ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้าว อ้อย พืชเศรษฐกิจแห่งลุ่มน้ำท่าจีน ก่อน-หลังสนธิสัญญาบาวริง ที่มีทั้งขึ้นและลง
เพราะมีแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขนาบอยู่ ทำให้ลุ่มน้ำท่าจีนมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มยาวรีตามลำน้ำ โดยมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร ในอดีตเมื่อไทยทำสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกข้าว จนกลายเป็นพื้นที่ทำนาสำรองจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ช่วงก่อน พ.ศ. 2398 ประชากรในลุ่มน้ำท่าจีนมีลักษณะเบาบาง ประกอบด้วยกลุ่มชาวไทย, ลาว, จีน, มอญ, เขมร, ญวน ฯลฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และต่างก็อยู่ในระบบไพร่ มีสังกัด และต้องเกณฑ์แรงงาน ยกเว้นคนจีนที่ไม่ได้อยู่ในระบบดังกล่าว แต่ต้องจ่ายเงินให้รัฐเป็น “ค่าผูกปี้” แทน คนจีนจึงเป็นแรงงานอิสระ มีโอกาสทำการค้า หรือรับจ้างตามต้องการ
สภาพเศรษฐกิจของลุ่มน้ำท่าจีนก่อนสนสิสัญญาบาวริง ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเมืองนครชัยศรี, ภาวะข้าว และการเติบโตของนายทุนจีน
1. อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเมืองนครชัยศรี อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ในรัชกาลที่ 3 อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเจริญรุ่งเรืองมาก สังฆราชปาลเลอกัวซ์บันทึกไว้ว่า มีโรงงานน้ำตาลทราย 20-30 โรง ที่เมืองนครชัยศรี แต่ละโรงมีคนงานจีนราว 200-300 คน เนื่องจากเลิกผูกขาดการค้าน้ำตาลทรายช่วง พ.ศ. 2369-85 เพราะการทำสนธิสัญญาเบอร์นี (พ.ศ. 2369) ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 4 อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในลุ่มน้ำท่าจีนขยายตัวมาก ทำให้มีคนจีนเข้ามาขายแรงงานมากขึ้น ส่งผลต่อสภาพสังคมเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ คือ การก่อความวุ่นวายของสมาคมลับ “อั้งยี่”
2. การค้าข้าวเดิมเป็นการผูกขาดโดยรัฐมาตลอด ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ จีน แต่ในช่วง พ.ศ. 2381-82 จีนเกิดทุพภิกขภัย และสงครามฝิ่น, พ.ศ. 2393-2407 เกิดกบฏไต้เผ็ง (หรือกบฏไท่ผิง) และจลาจลอื่นๆ ไทยเองในช่วงรัชกาลที่ 3 ก็ทำสงครามยืดเยื้อกับญวน เมื่อไม่มีการค้าข้าวกับจีน การปลูกข้าวจึงลดลง โดยเฉพาะในบริเวณนครชัยศรีที่เปลี่ยนไปปลูกอ้อยที่ได้ราคาสูงกว่า
3. การเติบโตของนายทุนจีนในลุ่มน้ำท่าจีน ระบบผลิตในลุ่มน้ำท่าจีนทำให้เกิดการค้าของชุมชนต่างๆ โดยมีคนจีนเป็นพ่อค้าคนกลางขึ้นล่องตามลำน้ำค่อยแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงมีโอกาสสะสมทุนและมีบทบาททางเศรษฐกิจ
หลัง พ.ศ. 2398 ผลของสนสิสัญญาบาวริงทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการผลิตเพื่อส่งออก ยกเลิกระบบผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ชาติต่างๆ สามารถเข้ามาค้าขายได้ ผลกระทบต่อชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีนเริ่มจากการขยายตัวทางการผลิตเพื่อการค้าของ “ข้าว” และ “อ้อย” หรือ “น้ำตาล”
กรณีของ “น้ำตาล” นั้นหลัง พ.ศ. 2398 มีการส่งออกน้ำตาลมากขึ้น กิจการน้ำตาลทรายในรัชกาลที่ 4 จึงรุ่งเรืองและมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อมีการขุดคลองเจดีย์บูชา (พ.ศ. 2401) และขุดคลองมหาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2403)
การเพาะปลูกอ้อยบริเวณริมน้ำนครชัยศรีนั้น เริ่มขยายการปลูกอ้อยไปยังบริเวณตำบลวังตาก อำเภอพระปฐมเจดีย์ และบริเวณริมคลองทั้ง 2 นี้ เพราะจะอาศัยแม่น้ำลำคลองในการขนอ้อยและน้ำตาลทราย จากโรงงานแถบนครชัยศรีเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อมีการขุดคลองดำเนินสะดวก (พ.ศ. 2409) เชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ทําให้การคมนาคมระหว่างจังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพฯ สะดวกยิ่งขึ้น
พ.ศ. 2413 บริษัทอินโดไชนิสซูคากัมปนีลิมติด ของอังกฤษ ขอจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ บนฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ที่ตำบลดอนกระดี อำเภอตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี (ปัจจุบัน คือ ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร) โดยขอสิทธิจับจองที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและตั้งโรงงานทั้งสิ้น 4,500 ไร่ ใช้แรงงานถึง 3,000 คน แต่ดำเนินกิจการได้ 5 ปี ก็ประสบปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่บริษัทยึดทรัพย์โรงงาน ก่อนที่โรงงานน้ำตาลอื่นในลุ่มน้ำท่าจีนจะค่อยๆ ทยอยปิดตามจนหมด
ความล้มเหลวของอุตสาหกรรมน้ำตาลเมืองนครชัยศรีมีหลายสาเหตุด้วยกัน คือ เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในเอเชีย, ยุโรปพัฒนาการผลิตน้ำตาลจากพืชชนิดอื่น, ระบบภาษีน้ำตาลทรายไทยเรียกเก็บหลายขั้นตอน, ราคาข้าวดีขึ้นเกษตรกรหันมาปลูกข้าวแทน ฯลฯ
ส่วน “ข้าว” หลังเปิดเสรีการค้า พ.ศ. 2398 ข้าวสามารถส่งออกเสรี ความต้องการข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนมาก และความสะดวกจากการขุดคลองในลุ่มน้ำท่าจีนดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พ.ศ. 2458 สำรวจพบว่าเมืองสุพรรณบุรีและนครชัยศรีมีพื้นที่ปลูกข้าวได้ 84.49% พร้อมกับโรงสีริมแม่น้ำท่าจีนที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6 (ค่อยทยอยปิดกิจการเมื่อมีการสร้างถนนใน พ.ศ. 2500 โรงสีย้ายไปอยู่ริมถนนแทน)
ในรัชกาลที่ 6 เกิดน้ำท่วมใหญ่ (พ.ศ. 2460) และฝนแล้ง (พ.ศ. 2462) ติดต่อกัน การผลิตข้าวในลุ่มน้ำท่าจีนเสียหาย เกิดการขาดแคลนข้าวพร้อมกันในภาคกลาง ราคาข้าวพุ่งสูงอย่างไม่เคยปรากฏ (จากเดิมราคาเกวียนละไม่ถึง 100 บาท เพิ่มขึ้นเป็นราคาเกวียนละ 300-320 บาท) แต่ชาวนายังคงเดือดร้อนมาก และยากจนมีหนี้สิน
พ.ศ. 2463-64 พบว่า ชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรีเอาโฉนดที่นาไปจำนำถึง 10,487 ราย (จากจำนวนโฉนด 17,610 ราย) และชาวนาในจังหวัดนครปฐมเอาโฉนดที่นาไปจำนองฝากขายถึง 8,006 ราย (จากผู้ถือโฉนดทั้งหมด 9,277 ราย) เริ่มเกิดภาวะหนี้สิน และไร้ที่ดินขึ้น ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทวีเพิ่มขึ้น และเห็นได้ชัดเจน เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทางออกหนึ่งของชาวบ้านหรือแม้แต่ผู้ปกครองระดับท้องถิ่นบางคน คือ รวมกลุ่มตั้งตนเป็นโจร หรือ “เสือ” ออกอาละวาดปล้นฆ่าชิงทรัพย์ ดังในเอกสารทางราชการตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทางการมักได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเขตเมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรีเสมอว่า “โจรชุม” ก็มี
ชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน ต้องพบกับการเปลี่ยนครั้งใหญ่อีก ใน พ.ศ. 2500 เมื่อมีการตัดถนนเข้ามาในพื้นที่
อ่านเพิ่มเติม :
- ปลูก “ข้าว” อย่างเดียวสร้าง “รัฐ” ไม่ได้
- ยุคนี้คนจน “กินข้าวกับเกลือ” แต่ 2-3 พันปีก่อน “เกลือ” สำคัญ-มีค่ากว่าที่คิด
- “ขายข้าวเขียว” ย้อนดูวิถีชีวิตชาวนาภาคอีสานยุคสงครามเย็น
ข้อมูลจาก :
สุภาภรร์ จินดามณีโรจน์. ประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำท่าจีน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563