
ที่มา | "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน? (สำนักพิมพ์มติชน, 2549) |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
เกลือ ใช้กินกับข้าว เลยมีคำว่า “กินข้าวกับเกลือ” เป็นคำพูดในชีวิตประจำวัน บอกให้รู้ว่ายากจนข้นแค้น จนไม่มีอะไรจะกินกับข้าว ฉะนั้น เกลือ จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ยากไร้ เพราะคนทั่วไปอย่างน้อยก็มีกุ้งหอยปูปลากินกับข้าว ส่วนคนยากจนข้นแค้นต้อง “กัดก้อนเกลือกิน”
แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เกลือ เป็นอาหารกินกับข้าวอย่างเบื้องต้นที่สุด
ความสำคัญของเกลือยังมีอยู่ในสำนวนว่า “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” สะท้อนให้เห็นลักษณะเศรษฐกิจว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีข้าวและอาหารหรือข้าว คือเกลือมั่งคั่งบริบูรณ์ แสดงว่าเกลือเป็นมาตรฐานหรือเครื่องวัดเศรษฐกิจสมัยหนึ่งด้วยเช่นกัน
คนอยู่ใกล้ทะเลกินเกลือทะเล ที่เรียก “เกลือสมุทร” แต่คนที่อยู่ภายในห่างไกลทะเล กิน “เกลือสินเธาว์” ฉะนั้น ชุมชนดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้วถือว่าบ่อเกลือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จะพบบ่อเกลือกระจายทั่วไปทั้งอีสาน ภาคเหนือ และพรมแดนลาว พม่า เวียดนาม และจีน ตราบจนทุกวันนี้
“เกลือ” สัญลักษณ์ความมั่งมี
คํา “สินเธาว์” มีรากจากภาษาบาลีว่า สินธฺว หมายถึง เกิด แต่แคว้นสินธวะ หรือม้าสินธพ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเกลือหรือรสเค็ม แสดงว่าไม่ใช่คําดั้งเดิมที่เรียกเกลือชนิดนี้ หากยืมคําที่พ้องเสียงมาใช้เรียกในภายหลัง
มีคําเดิมที่ควรใช้เรียกเกลืออย่างนี้มาก่อนหลายคํา เช่น สินเทา เป็นคําของช่างเขียน หมายถึง เส้นแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอน ๆ ใน จิตรกรรมฝาผนัง นิยมเขียนเป็นเส้นฟันปลา ขี้เทา อุจจาระของเด็กแรกเกิด ขี้ทา คราบเกลือผุดแห้งเกรอะตามหน้าผิวดิน บางทีเรียก ขี้กระทา และ ขี้กระทาเกลือ
น่าสงสัยและน่าเชื่อว่าชื่อเรียกเกลืออีสานจะมีที่มาจากคําเดิมว่า ขี้ทา-ขี้เทา แต่ฟังไม่สุภาพ ไม่ไพเราะเสนาะหูเลยยืมคําพ้องว่าสินเทา มาแปลงเป็นบาลีว่า สินเธาว์ ให้ดูดีขึ้นใช้เรียกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ถ้าย้อนหลังกลับไปราว 3,000 ปีมาแล้ว เกลือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง มั่งมี และอำนาจ เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีทางอีสาน ที่ทำเกลือสินเธาว์เป็นสินค้าส่งแลกเปลี่ยนซื้อขายถึงบริเวณทะเลสาบกัมพูชากับบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเคยใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเงินมาก่อน
คนยุคดั้งเดิมดึกดําบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว คงรู้วิธีที่จะทําเกลือหรือสกัดเอาเกลือจากแหล่งเกลือในท้องถิ่นเป็นอย่างดี และน่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ ภายในภูมิภาคแล้ว แต่การผลิตเป็นจํานวนมากจนถึงขั้นเป็นอุตสาหกรรม คงเกิดขึ้นเมื่อราว 2,000 กว่าปีลงมา อันเป็นระยะเวลาที่การค้าระยะไกลมีการขยายเครือ ข่ายกว้างขวางกว่าแต่เดิม เกิดชุมชนใหม่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ มากมาย ทําให้ความต้องการเกลือสูงขึ้น จึงได้มีผู้คนในภาคอีสาน โดยเฉพาะในแอ่งโคราช หันมาประกอบอาชีพทําเกลือกันตามแอ่งเกลือ
อาณาจักรเกลือโบราณ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายการผลิตเกลือของคนอีสานยุคโบราณดังกล่าวว่า มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม ว่า
“การผลิตแต่สมัยโบราณ ในแต่ละแห่งมีจํานวนมากกว่าในปัจจุบัน จนทำให้บริเวณแหล่งที่ผลิตเกลือเกิดเป็นชุมชนของคนที่มีอาชีพทำเกลือขึ้น จริงอยู่ที่การทําเกลือทํากันในฤดูแล้ง 3-4 เดือนต่อปี แต่ว่าการทําภาชนะดินเผาประเภทต่างๆ ที่ใช้ในการต้มเกลือและใส่เกลือนั้นนับเนื่องในกระบวนการผลิตเกลือ อาจทําต่อเนื่องในฤดูที่ว่างจากการทําเกลือได้ ยิ่งกว่านั้น ชุมชนเหล่านี้น่าจะยังเก็บกักเกลือไว้ขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าในฤดูที่ว่างจากการทําเกลืออีกด้วย การที่มีชุมชนอยู่นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอดปี”
รอบ ๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ หรือ “อาณาจักรเกลือ” มาแต่โบราณกาลยุคสุวรรณภูมิราว 2,500 ปีมาแล้ว พบเศษภาชนะดินเผาหลากหลายขนาดและชนิดอยู่รอบ ๆ ทุ่งกุลา ซึ่งมีชุมชนหนาแน่น และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก รวมทั้งแหล่งคนที่เติบโตก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นเป็นบ้านเมืองและรัฐ คือพิมาย (นครราชสีมา) กับพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และรัฐอื่นที่อยู่ใกล้เคียงในยุคต่อมา

อาจารย์ศรีศักร อ้างถึง ดร. ดับเบิลยู. เจ. วันเลียร์ อดีตเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในโครงการพลังงานแม่โขง อธิบายการทำเกลือสินเธาว์ในอีสานว่า เกี่ยวข้องกับปลาแดกและมีการถนอมอาหารอื่น ๆ เช่น หมัก ดอง แล้วยังบอกอีกว่า
“การมีแหล่งเกลือสินเธาว์และมีการทำเกลืออย่างสืบเนื่องนั้น น่าจะมีผลไปถึงการเกี่ยวข้องกับทางดินแดนเขมรต่ำรอบๆ ทะเลสาบเขมร ที่มีการจับปลากันเป็นอาชีพหลักมาแต่โบราณ คงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนเกลือกับปลาทางเขมรต่ำ โดยที่เกลือจากอีสานน่าจะถูกนำไปใช้เป็นในการหมักปลา ทำปลาเค็ม ปลาร้า อะไรต่างๆ ด้วย”
แหล่งเกลือสินเธาว์เก่าแก่ราว 2,500 ปีมาแล้วอยู่ในอีสาน เรื่องนี้อาจารย์ศรีศักรพบว่า อาณาบริเวณที่กว้างขวางทางด้านตะวันตกของเมืองนครราชสีมา ที่คลุมพื้นที่ในอำเภอด่านขุนทด ขามสะแก แสงโนนไทย จนถึงหนองบัวโคกนั้น เป็นบริเวณที่กว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาณาบริเวณนี้มีลำน้ำลำเชียงไกรที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำมูลสายหนึ่งหล่อเลี้ยง
“บริเวณแหล่งเกลือที่เค็มที่สุดน่าจะอยู่แถวลำน้ำเสียวและบ่อพันขัน จังหวัดร้อยเอ็ด เพราะเวลาทำเกลือยังเอาน้ำที่อยู่กลางหนองหรือบ่อเกลือผสมด้วยได้ คือเอาทั้งดินเอียดที่อยู่ตามผิวดินและน้ำที่ขังอยู่ในหนองมาผสมและกรอง เพื่อเอาน้ำเกลือบริสุทธิ์อีกที่หนึ่ง
การทําเกลือในสมัย โบราณแตกต่างกันกับการทําเกลือของชาวบ้านในสมัยปัจจุบัน ตรงที่ว่าของชาวบ้านในปัจจุบัน นั้นกระจายอยู่ทั่วไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ดูเป็นอาชีพเสริมที่พวกผู้หญิงและคนแก่ทํากันในยามที่ว่างจากการทํานาหรือการเพาะปลูก แต่ก่อนเช่นที่บ่อพันขันเคยแห่กันมาทําเป็นกลุ่มใหญ่ก็แต่เฉพาะฤดูกาลเท่านั้น หามีกลุ่มชาวบ้านที่ทําแต่เกลือเป็นอาชีพเดียวตลอดทั้งปีไม่
แต่ในสมัยโบราณ แม้จะไม่แผ่กว้างขวางอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ตาม ผู้คนที่ทําเกลือจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในชุมชนที่ใกล้กับบ่อเกลือ หรือแหล่งเกลือ จึงมักพบโคกเนินขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพอยู่ใกล้ ๆ กับเนินเกลือที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งที่เป็นชุมชน บรรดาผู้คนในย่านชุมชนที่เกี่ยวกับการทําเกลือดังกล่าวนี้จะผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการต้มเกลือและบรรจุเกลือด้วย”

“เกลือ” กับเทคโนโลยีการถลุงเหล็ก
เกลือ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีถลุงเหล็กในอีสานเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เพราะพบหลักฐานการถลุงเหล็กกับแหล่งเกลืออยู่ด้วยกัน อาจารย์ศรีศักรจึงชี้ให้เห็นว่า ทั้งเหล็ก และเกลือ นอกจากเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นสินค้าระยะไกลด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกส่งไปขาย หรือแลกเปลี่ยนนอกเขตภูมิภาค
ถ้าหากพิจารณาร่องรอยโบราณวัตถุ สถานที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมแล้ว ก็อาจพูดได้ว่า สินค้าเหล็ก และเกลือนั้นน่าจะส่งเข้ามาทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกทางหนึ่ง ทางที่สองไปทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งลาวและเวียดนาม ส่วนทางสุดท้ายคือลงไปทางใต้ ข้ามแอ่งเขาพนมดงเร็กไปสู่ที่ราบเขมรต่ำ แถบลุ่มทะเลสาบเขมรในกัมพูชา
โดยเฉพาะกับทางเมืองพระนครหรือกัมพูชาที่อยู่ทางใต้นี้ น่าจะเป็นกลุ่มบ้านเมือง ที่สัมพันธ์กับการแลกเปลี่ยนสินค้าเกลือกับแอ่งโคราชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าบริเวณใดทั้งหมด เพราะตามแหล่งผลิตเกลือโบราณมักพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบขอมปะปนอยู่ด้วยเสมอ อีกทั้งบรรดาแหล่งผลิตเกลือใหญ่ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ล้วนอยู่ในเส้นทางคมนาคมไปยังกัมพูชามากกว่าที่อื่น ๆ ทั้งนี้เพราะกัมพูชาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองและมีผู้คนหนาแน่น ความต้องการเกลือสินเธาว์ย่อมมีสูง และต้องการเป็นจํานวนมาก
ยิ่งกว่านั้น ในราชอาณาจักรกัมพูชาเองก็ยังมีทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่กว่าที่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งสะสมพันธุ์ปลาที่เป็นอาหารสําคัญของมนุษย์ เกลืออีสานน่าจะมีบทบาทในการทําปลาแห้ง ปลาหมัก ปลาดอง และปลาร้า อยู่ไม่ใช่น้อย
เกลือ เป็นทั้งอาหารในชีวิตประจำวันตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน แล้วยังเป็นสินค้า และพลังงานใช้ลดจุดหลอมเหลว ถลุงเหล็ก จนสังคมก้าวหน้าขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่
อ่านเพิ่มเติม :
- เกลือสินเธาว์อีสาน : ลมหายใจของอุตสาหกรรมครัวเรือน
- “พริกกะเกลือ” ไม่ได้แค่จิ้มผลไม้ ยังเป็นอาหารในหลายพื้นที่
- แหล่งทำเกลือโบราณที่พิษณุโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 24 เมษายน 2562