ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ประวัติศาสตร์ยุคแรกของอเมริกา “หอยนางรม” มีราคาถูก และอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะในอ่าวเชซาพีค ที่อยู่ระหว่างแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนีย ชาวอินเดียนแดงกินหอยนางรมเท่าที่กินได้ ทิ้งซากเปลือกสูงเป็นภูเขา นั่นเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ แต่ต่อมากลับเกิด “สงครามหอยนางรม” เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร
อ่าวเชซาพีคอุดมด้วยหอยนางรมที่ดูเหมือนจะไม่มีวันหมด ที่หาดดังกล่าวถึงกับมีคำว่า “หอยนางรมมีเหลือเฟือในอ่าว (ประมาณปี 1600) จนกระทั่งบางครั้งเรือจะเกยตื้นบนแหล่งหอย”
แต่กลางศตวรรษที่ 19 อ่าวหอยนางรมที่เป็นสาธารณสมบัติแบบใครๆ ก็สามารถจับได้ ก็เริ่มมองเห็นเค้าลางหายนะบางอย่างเกิดขึ้น เมื่อเทคโนโลยีการประมงเปลี่ยนจากวิธีโลว์เทคที่ใช้การคราด มาเป็นวิธีอวนลากสมัยใหม่ ที่จับหอยนางรมได้มากกว่า
ด้วยความจุที่จำกัดของเรือและความยาวที่จำกัดของคราด ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของชาวประมง ทำให้แหล่งหอยนางรมไม่เสียหายมากนัก ชาวประมงที่ใช้คราดจะทำงานในน้ำลึกไม่เกิน 20 ฟุต ซึ่งเป็นระดับของดินเลนที่มีหอยอาศัยอยู่เยอะที่สุด
ขณะที่ชาวประมงอวนลาก พัฒนาเรือ “สกิ๊ปแจ๊ก” ที่ทำงานได้ทุกความลึก พวกเขาดึงอวนลากตาข่ายถี่ๆ ไปบนหน้าดินในทะเล กวาดทุกอย่างขึ้นมาหมด เมื่อชาวประมงใช้สกิ๊ปแจ๊กกันอย่างแพร่หลาย “หอยนางรม” ก็เริ่มหายาก
เมื่อทรัพยากรหายากแล้ว สาธารณสมบัติแบบเข้าถึงโดยเสรี ก็สร้างความคิดที่ว่า “จับหอยนางรมวันนี้ได้ราคาดีอย่างแน่นอน การปล่อยให้ผสมพันธุ์ดูจะเป็นเรื่องโง่”
ตั้งแต่ปี 1632 “สงครามหอยนางรม” ก็เกิดขึ้น เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ของอังกฤษ ทรงวาดพรมแดนทางทะเลที่คั่นระหว่างแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนีย พระองค์ไม่ได้ทรงแบ่งอ่าวตรงที่สายน้ำไหลเชี่ยวที่สุด ซึ่งเป็นวิธีปกติ แต่แบ่งตรงจุดที่น้ำขึ้นสูงสุดในฝั่งเวอร์จิเนีย ทำให้แหล่งหอยนางรมทั้งหมดอยู่ในเขตน่านน้ำของแมรี่แลนด์ “ความไม่เท่าเทียม” กันนี้ จุดประกายความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่าสามศตวรรษ
ในปี 1785 นายพลจอร์จ วอชิงตัน เป็นคนกลางที่เจรจาให้สองมลรัฐนี้ตกลงกัน เกิดเป็น “สัญญา 1785” แบ่งอาณาเขต แต่เส้นแบ่งใหม่นี้ก็ไม่ทำให้เกิดความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และการปล้นหอยนางรมยังคงเกิดขึ้น
จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 รัฐสภาของแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียยังพอร่วมมือกันได้ พวกเขาขับไล่ชาวประมง “ต่างชาติ” จากนิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก และรัฐอื่นตลอดชายฝั่งตะวันออก ที่ทำลายแหล่งหอยนางรมในน่านน้ำตัวเองไปหมดแล้ว
แม้ทั้งสองรัฐจะสงวนสิทธิ์การจับหอยในอ่าวไว้สำหรับพลเมืองตัวเองเท่านั้น ทว่าทั้งสองรัฐต่างไม่อยากตั้งข้อจำกัดสำหรับชาวประมงของตัวเอง เพราะไม่มีใครเชื่อจริงจังว่าแหล่งหอยนางรมในอ่าวอาจหมดได้ในวันหนึ่ง
ในปี 1862 คำว่า “การใช้มากเกินไป (overuse)” เกิดขึ้นในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก “แหล่งหอยนางรมกำลังร่อยหรอ ส่วนหนึ่งจากการใช้มากเกินไป” ปริมาณหอยนางรมที่จับได้ในอ่าวพุ่งถึงจุดสูงสุดก็เริ่มตกลง
รัฐบาลแมรี่แลนด์ เริ่มให้เช่าแหล่งหอยนางรมในน่านน้ำของตัวเองแก่ชาวแมรี่แลนด์เท่านั้น เพราะคิดว่าจะกระตุ้นเอกชนให้ลงทุนและเพาะพันธุ์ในบริเวณที่ไม่มีแหล่งหอยตามธรรมชาติ นโยบายนี้เป็นที่โต้เถียงอย่างรุนแรง ชาวประมงเวอร์จิเนียปฏิเสธมาตรการอนุรักษ์ของรัฐแมรี่แลนด์ หลายคนเห็นว่าหอยนางรมเป็นผลผลิตของธรรมชาติ จะใช้กฎหมายเหมือนกับที่ใช้กับอาหาร หรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ไม่ได้
เรื่องลุกลามไปถึงขั้นที่ชาวแมรี่แลนด์เรียกชาวเวอร์จิเนียว่า “โจรสลัด”
ความขัดแย้งใน “สงครามหอยนางรม” ทวีความรุนแรง ทุกฝ่ายเริ่มติดอาวุธ ใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งกว่าเดิม ในปี 1868 สภานิติบัญญัติของแมรี่แลนด์จึงจ้างทหารนอกเครื่องแบบคือ ผู้บังคับการเรือฮันเตอร์ เดวิดสัน ให้จัดตั้งกองทัพเรือหอยนางรมแห่งแมรี่แลนด์ (Maryland Oyster Navy) และตั้งให้เขาเป็นกัปตันคนแรก ซึ่งก่อนที่เขาจะเริ่มงาน ก็ได้ก่อตั้งกองทัพเรือปืนติดปืนครกและปืนไรเฟิลชนิดยิงซ้ำได้เร็ว
ฝ่ายเวอร์จิเนียก็วิตกเรื่องโจรสลัดแมรี่แลนด์เหมือนกัน ในปี 1877 ศาลฎีกาของสหรัฐขีดเส้นแบ่งน่านน้ำใหม่ เกิดเป็น “เส้นปี 77” ยกแหล่งหอยนางรมที่มีค่าที่สุดให้แก่เวอร์จิเนีย เรื่องนี้กลายเป็นการปลุกระดมชาวเกาะสมิธในแมรี่แลนด์ให้ลุกขึ้นสู้ พวกเขาไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล เพราะมันจะทำให้พวกเขาสูญเสียหอยนางรม
โจรสลัดจากเกาะสมิธกดดันให้แมรี่แลนด์ขยายกองทัพเรือหอยนางรมของตัวเองเช่นกัน
ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม ปี 1871 กัส ไรซ์ โจรสลัดหอยนางรมที่มีชื่อที่สุดในอ่าวเชซาพีค สันนิษฐานว่าเป็นชาวเวอร์จิเนีย นำลูกสมุนของเขาลอบสังหารผู้บังคับการเรือเดวิดสันของแมรี่แลนด์ แม้จะไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์นั้นทำให้เดวิดสันไล่ล่ากองเรือโจรสลัดอย่างมุมานะมากขึ้น
ไรซ์ปล้นหอยนางรมต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ด้วยเรืออวนลาก ต้นปี 1888 ชาวประมงหอยนางรมในแม่น้ำเชสเตอร์ทนไม่ไหว จึงติดตั้งปืนใหญ่ 2 กระบอกที่ปากน้ำ เพื่อยิงไล่นักลากอวนของไรซ์ แต่อ่าวเชซาพีคนั้นกว้างใหญ่ และไรซ์ก็ไม่ใช่กัปตันโจรสลัดเพียงคนเดียว
หลายครั้งจึงเกิดการต่อสู้ของกองทัพ ควบคู่ไปกับการปะทะกันระหว่างผู้คุมกฎในการทำ “สงครามหอยนางรม” ผู้บังคับการเรือเดวิดสันขอร้องให้สภานิติบัญญัติของแมรี่แลนด์สร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่คุ้มค่ากับการที่เขาไปเสี่ยงตาย เขาเรียกร้องกฎหมายที่จะ “จำกัดและกำกับอุตสาหกรรมที่ไร้จิตสำนึกและมักง่ายในปัจจุบันที่จับหอยนางรมทุกตัวที่เจอโดยไม่เลือกฤดู ขนาด หรือสภาพแวดล้อม”
ปลายศตวรรษที่ 19 นักวิชาการที่เฝ้าสังเกตการณ์จำนวนมาก เตือนถึงสถานการณ์วิกฤติถึงขึ้นหอยนางรมอาจสูญพันธุ์ แต่ไม่มีใครสนใจ
หลังเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 ได้ไม่นาน ผลผลิตหอยนางรมตกต่ำลงด้วยอัตราเร่ง จากเดิมที่หอยนางรมเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกที่สุดในอเมริกา ถึงตอนนี้กลับมีราคาพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นอาหารหรูที่คนกินขณะดื่มแชมเปญ
จวบจนทศวรรษ 1940 คนก็ยังยิงกัน เพื่อแย่งหอยนางรมในอ่าวเชซาพีค
ในปี 1960 สแตนลีย์ รีด ผู้พิพากษาศาลสูง เรียกผู้ว่าราชการรัฐแมรี่แลนด์กับเวอร์จิเนียให้มาตกลงกันว่าจะแบ่งสิทธิหอยนางรมที่เหลืออยู่ในอ่าว ต่อมาในปี 1962 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ลงนามรับรองให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกฎหมายชื่อ “กฎหมายประมงโปโตแม็ค” ปิดฉากสงครามหอยนางรมลงอย่างบริบูรณ์ 300 ปีหลังจากที่อ่าวถูกแบ่งอาณาเขตเป็นครั้งแรก
เกือบ 200 ปี หลังจากที่จอร์จ วอชิงตันนึกว่าเขาสงบศึกได้แล้ว และเกือบ 100 ปีหลังจากที่ศาลฎีกาตัดสินเรื่องนี้เป็นครั้งแรก กองทัพเรือหอยนางรมของทั้งสองมลรัฐเปลี่ยนชื่อเป็น “ตำรวจประมงและสัตว์ป่า” และหน่วยงานนี้ก็ยังคงอยู่สืบมาจวบจนปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไมเคิล แฮลเลอร์-เขียน, สฤณี อาชวานันทกุล-แปล. “โลกคือหอยนางรมของข้า” ใน. เศรษฐกิจติดขัด, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2567