ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2530 |
---|---|
ผู้เขียน | ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม |
เผยแพร่ |
ในเขตบ้านน้ำหัก ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก มีบริเวณที่เคยเป็นแหล่งผลิตเกลือโบราณอยู่ 2 แห่ง ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน
ตำแหน่งที่พบอยู่ในที่ลุ่มหน้าเขาเด่น และเขาคู่ ในบริเวณที่เรียกว่า “โป่งนาหนองกะพ้อ” แห่งหนึ่ง และ “โพนนาหนองไผ่” อีกแห่งหนึ่ง
ทั้ง 2 แห่งนี้ ภาควิชามานุษยวิทยา ได้สำรวจพบมาประมาณ 3 ปีกว่าแล้ว
มาในปีนี้ได้ไปทำการสำรวจศึกษาเพิ่มเติมพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญทางปฐพีสัณฐาน และทางดินจากศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก นั่นก็คือการถางป่าเพื่อเอาพื้นที่ทำพืชไร่ของชาวบ้านในบริเวณนี้ ทำให้แลเห็นเนินดินที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์อีกหลายเนิน ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ลุ่มที่เป็นหนองน้ำและธารเกลือ แสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกลือขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคทีเดียว
ผู้เชี่ยวชาญทางดินและธรณีวิทยาชาวญี่ปุ่น คือศาสตราจารย์ ทากาย่า และ ฟูรูกาว่า ให้ความเห็นว่า บริเวณที่เป็นที่ลุ่มและธารเกลือนั้นเกิดจากการยุบตัวของเกลือที่อยู่ใต้ดิน ทำให้เกิดเป็นแอ่งน้ำและธารน้ำขึ้น เป็นลักษณะที่เรียกว่า “ซิงค์โฮล” (sink hole) ทำให้เกลือซึมขึ้นมาบนผิวดิน เกิดเป็นคราบขาวในบริเวณที่ลุ่มและธารน้ำ
นับเป็นแหล่งเกลือธรรมชาติที่น่าสนใจมาก ไม่พบในที่อื่นๆ ในเขตจังหวัดใกล้เคียง
ในการสำรวจเนินดินที่อยู่ในบริเวณธารเกลือดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าและ ผศ.ดร. พรชัย สุจิตต์ พบเศษภาชนะดินเผาที่มีทั้งแบบเผาธรรมดา แบบเผาแกร่ง (stone ware) และแบบเคลือบเป็นจำนวนมาก เมื่อพิจารณาตามรูปแบบแล้วก็เป็นเศษภาชนะที่พบในเขตแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะแบบเคลือบนั้นเป็นของที่มาจากเตาเกาะน้อย ที่เมืองศรีสัชนาลัย
บรรดาภาชนะเคลือบดังกล่าวนี้มีชนิดที่เคลือบแต่เพียงด้านในด้านเดียว ส่วนด้านนอกปล่อยด้าน เป็นแบบเดียวกันกับที่พบในเตาดินที่จัดเป็นเตารุ่นแรกๆ ของเตาเกาะน้อย
นอกนั้นพบเศษภาชนะเคลือบแบบจีน ที่มีอายุแต่สมัยราชวงศ์หงวนและราชวงศ์เหม็งตอนต้น ปะปนอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากรูปแบบภาชนะเคลือบดังกล่าว ก็จะประมาณอายุของแหล่งทำเกลือในบริเวณนี้ได้ว่า อยู่ในสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเนินดินใกล้ธารเกลือนี้เป็นแหล่งทำเกลือโบราณแน่ก็เพราะพบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบหนาๆ คงเป็นภาชนะขนาดใหญ่ที่ใช้ในการต้มเกลือ และใส่เกลือกระจายอยู่ทั่วไป เป็นภาชนะที่ไม่พบในที่อื่นๆ
อีกทั้งบริเวณรอบๆ เนินดิน ก็เป็นบริเวณที่มีรอยเผาไหม้ของภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่มีการเผาไหม้ปะปนอยู่เช่นกัน
ในการกลับมาสำรวจศึกษาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ศกนี้ พบเนินดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วทำให้เข้าใจว่าเนินดินเหล่านี้มีทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งทำเกลือไปในเวลาเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอาชีพในการทำเกลือโดยเฉพาะ และอยู่ในขั้นที่ผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคในระดับภูมิภาค หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นแหล่งเกลือสำหรับบ้านเมืองในเขตแคว้นสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียงด้วย
จึงนับว่าเป็นแหล่งทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่ง
แต่นับว่าเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ทางกรมศิลปากรและทางจังหวัดเองไม่เคยเห็นคุณค่า ปล่อยให้ราษฎรรุกที่ใช้แทรกเตอร์ ทำลายเนินดินเพื่อทำการปลูกพืชไร่เสียมากแล้ว
แต่สภาพที่ยังอยู่ในขณะนี้ก็ยังไม่สายเกินไป สมควรที่ผู้สนใจจะได้กระตุ้นให้มีการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
อย่างน้อยก็จะทำให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดพิษณุโลกเองก็เคยเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญในอดีตของแคว้นสุโขทัยด้วย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565