หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดแรงงานอีสานอพยพ “ชั่วคราว” เข้ากรุงเทพฯ

ชาวบ้าน ชาวนา ควาย ไทย อดีต
ชาวบ้านในอดีต

วันนี้เรามี “แรงงาน” จากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นส่วนสำคัญในกิจกการประเภทต่างๆ แต่หากเป็นเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน แรงงานสำคัญของประเทศเวลานั้นคือ ประชาชนในชนบทของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน ซึ่งเป็นการเข้ามาขายแรงงาน “ชั่วคราว” เมื่อว่างจากการทำนาทำไร่ ก็มากรุงเทพฯ ขายแรงงานหารายได้พิเศษ ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตก็กลับบ้านเกิด แรงงานก็จะขาดแคลน วนเวียนเป็นเช่นนี้อยู่นาน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ได้อธิบายในงานเขียนของเขาที่ชื่อว่า “อีสานนิยม: ท้องถิ่นนิยมในสยามประเทศไทย” สำนวนแปล รัตนา โตสกุล (มูลนิธิโรงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 ตุลาคม 2556) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการ)


 

ผลกระทบของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเศรษฐกิจไทย แม้จะไม่มากนักก็ตามเริ่มส่งผลต่อการกระตุ้นสำนึกในเรื่องท้องถิ่นภาคอีสานนิยมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ในขณะที่กรุงเทพฯ ได้ขยายตัวกลายเป็นเมืองใหญ่ และพื้นที่ภาคกลางโดยทั่วไปได้พัฒนาเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์

ภาคอีสานยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจการผลิตแบบพอยังชีพ ความยากลำบากในการผลิตทางด้านเกษตรกรรมอันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเศรษฐกิจของภาคเศรษฐกิจในชนบทอีสาน ทำให้ชาวอีสานต้องอพยพออกไปหางานทำชั่วคราวในกรุงเทพฯ และในที่ต่างๆ นอกภาคอีสาน ความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการอพยพไปขายแรงงานชั่วคราวที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมของชาวอีสานในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคอีสานนิยม

ภาคอีสานไม่สามารถตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ ที่ปรากฏตัวภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีเท่าภาคกลาง เพราะมีลักษณะธรรมชาติที่แห้งแล้ง ลักษณะดิน แบบแผนภาวะน้ำฝน ภาวะน้ำท่วม และความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่เพาะปลูกของภาคอีสาน สะท้อนถึงความไม่อุดมสมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบกับภาคกลาง ยกตัวอย่างตัวเลขแสดงผลผลิตข้าวเฉลี่ยของภาคกลางอยู่ที่ 227 กิโลกรัมต่อไร่ [1] ในปี ค.ศ. 1950-1951 ในขณะที่ภาคอีสานมีผลผลิตข้าวโพด… 145 กิโลกรัมต่อไร่ในปีเดียวกัน (Thailand Ministry of Agriculture 1691:39) [2]

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบในลักษณะนี้มีความหมายน้อยมากสำหรับครัวเรือนชาวนาโดยทั่วไปในภาคอีสาน ตราบเท่าที่การผลิตของประเทศโดยรวมมุ่งไปในทิศทางของการผลิตแบบพอยังชีพ และชาวนายังคงสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาเอง

ในระยะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ การผลิตข้าวส่งออกของภาคกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามและการปฏิวัติภายในประเทศ ภาคอีสานแตกต่างไปจากภาคกลาง ตรงที่ผลิตข้าวส่วนเกินได้เพียงจำนวนน้อย และข้าวที่ผลิตได้ส่วนมากก็ขายไม่ได้ง่ายนัก เพราะนิยมปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อรับประทานมากกว่าการผลิตข้าวเจ้า

นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด และระบบการเชื่อมโยงการขนส่งสื่อสารที่ยังไม่ดีเพียงพอ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในการผนึกผสานของชาวนาจากภูมิภาคอีสานเข้าสู่ระบบการผลิตการเกษตรเพื่อการค้าพาณิชย์ [3] ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ความต่างในเรื่องรายได้ระหว่างประชากรในภูมิภาคอีสานกับภาคกลางเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่เพียงเฉพาะในสายตาของคนภายนอก แต่ยังเป็นที่รู้สึกได้ในหมู่ชาวอีสานด้วย

ยกตัวอย่าง ในปี ค.ศ. 1953 รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อครัวเรือนของเกษตรกรในภาคอีสานมีเพียง 954 บาท [4] เมื่อเทียบกับ 2,888 บาท ของครัวเรือนเกษตรกรในภาคกลาง นอกจากนี้ รายได้ของครัวเรือนเกษตรกรอีสาน ยังน้อยกว่าครัวเรือนเกษตรกรในภูมิภาคอื่นๆ (Thailand, Ministry of Agriculture 1955:26)

ในขณะที่ประชากรในภูมิภาคอีสานยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจใหม่ กรุงเทพฯ กลับพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้าการขยายตัวในกรุงเทพฯ ชาวจีนที่อพยพเข้ามาประกอบกันเข้าเป็นแรงงานไร้ฝีมือส่วนใหญ่ในสังคมไทย เป็นกลุ่มผู้อพยพที่สามารถเลื่อนระดับชั้นทางสังคมในเวลาต่อมา จากเดิมซึ่งเป็นกลุ่มอพยพใหม่ที่มีสถานภาพทางสังคมเศรษฐกิจอยู่ที่บันไดชั้นล่างสุดของสังคมเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังปี ค.ศ. 1949 การอพยพเข้าประเทศไทยของคลื่นมนุษย์จากประเทศจีนได้ยุติลง และตามมาด้วยมาตรการของรัฐบาลไทยในการจำกัดโควตาผู้อพยพเข้าจากแต่ละประเทศไม่ให้เกิน 200 คนต่อปี (Skinner 1957:117-118) ความต้องการ “แรงงาน” ในเขตเมืองหลวงที่กำลังขยายตัว มาพร้อมกับมาตรการปิดกั้นการอพยพเข้าของแรงงานจากนอกประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในเขตเมืองหลวง ช่องว่างนี้ถูกเติมเต็มโดยแรงงานจากกลุ่มคนท้องถิ่น ภายในสังคมไทยเฉลี่ยประมาณ 37,800 คนต่อปีภายในช่วงระยะจากปี ค.ศ. 1947-1954 [5]

ในจำนวนนี้ผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองหลวง มีชาวนาจากภาคอีสานจำนวนมากเข้ามาทำงานเป็น “แรงงาน” รับจ้างเพื่อหารายได้เสริมจากการเกษตรกรรมแบบพอยังชีพของครอบครัวในชนบท (cf.Textor 1961:15-16) ถึงแม้ว่า ชาวนาจากภาคอีสานจะไม่ใช่ผู้อพยพเข้ามหามาหางานทำในกรุงเทพฯ เพียงกลุ่มเดียว

แต่ตำแหน่งแห่งที่ของชาวนาอีสานในนครของประเทศไทย ก็มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ

ประการหนึ่ง คือ ชาวบ้านจากภาคอีสานส่วนใหญ่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ แบบ “ชั่วคราว” หมายความว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่ อพยพเข้ากรุงเทพฯ ตามฤดูกาล โดยมากเข้ามาระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวข้าว แล้วจนถึงก่อนช่วงการปลูกข้าวใหม่ในปีถัดไป หรืออพยพเข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 2-3 ปีก่อนจะกลับไปตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านเกิดอย่างถาวร (Textor 196111; Keyes 1966a: 312 et passim)

ประการที่สอง ผู้อพยพชาวชนบทส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีอายุระหว่าง 20-29 ปี [6]

ประเด็นสุดท้าย ชาวนาอีสานที่อพยพเข้ามาทำงานในเขตกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นประเภทแรงงานไร้ฝีมือ ประกอบอาชีพเป็นคนถีบสามล้อรับจ้าง (จนกระทั่งมีกฎหมายยกเลิกการถีบสามล้อรับจ้างในพื้นที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครในปี ค.ศ. 1960) เป็นกรรมกรก่อสร้าง กรรมกรโรงสีข้าวหรือโรงงานที่คนจีนเป็นเจ้าของ

ถึงแม้ไม่ปรากฏจำนวนที่ชัดเจนของชาวบ้านจากภาคอีสานที่อพยพมาทำงานชั่วคราวในเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่าผู้ชายจากหลายแห่งในภาคอีสานที่เติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการอพยพ ยกตัวอย่าง ที่หมู่บ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคาม ที่ผมทำวิจัยภาคสนาม พบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของชายที่มีอายุ 20 ปี และมากกว่า หรือ 67 เปอร์เซ็นต์ของชายที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ล้วนมีประสบการณ์ทำงานในกรุงเทพฯ (มีผู้หญิงเพียงคนเดียวที่เคยไปทำงานในกรุงเทพฯ) [7]

ในกรุงเทพฯ มีผู้อพยพจากภาคอีสานพบว่า พวกเขาถูกคนไทยในเมืองหลวงมองว่าด้อยกว่า ไม่เพียงเพราะว่าถูกจ้างทำงานในอาชีพที่ใช้ แรงงาน มีค่าตอบแทนน้อย พวกเขายังพบว่าคนที่เมืองหลวงคิดว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนบ้านนอกจากต่างจังหวัดที่มีการศึกษาน้อย ไม่ค่อยพัฒนา และด้อยในทางวัฒนธรรม (cf, Textor 1961:17, 24-25)

การเผชิญกับสภาพเช่นนี้ทำให้คนอีสานมีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกันเมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ เนื่องจากมีความรู้สึกร่วมในวัฒนธรรมย่อย ภาษาถิ่น รสนิยมเรื่องอาหาร ดนตรี และอื่นๆ (Textor 1961:22) ที่กรุงเทพฯ “แรงงาน” อพยพจากภาคอีสานปรากฏตัวขึ้นในรูปลักษณะของชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่การรวมตัวและความปรารถนาของพวกเขามักได้รับการนำไปใช้ประโยชน์โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากภาคอีสาน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ไร่ (rai) เป็นหน่วยวัดที่ดินมาตรฐานในประเทศไทย 1 ไร่ มีขนาดบ 3/4 เอเคอร์ (acres)

[2] ถึงแม้ว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทั้งสองภูมิภาคในต้นปีคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ความแตกต่างระหว่างสองภูมิภาคนี้ก็ยังคง ค.ศ. 1960-1961 ผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยต่อไร่ในภาคกลาง 231 กก. ต่อไร่ เทียบกับ 153 กก. ต่อไร่ที่ภาคอีสาน (Thailand Ministry of Agriculture 1691:39)

[3] เริ่มประมาณปี ค.ศ. 1957 การผลิตปอได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักในภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยายตัวของการผลิตปอเชิงพาณิชย์จะช่วยทําให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเกษตรกรภาคอีสานกับภาคกลางในการผลิตการเกษตรเชิงพาณิชย์หดตัวลง แต่ครัวเรือนเกษตรกรในภาคอีสานก็ยังมีรายได้จากภาคเกษตรล้าหลังครัวเรือนเกษตรกรในภาคกลางเป็นอย่างมาก

[4] 1 บาท มีค่าเท่ากับ 0.05 ดอลลาร์สหรัฐ

[5] ตัวเลขสถิตินี้ได้มาจาก Skinner (1957:305) ซึ่งอ้างอิงมาจาก Economic and Demographic Survey of Bangkok (Thailand, Central Statistical Office, 1955:Table 15-16)

[6] ประเด็นนี้ค่อนข้างยากที่จะยืนยันด้วยข้อมูลทางสถิติ แม้ว่ารายงานส่วน ใหญ่ (Textor 1961:6-7, 12; Klausner 1956:1, 2, Long et al 1963:100-101) และงานวิจัยของผมเองที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ต่างระบุว่า ชาว บ้านภาคอีสานอ้างว่ากลุ่มผู้อพยพจากชนบทอีสานไปขายแรงงานประกอบไปด้วยชายวัยหนุ่มเป็นส่วนมาก ในการสํารวจสถิติปี ค.ศ. 1960 บ่งชี้ประเด็นนี้ พบว่ามี เปอร์เซ็นต์น้อยกว่าของชายช่วงวัย 20-29 ปีจากภาคอีสาน (16.3%) เมื่อเปรียบ เทียบตัวเลขประเภทเดียวกันกับภาคอื่นๆ (17.2% ในภาคเหนือ, 17.3% ในภาคใต้ และ 17.6% ในภาคตะวันออก) และรวมทั้งประเทศไทย (17.0%)

[7] แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ “การอพยพชั่วคราว” ของชาวอีสานไปกรุงเทพฯ ดูใน Textor (1961), Kirsch (1966), Klausner (1956.I,16;II,1-3),Kickert (1960:2) และ Long et al (1963:100-101) คงต้องระบุไว้ว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นสถานที่แห่งเดียวที่ดึงดูดชาวนาจากภาคอีสานให้เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้าง แต่พวกที่อพยพมาทํางานในกรุงเทพฯ และในระดับที่ลดลงมา คือ พวกที่เคยไปทำงานที่อื่นๆ ในภาคกลางเป็นกลุ่มที่น่าสนใจศึกษาในที่นี้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2564