นน้ำเค็ม บางพื้นที่ชั้นน้ำเค็มพุขึ้นถึงผิวดินที่มีอุณหภูมิสูง ก็เกิดการระเหยอย่างรวดเร็วทิ้งผนึกเกลือเล็ก ๆ อยู่บนผิวดินเป็นคราบสีขาว สภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็มมีคราบเกลือนี้เอง ชาวอีสานนำไปผลิตเกลือสินเธาว์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในภาคอีสานมีชุมชนที่ผลิตเกลือในระดับอุตสาหกรรมโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณบ่อพันขัน เขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณลุ่มน้ำสงครามแอ่งสกลนคร
หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตามท้องนาจะมีดินเอียดหรือที่ชาวอีสานเรียกว่าขี้ทา (ดินเค็มที่มีละอองหรือส่าเกลือ) ขึ้นมาบนผิวดินให้เห็นเป็นสีขาวหรือสีเทา ชาวบ้านลงมือขูดดินเอียดเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการต้มเกลือ ก่อนต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เพื่อเป็นศิริมงคลขอให้การต้มเกลือไม่มีอุปสรรค และให้ได้ผลผลิตมากตามต้องการ
จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการต้มเกลือ โดยนำดินเอียดผสมแกลบข้าวหรือเศษฟาง ใส่ในรางเกรอะน้ำเกลือมีลักษณะคล้ายเรือความยาวประมาณ 2-4 เมตร หรือบางท้องที่อาจใช้อ่างปูนซีเมตรแทน เมื่อเทน้ำสะอาดใส่ในรางเกรอะเกลือ น้ำเอียดที่ผ่านการกรองแบบธรรมชาติจะไหลออกจากรูลงในภาชนะที่รองไว้ด้านล่างของรางเกรอะ เมื่อได้น้ำเอียดที่เพียงพอต่อการต้มแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาการวัดความเค็มจากน้ำที่รองได้ มี 2 วิธี คือ
1. นำไข่เป็ดที่ยังไม่สุกมาลอยในน้ำเอียด ถ้าไข่เป็ดไม่จมน้ำแสดงว่าความเค็มมากสามารถนำมาต้มเป็นเกลือได้ ถ้าไข่เป็ดจมน้ำแสดงว่าความเค็มยังไม่เพียงพอที่จะนำมาต้มเป็นเกลือ และ 2. ใช้ครั่งหรือขี้ครั่งขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ นำมาลอยในน้ำเอียด ถ้าก้อนครั่งลอยแสดงว่ามีความเค็มมากเช่นเดียวกับการวัดด้วยไข่เป็ด
เมื่อได้น้ำเอียดที่สามารถต้มเป็นเกลือได้แล้วขั้นตอนต่อไปคือนำน้ำเอียดมาเคี่ยวหุง โดยใช้กะทะที่ทำจากแผ่นสังกะสี สุมไฟไปตลอดจนน้ำระเหยกลายเป็นผลึกเกลือสีขาวขุ่น จากนั้นตักเกลือใส่ตระกร้าไม้ไผ่ผึ่งเกลือไว้ให้แห้ง เสร็จแล้วก็นำเกลือมาบรรจุกะทอที่ทำด้วยไม้ไผ่สานอย่างชะลอมเป็นรูปทรงกระบอก ขนาดของกะทอขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ส่วนใหญ่ขนาดพอบรรจุเกลือหนัก 1 หมื่น (12 กิโลกรัม) ก่อนบรรจุเกลือใช้ใบไม้รองด้านใน
เกลือกะทอของชาวอีสานในอดีตเป็นทั้งสินค้าซื้อขายและแลกเปลี่ยนของพ่อค้าทางไกล ชาวอีสานเรียกว่า “นายฮ้อยเกลือ” เกลือกะทอสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานแรมปี เกลือกะทอหนัก12กิโลกรัม ราคาประมาณ 150 – 200 บาท (พ.ศ. 2559) ระยะเวลาการผลิตเกลือสินเธาว์อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี
ปัจจุบันในภาคอีสานมีการผลิตเกลืออยู่ 3 รูปแบบ คือ
1. การผลิตเกลือแบบดั้งเดิมดังที่กล่าวมาข้างต้น นิยมผลิตทั่วไปในบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเกลือลักษณะนี้เริ่มลดจำนวนลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านไม่มีฟืนมาใช้ในการเคี่ยวหุงเกลือ และสาเหตุจากเกษตรกรใช้สารเคมีในการทำนา ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในดิน ดินเอียดก็ไม่สามารถนำมาผลิตเกลือได้
รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาการผลิตเกลือแบบดั้งเดิม หรืออาจเป็นเพราะยุคสมัยใหม่ความสะดวกสบายมีมากขึ้น และเกลือไอโอดีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขมีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป การผลิตและบริโภคเกลือแบบดั้งเดิมของชาวอีสาน จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร
2. การผลิตเกลือโดยวิธีสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาเคี่ยวหุง ชุมชนที่ผลิตเกลือลักษณะนี้คือบ่อเกลือหัวแฮด บ้านท่าสะอาด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ และ 3. การผลิตเกลือด้วยวิธีสูบน้ำเค็มจากใต้ดินขึ้นมาตากแดด ที่เรียกว่า นาเกลืออยู่ที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าเกลือไอโอดีนที่จำหน่ายตามท้องตลาด ชาวอีสานไม่นิยมนำมาใช้หมักทำปลาร้า เพราะทำให้ปลาร้าเน่าเสีย ชาวบ้านจึงนิยมใช้เฉพาะเกลือสินเธาว์ที่ผลิตแบบดั้งเดิม ใช้หมักทำปลาร้าจึงจะทำให้ไม่เน่าเสียและมีรสชาดอร่อย
การผลิตเกลือสินเธาว์แบบดั้งเดิมของชาวอีสานจะหายไปหรือไม่? ผู้ให้คำตอบคือลูกหลานชาวอีสานเองที่จะสานต่อภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้ หรือจะปล่อยให้กลายเป็นเรื่องราวเพียงให้ผู้คนได้จดจำเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- เกลือสินเธาว์ จากอีสาน ที่ 3,000 ปีก่อน ส่งไปขายไกลถึงทะเลสาบที่เขมร
- ทุ่งกุลาร้องไห้ บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาว “กุลา” พ่อค้าเร่แห่งอีสาน
- แนวกินถิ่น “อีสาน” วิถีชีวิตกับ “อาหาร” พื้นบ้าน จากข้าวเหนียว-แมง-แมลง-ปลา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์. เบญจรัตชต์ เมืองไทย. เกลืออีสาน จากวิถีชิวีตชุมชนสู่อุตสาหกรรม. มปพ, 2549
ธงสิน ธนกัญญา และคณะ. วิถีชุมชน คนต้มเกลือ พู้น…ตั้งแต่สมัยพระวอ พระตา…พุ่น บ้านหนองฮาง. ร้อยเอ็ด : โพนทอง, 2557.
อมฤต หมวดทอง. เกลือ และประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชนในอีสาน. (2559) ออนไลน์. http://www.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/view/44230, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2562