“สนธิสัญญาเบาว์ริง” จุดเริ่มต้นการทำลายป่า “ไม้สัก” ในสยาม

เซอร์ จอห์น เบาริ่ง สนธิสัญญาเบาว์ริง วัดปทุมวนาราม รัชกาลที่ 4
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ฉากหลังเป็นภาพวัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุ)

สนธิสัญญาเบาว์ริง คือสนธิสัญญาระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักร ลงนามกันใน พ.ศ. 2398 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสาระสำคัญคือให้สยามเปิดเสรีทางการค้า อนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งต้องรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของอังกฤษ สนธิสัญญาเบาว์ริง ไม่เพียงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านการค้าสมัยใหม่ของสยามเท่านั้น เพราะถ้ามองในแง่ “ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม” แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นการทำลาย “ไม้สัก” ในสยามอีกด้วย

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจในผลงานเล่มล่าสุด “The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า จุดเริ่มต้นการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของบรรดาชาติมหาอำนาจ ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ที่ส่งกองเรือไปยึดดินแดนทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย เพื่อเป็นแหล่งระบายสินค้าที่ผลิตได้มากขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนอาณานิคมเป็นของตนเอง

แม้สยามจะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกใดๆ แต่ สนธิสัญญาเบาว์ริง และสนธิสัญญาอื่นๆ หลังจากนั้น ได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจสยามขยายตัว ระบบตลาดจากที่เคยผลิตตามกำลัง กลายเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมไม้สัก”

วันชัยเล่าว่า อุตสาหกรรมการทำไม้สักเริ่มอย่างจริงจังในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใน พ.ศ. 2415 ฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน (Hans Niels Andersen) กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก ได้นำไม้สักใส่เรือสำเภาไปขายที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าขายได้หมด ทำกำไรได้หลายเท่าตัว

ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อนคุณภาพดี มีความแข็งปานกลาง น้ำหนักค่อนข้างเบา ง่ายต่อการเลื่อยไสตกแต่ง เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง ลายสวย มีสีเหลืองทองงดงาม เป็นไม้ไม่กี่ชนิดในโลกที่ทนต่อการผุพัง ปลวกราไม่ขึ้น เหตุนี้จึงทำให้ไม้สักทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ

หลัง “สนธิสัญญาเบาว์ริง” อังกฤษได้ขยายการทำไม้สักเข้ามาทางเหนือของสยาม บริษัทอังกฤษแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานตัดไม้สักในป่าไม้ภาคเหนือคือ บริษัทบอร์เนียว ตามด้วยบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัทอีสต์เอเชียติก บริษัทหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ ซึ่งนอกจากชาวตะวันตกที่ได้ผลประโยชน์จากการค้าไม้สักแล้ว อีกกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ก็คือบรรดาเจ้าเมืองในภาคเหนือ ที่ถือว่าไม้ในป่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จึงสามารถเก็บภาษีหรือเงินกินเปล่าได้เอง

วันชัยบอกว่า ยุคนั้น ความรู้ในการทำไม้ล้วนเป็นความรู้ของชาวต่างชาติทั้งสิ้น คนสยามไม่เข้าใจกิจการตัดไม้สักขนาดใหญ่ได้เลย ทั้งการเก็บเงิน “ค่าตอไม้” (ใครต้องการทำไม้สักต้องเสียเงินภาษีให้ตามจำนวนไม้สัก เรียก “ค่าตอไม้”) ก็กระทำอย่างหละหลวม

ในที่สุด รัฐสยามก็เห็นความจำเป็นในการควบคุมการทำป่าไม้ จึงยืมตัว นายเอช. เอ. เสลด (H. A. Slade) ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่า มาช่วยวางแผนจัดการป่าไม้ของสยาม และเมื่อมีการตั้ง กรมป่าไม้ ขึ้นในปี 2439 นายเสลดก็เป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก

การตั้งกรมป่าไม้ เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมป่าไม้ในไทยอีกครั้ง เพราะเป็นการประกาศว่า รัฐบาลเป็นเจ้าของป่าไม้ทั้งหมดแทนเจ้าเมือง และรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีเอง โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่เจ้าเมือง

อาจกล่าวได้ว่า การทำ “ไม้สัก” ในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นจุดเริ่มต้นการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเป็นระบบในไทย เพราะเปลี่ยนโฉมการตัดไม้เพื่อใช้ในครัวเรือน ให้กลายเป็นการตัดไม้ในระบบอุตสาหกรรม รองรับความต้องการใช้งานไม้ที่มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2567