ปลูก “ข้าว” อย่างเดียวสร้าง “รัฐ” ไม่ได้

ปลูกข้าวยุคเรก ราว 3,000 ปีมาแล้ว ในภาพสีที่ผาหมอนน้อย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

คนในสุวรรณภูมิ เรากิน “ข้าว” มาแล้วราว 7,000 ปีมาแล้วโดยเริ่มจาก “ข้าวป่า” ต่อก็เริ่มปลูกข้าวกินเอง ด้วยการลองผิดลองถูกมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี

วิธีปลูกข้าวที่ทำกันอยู่ นักวิชาการทั่วโลกจำแนกตามลักษณะสังคมที่สูง (high land) ที่ต่ำ (low land) ได้ 3 ประเภท คือ

1. เฮ็ดไฮ่-ทำไร่ หรือดรายไรซ์ (dry rice) หมายถึง ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง อาศัยน้ำค้างและฝน ทำคราวหนึ่งราว 4-5 ปี ต้องย้ายไปที่อื่น เพราะดินเก่าจืด

2. เฮ็ดนา-ทำนา หรือเวตไรซ์ (wet rice) หมายถึง การทำนาทดน้ำบนที่ราบลุ่ม ทำได้ต่อเนื่องยาวนานไม่ต้องโยกย้ายไปไหน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมพัดพาเอาโคลนตะกอนเป็นปุ๋ยมาให้ตามธรรมชาติ

3. เฮ็ดข้าว-ทำข้าว, ปลูกข้าว หรือฟลัดไรซ์ (flooded rice) หมายถึง ปลูกข้าวหว่านบนพื้นที่โคลนตมเมื่อน้ำท่วมตามธรรมชาติ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แหล่งที่อยู่อาศัย

นักวิชาการทั่วโลกที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับบ้านเมืองในสุวรรณภูมิสมัยดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วมีแนวคิดว่า ข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐ

นักวิชาการทั่วไปยังเชื่อว่าพัฒนาการของสังคมเมืองและรัฐมีพื้นฐานมาจากการที่สังคมที่มีระบบเศรษฐกิจแบบที่ผลิตอาหารได้เอง (food producing economy) เคลื่อนย้ายลงสู่ที่ราบลุ่มทำการเพาะปลูกโดยอาศัยการทดน้ำและระบายน้ำ (irrigation) ช่วยเป็นเหตุให้มีการควบคุมการผลิตได้ผลดี มีการสะสมอาหารได้มากพอที่จะเลี้ยงคนได้เป็นจำนวนมาก

ทำให้คนบางจำพวกไม่จำเป็นต้องทำการเพาะปลูก หันไปทำงานเฉพาะอย่าง (Specialization) เช่น การช่าง การปกครอง และการศาสนา เป็นต้น ทำให้สังคมที่มีความสลับซับซ้อนและจำเป็นต้องจัดระเบียบแบบแผนในการอยู่ร่วมกันเกิดการมีชั้นวรรณะขึ้น และในที่สุดก็มีการจัดองค์กรขึ้นเป็นรัฐ (state) และสังคมเมืองขึ้น

สำหรับในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใช้อื่น ๆ นั้น การเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารสำคัญได้แก่ การปลูกข้าวที่มีทั้งที่เป็นแบบดรายไรซ์ (dry rice) โดยใช้วิธีการเพาะปลูกแบบเลื่อนลอย และที่เป็นเวตไรซ์ (wet rice) โดยวิธีการปลูกในที่ราบลุ่ม มีการทดน้ำและระบายน้ำ พัฒนาการของสังคมเมืองและรัฐเกิดขึ้นจากสังคมที่ทำการเพาะปลูกข้าวแบบเวตไรซ์ (wet rice) เป็นสำคัญ

แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่เห็นพ้องด้วยทั้งหมดกับนักวิชาการแนวคิดตะวันตกเหล่านั้น

เพราะเมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการของชุมชนระหว่างแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า การปลูกข้าวไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมเมืองและรัฐขึ้น การปลูกข้าวซึ่งได้แก่ ฟลัดไรซ์ เพียงทำให้ชุมชนนั้นตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่และมีอาหารพอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น

แต่การที่จะมีพัฒนาการขึ้นเป็นรัฐนั้นต้องมีความจำเป็น และทรัพยากรอื่นที่สามารถทำให้เกิดการติดต่อเกี่ยวข้องกับภายนอกมาสนับสนุน อาจารย์ศรีศักรอธิบายว่า

“ข้าพเจ้ามีความเห็นต่อไปว่าแนวความคิดในเรื่องเวตไรซ์ (wet rice cultivation) ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของสังคมเมืองและรัฐนั้น ถ้านำมาใช้กับบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยแล้ว ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะโดยปกติมักจะเห็นว่า เวตไรซ์ หมายถึง การทำนาในที่ราบลุ่มด้วยระบบการชลประทาน (irrigation)

ซึ่งนักวิชาการบางท่านก็มองไปถึงขั้นที่ว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล ในการควบคุมกำลังน้ำเพื่อการผลิต และพัฒนาการของรัฐจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดมีระบบการชลประทานดังกล่าวนี้ขึ้น แนวความคิดเช่นนี้ดูเหมือนรับกันได้ดีจากการที่พบว่าตามชุมชนใหญ่ ๆ เช่นที่เมืองพระนครในประเทศกัมพูชาและที่เมืองสุโขทัยมีร่องรอยของคูน้ำคันดินและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เมื่อมองอย่างผิวเผินก็น่าเชื่อถือว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นสร้างขึ้นเพื่อการปลูกข้าวเป็นสำคัญ”

“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการปลูกข้าวในระยะแรก ๆ สัมพันธ์กับชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยยุคโลหะตอนปลายมาจนถึงสมัยทวารวดี (ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12-16) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น น่าจะเป็นการปลูกหรือหว่านข้าวลงในที่ลุ่มน้ำท่วมถึงพอสมควรแบบที่เรียกว่า ฟลัดไรซ์ (flooded rice)

บางชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นและตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่มีระดับน้ำไม่เหมาะสม ก็อาจมีวิธีการที่จะดำเนินการในด้านการระบายน้ำหรือทดน้ำบ้างพอสมควร ลักษณะเช่นนี้มักแลเห็นได้จากรอยของบึงนาที่มีรูปเป็นตาตะแกรงอยู่ตามพื้นที่บางแห่งหรือรอบ ๆ ชุมชนนั้น”

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 หลัง พ.ศ. 1500 ลงมา อันเป็นสมัยที่มีการขยายตัวของประชากรและมีความสัมพันธ์กับแคว้นกัมพูชาและอื่น ๆ จากภายนอกเพิ่มขึ้น การทำนาในรูปที่สร้างคันนาเป็นรูปตาตะแกรงก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขยายแหล่งทำกินและการตั้งหลักแหล่งขึ้นไปบนเขตที่สูงที่เป็นส่วนลาดลงมาจากชายเขา เช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามขอบแอ่งกระทะของที่ราบลุ่มมูน-ชี ทั้งด้านเหนือและด้านใต้ สมัยนี้คงมีการทดน้ำและระบายน้ำพอสมควร ไม่ถึงกับเป็นการดำเนินการของรัฐ หากเป็นการกระทำของชาวบ้านที่ร่วมมือกันทำ

แต่ในทำนองตรงข้าม ปรากฏมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ คันดิน และคลองระบายน้ำ รวมทั้งสระน้ำคูน้ำล้อมรอบชุมชนกันอย่างใหญ่โตจนเห็นเป็นรูปแบบได้ชัดเจน สิ่งก่อสร้างเหล่านี้หาได้มีความสัมพันธ์กับการชลประทานเพื่อการปลูกข้าวไม่ แต่กลับสัมพันธ์กับศาสนสถานหรือแนวความคิดทางศาสนาแทน

อาจารย์ศรีศักรย้ำว่า การชลประทานของรัฐเพื่อการเพาะปลูกนั้นแลไม่เห็นชัด แต่การชลประทาน เพื่อการเพาะปลูกข้าวในลักษณะเพื่อเลี้ยงตัวเองนั้นเห็นได้ชัดเจน


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ข้าวปลาอาหาร ทำไม? มาจากไหน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551, กองทุนเผยแพร่ความรู้สาธารณะ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563