ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ประวัติศาสตร์ “เสียดินแดน” ยุคล่าอาณานิคม มุมมองต่อ สนธิสัญญาปี 1909 ระหว่าง สยาม – อังกฤษ และการแลก “ดินแดนมลายู”
ปัญหาเรื่อง “เสียดินแดน” ของไทย เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คน เมื่อมีการทำเป็นงานวิชาการดีๆ จึงนำมาเสนอแก่ท่านผู้อ่าน ซึ่ง ฐนพงษ์ ลือขจรชัย ได้ศึกษาค้นคว้าทำเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท หัวข้อ “ปัจจัยที่มีผลต่อการตกลงพรมแดนในดินแดนมลายูระหว่างสยามและอังกฤษในสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1909” ก่อนจะปรับปรุงเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะชื่อ “เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับPlot Twist” ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้
สยามและอังกฤษได้เจรจาสนธิสัญญา ค.ศ. 1909 โดยมีข้อตกลงให้สยามต้องโอนสิทธิ์เหนือ ดินแดนมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิศ และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกกับการยกเลิกอนุสัญญาลับ ค.ศ. 1897 [1] ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และกู้เงินสำหรับการสร้างทางรถไฟสายใต้ของสยาม
ก่อนที่จะที่มีการลงนามในสัญญามีการเจรจาด้วยกันหลายครั้ง
การเจรจาสิ้นสุดลงโดยมีสาระสําคัญว่า
1. สยามโอนสิทธิ์การปกครองและบังคับบัญชาเหนือกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษรับจะใช้หนี้สินทั้งหมดที่รัฐเหล่านี้มีต่อสยามแทน ส่วนดินแดนมลายูที่ยังคงอยู่กับสยาม ได้แก่มณฑลปัตตานี ทั้งมณฑลสตูล (แบ่งมาจากไทรบุรี) และตากใบ (แบ่งมาจากกลันตัน)
2. ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในสยามได้
3. ยกเลิกอนุสัญญาลับ ค.ศ. 1897
4. อังกฤษให้เงินกู้แก่สยามจํานวน 4.63 ล้านปอนด์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
สนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. 1909 สร้างความรู้สึกต่อผู้คนร่วมสมัยที่แตกต่างกัน
จอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์บันทึกว่า เมื่อสุลต่านตรังกานูทราบข่าวการทําสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษก็พยายามชี้แจงว่า ต้นไม้เงินต้นไม้ทองไม่ใช่ สัญลักษณ์ของการยอมรับอํานาจของสยาม (Token of Suzerain) แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของมิตรภาพเท่านั้น (Token of Friendship) ทั้งไม่เข้าใจเลยว่าทําไมสยามจึงสามารถโอนดินแดนไปให้อังกฤษได้ เพราะสยามไม่เคยเป็นเจ้าของตรังกานูมาก่อน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายอังกฤษได้ตีความว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นประจําเช่นนี้ถือว่า เป็นการยอมรับอธิปไตยของสยามแล้ว และตามบันทึกของเบกเก็ตต์ สุลต่านตรังกานูได้ประณามสยามว่าเป็นขโมยที่ยกของที่ไม่ใช่ของตนเองให้คนอื่น และแสดงความเห็นอย่างขมขื่นว่า รัฐบาลอังกฤษทําสัญญาโดยไม่ปรึกษาตนเองก่อน
อาเธอร์ แอดัมส์ (Arthur Adam) ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจําไทรบุรีบันทึกว่า สุลต่านแห่งกลันตันโกรธเคืองสยามมากที่ประเทศและประชาชนถูกขายไป โดยสุลต่านกลันตันกล่าวว่าสามารถให้อภัยคนซื้อได้แต่ให้อภัยคนขายไม่ได้ พร้อมทั้งส่งใบบอกมายังกรุงเทพฯ ว่า ตนไม่ต้องการไปอยู่กับอังกฤษ
โดยเหตุที่สุลต่านแห่งกลันตันโกรธเคืองเช่นนี้ก็เพราะท่านเข้าใจว่า ที่รัฐบาลสยามโอนกลันตันไปให้อังกฤษเพราะต้องการให้อังกฤษใช้หนี้ของกลันตันที่มีต่อสยาม ตามสําเนาใบบอกความว่า “แลในข้อสัญญา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมแลกหรือยกเขตร์แขวงเมืองกลันตันให้กับเจ้าแผ่นดินอังกฤษ แลพระเจ้าแผ่นดินกรุงอังกฤษจะได้ใช้หนี้ของเมืองกลันตันซึ่งเกี่ยวข้องอยู่นั้น”
สําหรับชาวเยอรมัน ไวเลอร์ เจ้ากรมการรถไฟ ได้บันทึกว่า “สําหรับรัฐบาลเยอรมันแล้ว นี่คือการกระทําที่ดูหมิ่นของชาวอังกฤษ” เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้ได้กีดกันชาวเยอรมันออกจากมลายูอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสยามเองก็กังวลในประเด็นดังกล่าวได้การหารือกันว่าควรพิมพ์อนุสัญญาลับ ค.ศ. 1897 ออกเผยแพร่หรือไม่
โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรเผยแพร่เพื่อไขข้อข้องใจแก่ชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะเยอรมนีที่ถูกปฏิเสธสัมปทานไปหลายครั้งก่อนหน้านั้น และเพื่อให้ประเทศอื่นเข้าใจว่าการทําสัญญาในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการสละดินแดนเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ในที่สุดรัฐบาลสยามตัดสินใจไม่เผยแพร่อนุสัญญาลับเพราะเกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากอื่นแทน
สนธิสัญญาปี 1909 ฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาพรมแดนฉบับเดียวตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่รัฐบาลต้องชี้แจงถึงเหตุผลในการทําสนธิสัญญา ก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้เพียง 1 วันมีการเรียกประชุมเสนาบดีเพื่อชี้แจงเหตุผลในการทําสนธิสัญญา โดยมีสาระสําคัญดังนี้
“พระราชอาณาเขตรกรุงสยามมีสองชั้น คือหัวเมืองชั้นในกับชั้นประเทศราช…การตัดพระราชอาณาเขตรแหลมมลายูครั้งนี้ ส่วนที่เป็นของเราแท้กล่าวคือ มณฑลปัตตานีเราจัดการปกครองอย่างหัวเมืองทั้งปวง ส่วนที่เอามาปกครองไม่ได้เช่นที่ตัดออกไปนี้ ก็นับวันแต่จะเหินห่างจากเราไปทุกที…ในเวลานี้เรายังมีของที่มีราคาอยู่ จึงควรถือเอาราคาอันนี้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น…แลราคาของหัวเมืองแขกก็จะตกต่ำลงไปทุกที จึงเห็นว่าแลกเปลี่ยนกันเสียเวลานี้ดีกว่า…
การเสียพระราชอาณาเขตรไปครั้งนี้ ก็เป็นที่เสียพระเกียรติยศมาก เป็นที่เศร้าสลดเสียใจอยู่ แต่ครั้นจะเอาไว้ก็มีแต่จะเกิดความร้อนใจ…เพื่อจะได้จัดการปกครองให้ทั่วถึงในส่วนที่เป็นของเรา เราจะมีอํานาจมากกว่าเมื่อมีเมืองที่ไม่มีอํานาจพ่วงอยู่ เพราะว่าเมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองให้ได้สิทธิขาดจริงๆ เช่นเมื่อเกิดโจรผู้ร้ายที่สําคัญขึ้น เราต้องจัดเรือรบไปปราบปราม เป็นต้น เป็นการที่ต้องเสียเปล่า เพราะเหตุฉะนี้จึงตกลงทําสัญญาแลกเปลี่ยน…
เราไม่มีความประสงค์อันใด นอกจากที่จะให้หัวเมืองมลายูเป็นพระราชอาณาเขตชั้นนอกติดกับฝรั่ง อีกประการหนึ่ง เมืองเหล่านี้ปรากฏว่าอยู่ในเขตรของไทยจะตกไป แต่อังกฤษเข้ามาบํารุงก็ไม่ขาดทุนอันใด ชั่วแต่ไม่ได้ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่เป็นราคากี่มากน้อย แต่ก็ยังรู้สึกเป็นการเสียเกียรติอยู่ ส่วนเขตรแดนที่แบ่งคราวนี้ ตัดเขตรแดนเมืองกลันตันหน่อยหนึ่ง เขตรแดนเมืองไทรหน่อยหนึ่ง มาเพิ่มมณฑลปัตตานี แต่เมืองสตูลที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรนั้น ตัดขาดมาขึ้นมณฑลภูเก็ตทีเดียว ตั้งแต่นี้ไปเราไม่มี ประเทศราชอีก เลิกได้หมดทีเดียว”
อย่างไรก็ดีรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรณีพรมแดนครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เรื่องเขตรแดน ความจริงเป็นอย่างไรฉันรู้สึก ชัดเจนถือว่าการที่ได้ตกลงเช่นนี้ เป็นข้อที่ระงับความลำบากอันน่าจะเกิดขึ้นระหว่างอังกฤษกับไทยเสียได้ทางหนึ่ง แต่เปนธรรมดาที่ฉันเคยรู้สึกตัวมาช้านานว่าเมืองทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเรามากฤาน้อยเพียงใดตามที่เป็นอยู่ ก็ยังรู้สึกว่าเป็นของกรุงสยาม
เมื่อต้องปราศจากไปก็ย่อมเปนที่เศร้าใจอยู่เปนธรรมดา อีกประการหนึ่งคนที่จะรู้ความจริงว่าเมืองเหล่านี้ เกี่ยวข้องแก่เรามากน้อยเพียงใดนั้นน้อย คนในเมืองเราเองอาจจะคิดเห็นว่า ฉันได้อยู่นานมาได้ด้วยยอมลดตัวเล็กลงไปทุกที่ซึ่งมีเวลาหมด ส่วนคนภายนอกทั่วไปกล่าวคือโลกนี้จะเห็นว่าเมืองไทยมีแต่เวลายุบลงไป ไม่ใช่เวลาที่อยู่ตัว ด้วยเหตุเหล่านี้ถึงว่าจะเป็นความจริงบ้างเกินความจริงบ้าง เมื่อรวมกันเข้าหมด ทําให้ใจฉันเศร้าหมองเหี่ยวแห้งไปเป็นอันมาก”
ข้อมูลอีกมากมาย ขอท่านโปรดติดตามอ่านจาก “เสียดินแดนมลายูประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist” โดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
อ่านเพิ่มเติม :
- ตัวตนของ “มลายู” หรือประเทศมาเลเซีย ในแบบเรียนไทย
- เสียน-สยาม ไม่ใช่ “สุโขทัย”? และสัมพันธ์ที่ไม่เคยคาดคิดกับมลายู?
- “นราธิวาส” เดิมเรียกเป็นภาษามลายูว่า “เมอนารา” หรือ “เมอนารอ”
เชิงอรรถ :
[1] เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 (13 กรกฎาคม ร.ศ. 1893 ) ที่สยามและอังกฤษทำอนุสัญญาลับ ค.ศ. 1897 อันมีผลให้ดินแดนตั้งแต่เมืองบางสะพาน(ประจวบคีรีขันธ์) จนสุดมลายูเป็นเขตอิทฤธฺพลของอังกฤษ โดยสยามไม่อาจยกหรือโอนดินแดนส่วนนี้ให้แก่มหาอำนาจอื่นใด แลกกับการที่อังกฤษรับรองอธฺปไตยในดินแดนส่วนนี้ให้สยามและรับปากที่จะร่วมกันต่อต้อานมหาอำนาจอื่นใดที่จะเข้มายุดหรือครอบครองดินแดนส่วนนี้
ข้อมูลจาก :
ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ปัจจัยที่มีผลต่อการเจรจาในสนธิสัญญา ค.ศ. 1909 ระหว่างสยามกับอังกฤษ (1)”, เสียดินแดนมลายูประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, กุมภาพันธ์ 2562.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2562