“สงขลาหอน นครหมา นราหมี” ภูมิปัญญาและอารมณ์ขันในการใช้ภาษาของชาวใต้

หมา หมี เกี่ยวพัน ภาษาใต้
หมาและหมี มีความเกี่ยวพันกับภาษาใต้อย่างไร

ภาษาใต้ แต่ละจังหวัด แม้จะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่มักมีความแตกต่างด้วยถ้อยคำและสำเนียง ตัวอย่างชาวใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ภูเก็ต พังงา และระนอง เรียกมะม่วงหิมพานต์ว่า ลูกกาหยี หรือ ลูกกาหยู ชาวใต้ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออก เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง เรียกมะม่วงหิมพานต์ว่า ลูกยาร่วง ลูกหัวครก หรือ ลูกเล็ดล่อ ส่วนชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เรียกอย่างคำมลายูว่า ลูกกระแตแหร

ชื่อหัวเรื่องบทความนี้เกี่ยวกับ ภาษาใต้ ของชาวสงขลาและชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งใช้คำปฏิเสธ คือ “ไม่” ต่างกัน แต่เข้าคู่คล้องจองกัน นั่นคือ สงขลาหอน นครหมา ส่วนชาวนราธิราสใช้คำว่าหมีในประโยคคำถามอย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าไปตามลำดับ ดังนี้

ขอเริ่มด้วยชาวสงขลาเมื่อพูดปฏิเสธ จะใช้คำว่า “ไม่หอน” นำหน้า คำว่าไม่หอน หมายถึง ไม่เคย เช่น ไม่หอนกิน = ไม่เคยกิน ไม่หอนทำ = ไม่เคยทำ ไม่หอนเห็น = ไม่เคยเห็น

คำว่า หอน ของชาวใต้ ตรงกับ ห่อน ของชาวภาคกลาง ซึ่งเป็นคำโบราณมักปรากฏในวรรณคดี พจนา
นุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายคำ “ห่อน” ว่าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เคย เช่น “ไป่ห่อนเหลือคิดข้า คิดผิด แม่นา” (ลิลิตพระลอ) คำว่า “ห่อน” ในคำประพันธ์บางคราวใช้แทนคำว่า ไม่ ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ เช่น สาลิกามาตามคู่ ชมกันอยู่สู่สมสมร แต่พี่นี้อาวรณ์ ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ (เห่ชมนก)

ทำนองเดียวกันชาวนครศรีธรรมราช เมื่อพูดปฏิเสธใช้คำว่า หมา หมายถึง ไม่ โดยหมานำหน้าคำนั้นๆ เช่น หมากิน = ไม่กิน หมาทำ = ไม่ทำ หมาเห็น = ไม่เห็น   

ตัวอย่างคำพูดของชาวสงขลา ชาวนครศรีธรรมราช และชาวภาคกลางซึ่งนำไปสู่สำนวนสงขลาหอน นครหมาดังนี้ (ดูตาราง)

screen-shot-2016-12-26-at-4-14-32-pmนราหมี ทำไมหมีมาเกี่ยวข้องกับชาวนราธิวาส หรือชาวบางนรา? ก่อนอื่นขอพูดถึงภาษาถิ่นชาวไทยพุทธของชาวบางนราที่บ้านเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเสียงและถ้อยคำแปลกไปจากชาวใต้ทั่วไป นักภาษาศาสตร์บางท่านให้เหตุผลว่าสมัยโบราณ มีการเคลื่อนย้ายหรืออพยพชาวเหนือลงมาสู่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่บ้านเจ๊ะเห จนเลยไปถึงรัฐกลันตัน

มีที่น่าสังเกตคือชื่อตำบลต่างๆ ของอำเภอตากใบ ส่วนมากเป็นภาษาไทยแทนที่จะเป็นภาษามลายู เช่น ตำบลนานาค เกาะสะท้อน พร่อน บางขุนทอง ไพรวัน และศาลาใหม่ มีชื่อเป็นภาษามลายูตำบลเดียว คือเจ๊ะเห ภาษาถิ่นตากใบดังกล่าวมิใช่พูดกันเฉพาะในตากใบหรือเจ๊ะเห แม้ในถิ่นปัตตานีใช้พูดในอำเภอยะหริ่ง สายบุรี มายอ ปะนาเระ และนราธิวาส ใช้พูดในอำเภอตากใบ สุไหงปาดี แว้ง (บางตำบล)

ที่ว่า “นราหมี” นั้นเกี่ยวกับภาษาถิ่นตากใบนี้เอง คือคำที่ใช้เป็นคำถามในภาษาตากใบ มีคำว่าหมีลงท้ายประโยคเสมอ เช่น

จะไปหมี = จะไปหรือไม่?

ยังอยู่หมี = ยังมีอยู่หรือเปล่า?

รู้กันแล้วหมี = รู้กันแล้วหรือยัง?

การลงท้ายประโยคคำถามเช่นนี้ จึงเรียกว่า “นราหมี” ต่อมามีผู้นำข้อความนี้ไปพูดต่อกับ “สงขลาหอน นครหมา” จึงกลายเป็นสำนวนยืดยาวออกไปแต่ชวนฟัง

นอกจากคำว่าหมี ใช้ในประโยคคำถามแล้ว ยังมีคำว่า เยียใด หมายถึง ทำไม เช่น มาเยียใด หมายถึง มาทำไม เยีย ยังใช้ในประโยคบอกเล่า เช่น เยียแหลฺง หมายถึง แกล้งพูดเล่น

ภาษาถิ่นตากใบมีคำศัพท์หลายคำต่างไปจากภาษาถิ่นใต้ทั่วไป เช่น คำว่าบิดามารดา สำหรับคนบวชแล้ว ใช้เรียกพ่อแม่ของตน และใช้คำสูงอย่างราชาศัพท์ เช่น เหน็บเพลา (สนับเพลา) = กางเกง สรง = อาบน้ำ กลด = ร่ม หรือใช้คำทั่วไป เช่น คลอด ใช้ทั้งคนและสัตว์ ดอย = ตาย คนจัด = คนขยัน ปล้ำไม้ = โค่นไม้ และลอยช้อน = ช้า ผ้าปล่อย = ผ้าขาวม้า ดาววี = ดาวลูกไก่ ลูกกะจีน = พริกขี้หนู, พริกชี้ฟ้า ลูกเสื้อ = กระดุม ฯลฯ

มีงานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาถิ่นตากใบหลายเล่ม ท่านที่สนใจควรติดตามอ่านต่อไป

สงขลาหอน นครหมา นราหมี เป็นสำนวนแสดงให้เห็นภูมิปัญญา และอารมณ์ขันในการใช้ภาษา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวใต้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2561