“พริกกะเกลือ” ไม่ได้แค่จิ้มผลไม้ ยังเป็นอาหารในหลายพื้นที่

พริกกะเกลือ
เครื่อง “พริกกะเกลือ” หลักๆ มีเพียงมะพร้าวขูดคั่ว เกลือป่น น้ำตาลปี๊บเท่านั้น

พริกกะเกลือ แวบแรกที่ได้ยินคำนี้ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงพริกกะเกลือ ที่รถเข็นขายผลไม้สดผลไม้ดองแถมมาให้ ที่บางเจ้าก็ใช้น้ำตาลทราย บางเจ้าก็ใช้น้ำตาลปี๊บ

แต่ยังมีพริกกะเกลือที่เป็นอาหาร ซึ่งแต่ละถิ่นก็แตกต่างกัน

เรื่องนี้ กฤช เหลือละมัย ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “‘พริกกะเกลือ’ ยังเหลืออยู่กี่แบบ” (ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2563) ขอเก็บความบางส่วนมานำเสนอดังนี้

เริ่มจากพริกกะเกลือที่ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ “น. ณ ปากน้ำ” เคยกินที่สุโขทัย และเขียนเล่าไว้ในหนังสือ อาหารรสวิเศษของคนโบราณ (พ.ศ. 2542) ตอนหนึ่งว่า

“ดังที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้แล้วว่า สมัยเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ไปกินอาหารที่เมืองเก่าสุโขทัย ชาวบ้านเขาจัดอาหารมาเลี้ยง น้ำพริกของเขาตรงตามชื่อที่เราเรียกกัน คือ ‘พริกกะเกลือ’ เขาเอาพริกสดโขลกกับเกลือ เอามาจิ้มผักหรือปลาย่าง ไก่ย่าง กินกันเป็นอาหารง่ายมาก…”

พริกกะเกลือของคนภาคตะวันออก 3 จังหวัด อย่างจันทบุรี ระยอง ตราด ที่ใช้จิ้มของทะเลปรุงสุก หรือคลุกข้าวกินกับเนื้อสัตว์บกสัตว์น้ำปิ้งย่างเพื่อชูรส ที่ทำจากพริกสด กระเทียม เกลือ โขลกละเอียด ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำมะปี๊ด (ส้มจี๊ด) ลักษณะเหมือนน้ำจิ้มซีฟู้ดที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะอาหารจานเดียวที่เป็นเอกลักษณ์ต่างภูมิภาค นั่นก็คือ “ข้าวคลุกพริกเกลือ” รสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม กินกับกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ

พริกกะเกลือที่เป็นอาหารมอญ เป็นเมนูบรรพบุรุษที่ติดตัวกระทั่งอพยพย้ายถิ่นฐานมายังสยาม ที่ ดร. องค์ บรรจุน นักวิชาการมอญรุ่นใหม่ อธิบายไว้ว่า

“พริกกะเกลือที่คนมอญเรียกกันว่า ‘อะรอจก์เบอ’ นั้น คนมอญเก่าๆ แถวบางขันหมาก ลพบุรี เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนการกินอยู่แร้นแค้น ถึงคราวที่ไม่มีอะไรจะกินกับข้าวก็เอาพริกแห้งคั่ว ตำให้แหลก ใส่เกลือกะเค็มปะแล่มๆ เอามาคลุกข้าวกิน เหลือเก็บเอาไว้กินได้นาน จึงเรียกกันว่าพริกเกลือ ข้อมูลนี้ตรงกับมอญที่โพธาราม ราชบุรี ต่อมาในยุคหลัง ผู้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงใส่มะพร้าว ใส่งา ใส่ถั่ว และเลิกใส่พริก เพราะรสชาติไปด้วยกันไม่ได้ แต่คนยังเรียกขานในชื่อเดิมว่าพริกเกลือ”

พริกกะเกลือของคนสุพรรณบุรี, คนนครปฐม และชานเมืองด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ นอกจากพริกกะเกลือ บางบ้านยังผสมปลาย่างป่น งาคั่ว หรือถั่วลิสงคั่วป่นตำรวมไปด้วย ส่วนใหญ่กินพริกกะเกลือคลุกข้าวสวย บางครั้งแนมด้วยไข่เค็มดี, เนื้อเค็มปิ้ง, ผลไม้อย่างแตงโม หรือสับปะรด ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีบางพื้นที่ใช้พริกกะเกลือต่อยอดไปเป็นอาหารจาน เช่น “ยำส้มโอ” ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ กรุงเทพฯ ที่ใช้พริกกะเกลือแบบร่วน ผสมกุ้งแห้งป่น ถั่วลิสงป่น คลุกเคล้ากับส้มโอแกะกลีบ

แม้จะชื่อ “พริกกะเกลือ” แต่พริกกะเกลือหลายพื้นที่ที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีพริกผสมเลยก็มี แต่ทำไมเรียกพริกกะเกลือ นี่อาจเป็นการตั้งชื่อสิ่งหนึ่งให้มีความหมายเชิงเปรียบเปรยไปถึงอีกสิ่งหนึ่ง เหมือนกับแกล้มอย่าง “ไก่สามอย่าง” ที่มีเพียงตะไคร้ ขิง ถั่วลิสงคั่ว ก็ไม่มีไก่สักชิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2566