“นราธิวาส” เดิมเรียกเป็นภาษามลายูว่า “เมอนารา” หรือ “เมอนารอ”

ขบวน พาเรด นราธิวาส
หญิงชาวมุสลิมในขบวนพาเรดเทศกาลของดีเมืองนรา นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2009 (ภาพจาก AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA)

นราธิวาส เดิมเรียกเป็นภาษามลายูว่า เมอนารา หรือเมอนารอ ชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธออกเสียงบางนรา หรือบางนาค คำว่า เมอนารา มาจากคำว่า กัวลา เมอนารา (Kuala Mernara) หมายถึงกระโจมไฟหรือหอคอยที่ปากน้ำ

สมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นหมู่บ้านเมอนาราขึ้นกับเมืองสายบุรี ต่อมาโอนหมู่บ้านแห่งนี้ไปขึ้นกับเมืองระแงะ ภายหลังหมู่บ้านเมอนาราเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นจึงย้ายศาลาว่าการเมืองระแงะ มาตั้ง ณ หมู่บ้านดังกล่าว

ยุคการปกครองแบบเทศาภิบาลได้ยกฐานะหมู่บ้านเมอนาราขึ้นเป็น เมืองนราธิวาส ชื่อเมืองนี้หมายถึงที่อยู่อันกว้างใหญ่ของประชาชน ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนการปกครองแบบจังหวัดแล้ว จึงจัดตั้ง นราธิวาส เป็นจังหวัด

ส่วมเมืองระแงะลดฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของนราธิวาส และเมืองสายบุรีเป็นอำเภอหนึ่งของปัตตานี

ตรา ประจำ จังหวัด นราธิวาส เรือใบ กำลัง แล่น
ตราประจำจังหวัดนราธิวาส ภาพเรือใบกำลังแล่น กลางใบเรือมีภาพช้างแต่งเครื่องคชาภรณ์อยู่ในวงกลม เบื้องหลังมีรัศมีพระอาทิตย์อุทัย

นราธิวาสปัจจุบันมี 13 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอตากใบ อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอระแงะ อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอศรีสาคร อำเภอจะแนะ และอำเภอเจาะไอร้อง

อำเภอเมืองนราธิวาสมีชื่อถนนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ เช่น

ถนนภูผาภักดี หมายถึงพระยาภูผาภักดีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา (เต็งกูเงาะห์ หรือต่วนเงาะห์ ซัมซุดดิน) เจ้าเมืองระแงะคนสุดท้าย

ถนนสุริยะประดิษฐ์ หมายถึงพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดีศรีมหารายาฯ (เต็งกูอับดุลมุตตอลิบ) เจ้าเมืองสายบุรีคนสุดท้าย ช่วงนั้นเมืองสายบุรีมีอาณาเขตไปถึงอำเภอเมืองนราธิวาสปัจจุบัน

พระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา เจ้าเมืองระแงะคนสุดท้าย

อำเภอสุไหงโก-ลก คำมลายูคือสุไหง หมายถึงแม่น้ำหรือลำคลอง โก-ลก หมายถึงมีอีโต้ มีดยาวใหญ่ มีดงอ หรือมีดครกของชาวใต้ รวมความแล้วสุไหงโก-ลก หมายถึงแม่น้ำที่คดเคี้ยวเหมือนมีดดังกล่าว

หรือเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องการติดตามช้างงาดำ ปรากฏว่ามีดโค้งงอของควาญช้างตกหายลงในแม่น้ำแห่งนี้ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่าสุไหงโก-ลก

บ้างว่าชาวจีนชื่อโก-ลก มาตั้งถิ่นฐานที่ริมแม่น้ำนี้เป็นคนแรกเมือง 70-80 ปีมาแล้ว สุไหงโก-ลกขึ้นอยู่กับอำเภอสุไหงปาดี สุไหงโก-ลกขณะนั้นมีชาวบ้านอาศัยอู่ 7-8 หลังคาเรือน นอกนั้นเต็มไปด้วยดงไม้จันดุหรี หรือจามจุรี อีกชื่อหนึ่งว่าต้นก้ามปู

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้มาสุดทางที่สุไหงโก-ลก ประกอบกับกำนันวงศ์ ไชยสุวรรณ ผู้บุกเบิกนำพัฒนาสุไหงโก-ลกในช่วงแรก จนเป็นชุมชนใหม่โตตามลำดับ ปัจจุบันสุไหงโก-ลกเป็นอำเภอสำคัญของนราธิวาส อยู่ติกับเขตแดนมาเลเซียที่หมู่บ้านรันตูปันยัง (Runtau Panjang) หมู่บ้านนี้หมายถึงชายฝั่งที่ทอดยาว

อำเภอสุไหงปาดี หมายถึงแม่น้ำที่ใช้ลำเลียงข้าวเปลือก (สุไหง = แม่น้ำหรือลำคลอง, ปาดี = ข้าวเปลือก) เล่ากันว่าสมัยนั้นสองฝั่งแม่น้ำที่สุไหงปาดีเป็นแหล่งปลูกข้าว สามารถนำข้าวเปลือกไปขายยังท้องถิ่นอื่นๆ โดยอาศัยเรือ

ขบวน เรือ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นราธิวาส
ขบวนเรือรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเมืองนราธิวาสเมื่อ พ.ศ. 2458

อำเภอตากใบ หมายถึงตากใบเรือหรือที่พักเรือ เช่น เรือสำเภา ฝั่งตากใบเป็นที่กำบังคลื่นลมได้ดี และมีชื่อบ้านอู่ เขตตำบลพร่อน ซึ่งหมายถึงอู่เรือ ชาวบ้านขุดพบซากเรือและสมอเรือเป็นหลักฐาน

ชาวอำเภอตากใบมีบุคลิกพิเศษอย่างหนึ่ง คือเสียงพูดไม่เหมือนชาวใต้ทั่วไป ภาษาตากใบบางคนเรียกภาษาเจ๊ะเห สำเนียงคล้ายภาคใต้ผสมภาคเหนือปลายเสียงทอดยาวพลิ้วไหว บางศัพท์ฟังแปลกออกไป เช่น ความตายว่า “ดอย” รั้วไม้ว่า “สายค่าย” จะทำอย่างไรเล่าว่า “ยาหรือ” พริกขี้หนู่า “ลูกกะจีน” แถมมีศัพท์เขมรเช่น ร่มว่า “กลด” ไฟว่า “เพลิง” กางเกงว่า “สนับเพลา” ฯลฯ

เสียงพูดชาวตากใบยังคล้ายกับเสียงชาวไทยพุธที่ปะนาเระ สุไหงปาดี แว้ง รวมถึงคนไทยที่รัฐกลันตันฝั่งมาเลเซีย เข้าใจว่าครั้งโบราณมีการย้ายผู้คนจากภาคเหนือลงมาภาคใต้

นิทานพื้นบ้านที่ตากใบสืบเนื่องมาจากนิทานติดตามช้างจากอำเภอสุไหงโก-ลก เช่น มีชื่อหมู่บ้านปลักช้าง (ชื่อวัดหมู่บ้านนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็นฉัททันต์สนาน) บ้านไพรวัลย์มาจากบ้านพลายวัน หมายถึงช้างเชือกนั้น หมู่บ้านที่ช้างไปล้มตายเรียกเป็นคำมลายูว่า กาเยาะมาตี (กาเยาะ = ช้าง, มาตี = ตาย) ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบาเจาะ

ตาบา เป็นชื่อตำบลริมทะเลเขตตากใบ เข้าใจว่าตาบาเป็นคำมลายู คงกลายเสียงมาจากตากใบ หรือมิฉะนั้นตากใบกลายเสียงมาจากตาบา ภาษามลายูกลางออกเสียงตาบาว่าตาบัล แปลว่าราชาภิเษก เล่ากันว่ากษัตริย์ปัตตานีก่อนครองเมืองจะไปประกอบพิธีราชาภิเษกที่นั่น

นอกจากตาบัลเป็นคำมลายู พจนานุกรมภาษาอังกฤษ-อาหรับ (Elias Modern Dictionary Arabic-English) มีคำว่าตาบัล หมายถึงกลองตีให้จังหวะ เพราะตากใบเคยเป็นเมืองหน้าด่าน เมื่อเรือต่างประเทศเข้ามาหรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ

เจ๊ะเห เป็นชื่อตำบลที่ตั้งตัวอำเภอตากใบ คำมลายูเจ๊ะหรือเจะ หมายถึงคำนำหน้าผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีเชื้อสายผู้ดีมีตระกูล เจ๊ะยังหมายถึงคำสรรพนามที่ลูกเรียกพ่อแม่ ส่วนเหหมายถึงชื่อคน เจ๊ะเหอาจเป็นชื่อชาวบ้านไปตั้งหลักปักฐานที่นั่นเป็นคนแรก

บางท่านบอกว่า เจ๊ะเหมาจากคำว่า เจ๊ะเว หมายถึงพ่อจ๋า มีเรื่องเล่าว่าพ่อพาลูกไปตัดฟืนในป่า ขณะพ่อตัดฟืนลูกไปวิ่งเล่นจนไกล เลยหลงทาง จึงร้องตะโกน เจ๊ะเว! เจ๊ะเว! หรือ พ่อจ๋า! พ่อจ๋า! ต่อมาเจ๊ะเวกลายเสียงเป็นเจ๊ะเห นิทานเรื่องนี้จบลงด้วยพ่อลูกพบกัน

บ้านพร่อน ชื่อตำบลเขตตากใบ พร่อนมาจากคำว่า พระร่อน

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีพระพุทธรูปสององค์พี่น้องลอยน้ำมาติดฝั่งที่ตำบลนี้ ชาวบ้านอัญเชิญพระพุทธรูปองค์น้องขึ้นฝั่งก่อน องค์พี่เลยไม่พอใจ จึงแสดงอิทธิฤทธิ์เป็นดวงไฟลอยหายไปในท้องฟ้า ชาวบ้านเลยเรียกพระร่อน ต่อมากลายเสียงเป็นพร่อน

ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์น้องประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดพระพุทธ เดิมเรียกวัดใต้ตีน หมายถึงวัดอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เพราะชาวใต้นิยมนอนหันศรีษะไปทางทิศใต้ และปลายเท้าไปทางทิศเหนือ

ที่ตำบลพร่อน มีชื่อบ้านโคกอิฐ เล่ากันว่ามีทองฝังใต้ดิน 11 ไห คือเศรษฐีผู้หนึ่งตั้งใจนำทองจำนวนนี้ไปร่วมทำบุญสร้างพระบรมฐาตุเจดีย์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช แต่ภายหลังทราบว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีจึงนำทอง 11 ไหไปฝังไว้ตรงสถานที่ดังกล่าว

ปัจจุบันมีผู้ลักลอบขุดทองตรงที่เรียกว่าโคกอิฐ ปรากฏว่าพบแต่อิฐและกากปูนเท่านั้น เล่ากันว่าเป็นเช่นนี้เพราะเจ้าที่ไม่ยินยอมนั่นเอง

วัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย อยู่ในเขตตากใบ เพราะครั้งไทยเสียดินแดนแก่อังกฤษ พ.ศ. 2452 ตอนทำสนธิสัญญานั้น ฝ่ายอังกฤษคิดจะรวบอำเภอตากใบเข้ากับเขตกลันตันที่เราเสียไปด้วย ฝ่ายไทยไม่ยินยอมอ้างวัดดังกล่าวว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมานานแล้ว ในที่สุดฝ่ายอังกฤษก็เห็นด้วย

วัดชลธาราสิงเห สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างคือพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุฒ) เล่ากันว่าลิ้นของท่านเป็นปานดำ จึงมีวาจาสิทธิ์ อีกอย่างหนึ่งคือบุคลิกท่านพระครูดูน่าเกรงขามเสมือนสิงห์ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดชลธาราสิงเห

อำเภอสุคิริน หมายถึงภูเขาทองเพราะพื้นที่แถบนี้มีสายแร่ทองคำใต้พื้นดิน ที่ต่อเนื่องมาจากตันหยงมัส (แหลมทอง) เขตอำเภอระแงะ อำเภอสุคิรินจึงมีชื่อหมู่บ้านให้ความหมายเป็นทอง เช่น บ้านสายทอง บ้านธารทอง บ้านชุมทอง บ้านทรายทอง และบ้านแหลมทอง

เดิมอำเภอสุคิรินเรียกกิ่งอำเภอปาโจ (ปาโจ = น้ำตก)  ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโมะ ภายหลังอำเภอโต๊ะโมะถูกยุบลงเป็นตำบล

สาเหตุที่จัดตั้งกิ่งอำเภอปาโจ เพราะมีฝรั่งเศสมาขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำในเขตนั้น และมีผู้คนเข้ามาอยู่กันหนาแน่น ทางราชการจึงจัดตั้งกิ่งอำเภอดังกล่าว เพื่อดูแลผลประโยชน์การจัดเก็บภาษีอากร

ครั้นเกิดสงครามอินโดจีน ชาวฝรั่งเศสจำเป็นต้องทิ้งเหมืองแร่เพื่อหนีภัยสงคราม ต่อมามีคนไทยเข้าไปดำเนินงานแทน แต่ภายหลังล้มเลิกกิจการ คนไทยที่อยู่บริเวณนั้นก็อพยพออกไป กิ่งอำเภอปาโจจึงยุบลงโดยปริยาย

ต่อมาทางการแยกท้องที่ตำบลมาโมง และตำบลสุคิรินของอำเภอแว้งจัดตั้งเป็นอำเภอสุคิริน ชื่อกิ่งอำเภอนี้เดิมเป็นชื่อตำหนักที่สมเด็จพระศรีนครทราบรมราชชนนีพระราชทานเมื่อคราวเสด็จประทับแรมที่นั่น

โต๊ะโมะ เป็นตำบลที่อยู่ในเขตอำเภอสุคิริน ชื่อนี้หมายถึงผู้อาวุโสควรแก่การนับถือชื่อโมะ บ้างว่าโต๊ะโมะมาจากคำว่ากะเต๊าะเมาะ แปลว่าทุบตีแม่ คล้ายกับเรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ของจังหวัดยโสธร แต่กะเต๊าะเมาะกล่าวถึงลูกชายหาทองคำจนหิวข้าว เมื่อแม่นำอาหารมาเลยเวลาจึงพานโกรธแม่ เลยใช้เลียงที่ใช้สำหรับร่อนแร่ทุบตีแม่อย่างน่าอนาถ ผลกรรมเป็นอย่างไรนั้นนิทานไม่ได้กล่าวถึงเลย

ครั้งอดีตโต๊ะโมะเป็นแหล่งแร่ทองคำมีชื่อเสียงคู่กับบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ยุคแรกของผู้เข้ามาขอสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำที่โต๊ะโมะ คือกลุ่มคนจีนฮกเกี้ยนนำโดยฮิวซิ้นจิ๋ว และต่อมาบุตรชายชื่อจีนอาฟัดได้สืบกิจการต่อ

ภายหลังจีนอาฟัดได้เป็นขุนวิเศษสุวรรณภูมิ ท่านขุนผู้นี้คือบิดาของฉัตรชัยวิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นนักเขียนใช้นามปากกาว่า “พนมเทียน”

อำเภอแว้ง อาจมาจากคำมลายูว่าราแวง (rawang) หมายถึงหนองหรือบึงคำไทยถิ่นใต้จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แว้งหมายถึงมะเขือพวง

อำเภอระแงะ คำมลายูว่าเล้อะเค้ะ (legeh) หมายถึงต้นน้ำ ต้นลำธาร ระแงะอยู่ใกล้ภูเขาจึงเป็นแหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะบ้านซิโป ตันหยงมัส มีลองกองขนานแท้อยู่ที่นั่น

อำเภอบาเจาะ คำมลายูว่าบินจะห์ หมายถึงหนองน้ำหรือมาจากคำว่าบือเจาะหมายถึงที่ชื้นแฉะ หรือมีน้ำซึมอยู่เสมอ

อำเภอรือเสาะ คำมลายูหมายถึงไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง เป็นไม้เนื้อดีอย่างไม้สัก เดิมเรียกอำเภอนี้ว่า “ยะบะ” มาจากคำมลายูว่ายาบัต (jabat) หมายถึงที่ตั้งสำนักงานหรือที่ว่าการอำเภอ

ที่อำเภอรือเสาะมีภูเขาชื่อยะมูตัน มีความเกี่ยวพันกับเกาะปูเลาอาปีที่อำเภอไม้แก่น

เล่ากันว่าลูกชายอกตัญญูไปได้ดิบได้ดีเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน เห็นแม่ของตนขี้ริ้วขี้เหร่จึงแล่นเรือหนีจากไป ภายหลังเรืออับปางกลางทะเล ลูกชายถึงแก่ความตายกลายเป็นเกาะปูเลาอาปี

ฝ่ายแม่ภายหลังถึงแก่กรรมกลายเป็นภูเขายะมูตัน ครั้นถึงหน้ามรสุมทุกปีมีเสียงคลื่นจากเกาะปูเลาอาปี และเสียงลมจากภูเขายะมูตันเสมือนแม่และลูกคร่ำครวญถึงกัน

อำเภอยี่งอ คำมลายูว่าเย้อะริเวาหรือเย้อเงอ (jeringau) หมายถึงพืชคล้ายต้นแฝก หัวใช้ทำยา

อำเภอศรีสาคร เดิมเรียกบ้านซากอหมายถึงต้นมะกล่ำ

อำเภอจะแนะ คำมลายูหมายถึงที่น้ำตื้น หรือมาจากคำว่าซือแนะ (sene) หมายถึงต้นคราม

อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอนี้เพิ่งแยกมาจากอำเภอระแงะ เป็นคำมลายู เจาะหรือจาเราะ หมายถึงลำธารหรือสระน้ำที่มีฝั่งคดเคี้ยวเว้าแหว่ง

บางท่านอธิบายว่า เจาะหรือจาเราะหมายถึงลำธาร ไอมาจากคำว่าอาย-เอะหมายถึงน้ำ ส่วนรองหรือร้อง กลายเสียงมาจากคำว่าอลอ (alou) หมายถึงร่องน้ำดังเช่น เมืองหลวงรัฐเคดาห์ ชื่ออลอร์สตาร์หมายถึงบนฝั่งร่องน้ำมีต้นมะปราง ภาษาเขียนเขียนเจาะไอร้องเป็นเสียงคำไทยมากกว่าเสียงคำมลายู

ก่อนจบชื่บ้านนามเมืองนราธิวาส ขอเล่าถึงนิทานเรื่องหินนายแรงซัดนก กล่าวถึงนายแรงร่างใหญ่มีเรี่ยวแรงยิ่งกว่าช้างหลายร้อยเชือก พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกคนนี้ได้เพราะนายแรงกินจุมาก จึงออกอุบายให้ลูกทำงานหนักเพื่อให้ลูกอกแตกตาย โดยใช้ให้นายแรงไปแบกภูเขามาไว้ใกล้บ้าน

นายแรงหักต้นไม้ใหญ่หลายสิบคนโอบทำเป็นคานหาบยกภูเขา ผูกมัดด้วยเถาวัลย์เกี่ยวคานหาบทั้งสองข้าง จากนั้นรีบเดินกลับบ้านทันที เมื่อถึงเขาตันหยงซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ขณะที่นายแรงนั่งหยุดพักอยู่นั้นเขาเห็นนกบินผ่านศรีษะ จึงขว้างก้อนหินไปค้างที่ค่าคบไม้อยู่จนทุกวันนี้ ชาวบ้านจึงเรียกหินนายแรงซัดนก

เรื่องเล่าต่อไปว่าภูเขาที่นายแรงวางไว้ตรงคานหาบด้านหน้า ตกลงมากลายเป็นเขาพิพิธ ส่วนภูเขาตรงคานหาบด้านหลังตกลงในแม่น้ำบางนรา กลายเป็นภูเขาหินแดงมาจนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560