ก่อนกรุงศรีอยุธยา มีเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง อำเภอสามโคก ปทุมธานี

ภาพแสดงที่ตั้งทุ่งพญาเมือง จังหวัดปทุมธานี (ภาพประกอบจาก https://walailaksongsiri.com)

สามโคกอาจไม่ใช่ชื่อเก่านัก เพราะใน “พงศาวดารเหนือ” ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมเรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2350 มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงยกพลลงไปขุดบางเตย จะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้”

พระเจ้าสายน้ำผึ้งอาจเป็นกษัตริย์ในพงศาวดารที่สับสนหาหลักฐานการเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแห่งกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แต่ในตำนานพระองค์เป็นผู้สร้างวัดพนัญเชิงเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนางสร้อยดอกหมากมเหสีเชื้อสายจีน และวัดพนัญเชิงนี้เองที่มีการฉลองพระพุทธรูปก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี

บางเตยที่กล่าวถึงนี้คือคลองบางเตยในเขตสามโคก ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับทุ่งพญาเมืองเล็กน้อย การกล่าวว่าน้ำเค็มยังขึ้นถึงบางเตยก็แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้ถูกเลือกเพราะมีความเหมาะสมจะสร้างบ้านเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ได้ ทั้งใกล้ปากน้ำกว่าที่เกาะเมืองอยุธยา สะดวกในการเป็นชุมชนเมืองท่าภายในที่สัมพันธ์กับการพาณิชย์นาวีระหว่างภูมิภาค

ในปัจจุบันพบว่า หากน้ำทะเลหนุนในช่วงหน้าแล้งจัด น้ำเค็มก็สามารถขึ้นมาถึงแถวๆ ปากเกร็ดได้ จึงไม่น่าแปลกใจ หากน้ำเค็มจะขึ้นมาถึงบางเตยเมื่อหลายร้อยปีก่อน

เหนือจากคลองบางเตยขึ้นไปไม่ไกลนัก ใกล้กับคลองควายบริเวณบ้านบางกระบือ มีโคกเนินที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เรียกกันว่าโคกยายมั่นบ้านเก่า ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวัดมหิงสาราม ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองพ่อค้าเกวียนและสมบัติที่ถูกฝังไว้ บริเวณนี้พบเครื่องปั้นดินเผาจากหลากหลายแหล่งที่มา ที่น่าสนใจคือเครื่องถ้วยจากจีนในสมัยราชวงศ์หยวน จากเวียดนามในพุทธศตวรรษที่ 20 จากสุโขทัย ศรีสัชนาลัย จากบางปูน สุพรรณบุรี เป็นต้น วัดมหิงสารามนี้เป็นวัดร้างในปัจจุบัน ซากโบสถ์นั้นเป็นรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา

ฝั่งตะวันตกเยื้องกับคลองบางเตย มีร่องรอยของคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานตามยาวไปกับแนวของลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้รู้จักกันในชื่อ “ทุ่งพญาเมือง” โคลงกำสรวลสมุทรกล่าวถึงทุ่งพญาเมืองเมื่อเดินทางผ่านนั้นเมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว

จากมาเรือร่อนทั้ง   พญาเมือง

เมืองเปล่าปลิวใจหาย   น่าน้อง

จากมาเยียมาเปลือง   อกเปล่า

อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง   ร่ำหารนหา

หลังจากนั้นจึงผ่านเชียงราก บริเวณนี้เรียกว่า “เกร็ดใหญ่” ในภายหลัง เพราะมีการขุดคลองลัดตั้งแต่วัดบ้านพร้าว ในปัจจุบันจนถึงแถววัดมะขามหน้าตัวจังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบันเรียกแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตรงนี้ว่าคลองบางหลวงเชียงราก ลัดเกร็ดใหญ่นี้ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2145- 2170) ดังนั้นการเดินทางในกำศรวลสมุทรจึงมีขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ อย่างแน่นอน

ไก่ใดขนนนิ่งน้อง   นางเฉลอย

เชอญท่านทยานเปนผนน   ฝากแก้ว

เยียมาบลุะเสบอย   เชองราค

ไฟราคดาลแพร้วแพร้ว   พร่างตาฯ

บริเวณเชียงรากนี้ติดต่อกับทุ่งพระเสด็จ ซึ่งมีเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกแห่งหนึ่ง ปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ใกล้กับวัดเสด็จในปัจจุบัน สภาพของเมืองโบราณแห่งนี้แทบจะไม่เหลืออะไรนัก เพราะมีคลองประปาขุดตัดผ่านส่วนหนึ่ง และพื้นที่บริเวณนี้ก็มีการใช้ที่ดิน เนื่องจากการขยายของเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมมาจากฝั่งรังสิต

ทั้งทุ่งพญาเมืองและทุ่งพระเสด็จเป็นชุมชนโบราณด้วยกันทั้งสองแห่ง น่าจะมีความสัมพันธ์ร่วมสมัยเพราะอยู่ไม่ไกลกัน รวมถึงน่าจะเกี่ยวเนื่องกับการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งยกกำลังพลลงไปขุดบางเตยเพื่อจะสร้างเมืองใหม่ในพงศาวดารเหนือด้วย

มีการสำรวจเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองโดยนักวิชาการท้องถิ่นหลายท่าน ทั้งอาจารย์ทองคำ พันนัทธี และอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย มีการเขียนผังบริเวณไว้อย่างคร่าวๆ แต่ตรวจสอบกับสภาพปัจจุบันได้ยากมาก เพราะพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และผังภาพถ่ายทางอากาศก็ไม่ตรงกับแผนผังจากการสำรวจนัก แต่ก็พอจะเห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการขุดคูน้ำคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเมืองมีแนวคูน้ำเป็นแนวตัดกันเป็นตาราง คูเมืองภายนอกเชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติที่ปากคลองกับลำน้ำเจ้าพระยาเดิม หรือคลองวัดบ้านพร้าวในปัจจุบัน และบริเวณนี้มีการทำ “ทำนบ” เป็นแนวคันดินยาวขวางลำน้ำหลายแห่งน่าจะใช้สำหรับการทดน้ำทำนา

ภายในเมืองจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2526 มุมเมืองด้านเหนือเริ่มต้นจากวัดศาลาแดงเหนือถึงทางใต้แถวๆ บ้านงิ้วที่ต่อเนื่องกับวัดสวนมะม่วง ตรงนี้มีวัดเก่าที่เรียกว่าวัดราชบูรณะแต่ถูกรื้ออิฐไปขายคราวที่มีการให้สัมปทานรื้อถอนอิฐเก่าไปใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คันดินที่เป็นกำแพงเมืองสูงใหญ่กว้างกว่า 10 วา คูน้ำกว้าง 10 วา เช่นกัน มีโคกเนินหลายแห่ง ที่มีชื่อบันทึกไว้ เช่น โคกช้างใหญ่ โคกช้างน้อย โคกประชุมพล สนามตะกร้อ สระน้ำ เช่น สระโมส สระใหญ่ สระลงเรือ สระสมอ กระไดหก (ทองคำ พันนัทธี : 2527) ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือสภาพเป็นโคกหรือสระดังที่ในแผนผังดังกล่าว และแนวคันดินกำแพงเมืองทางตะวันออกก็ถูกปรับกลายเป็นถนนสายที่ต่อกับถนนจากวัดเสด็จข้ามคลองประปา ไปยังวัดไผ่ล้อม ถนนลาดยางที่เห็นทุกวันนี้จึงทับไปบนกำแพงเมือง เมื่อผ่านเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง

สิ่งสำคัญที่สุดคือในบริเวณโรงเรียนวัดป่างิ้วใกล้กับริมฝั่งเจ้าพระยา มีวัดร้างสองแห่งอยู่คู่กันและสัมพันธ์กับชื่อทุ่งพญาเมือง นั่นคือ “วัดพญาเมืองและวัดนางหยาด”

วัดพญาเมืองในปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพวัดโบราณแต่อย่างใด และกลายเป็นคานเรือไปหมด พบเพียงคำบอกเล่าที่ว่าซากของวัดพญาเมืองหักพังลงน้ำไปนานแล้ว ส่วนเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ และใบเสมาหินทรายแดงหลายหลักก็ถูกขนย้ายไปไว้ที่วัดสองพี่น้องที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่างิ้วนัก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วิหารหลวงพ่อเพชร-หลวงพ่อพลอย และที่หน้าหอสวดมนต์วัดสองพี่น้อง

แต่ซากของวัดนางหยาดยังคงอยู่ เจ้าอาวาสวัดป่างิ้วเห็นความสำคัญและได้บูรณะวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ สำหรับพระประธานซึ่งมีพระพักตร์ตามแบบที่อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ เรียกว่าพระพุทธรูปแบบอู่ทอง พระพักตร์รูปไข่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบอโยธยาหรือแบบอู่ทองตอนปลายที่อาจารย์กำหนดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18

นอกจากนี้บริเวณชายตลิ่งที่ถูกกัดเซาะของวัดสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ภายในเมืองโบราณนี้และไม่ไกลจากวัดนางหยาดและวัดพญาเมืองนัก พบเครื่องถ้วยจำนวนมากตั้งแต่เครื่องถ้วยหลวงฉวนและปูเถียนในสมัยราชวงศ์หยวนพุทธศตวรรษที่ 19-20 เครื่องถ้วยจากเวียดนาม ในพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องถ้วยลายครามตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ 20 และสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้น (กฤษฎา พิณศรี : 2541)

พ้องกับการสอบถามนักประดาน้ำที่มีอาชีพงมสิ่งของในแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่หน้าวัดพญาเมืองและวัดนางหยาด ไปจนถึงวัดสองพี่น้อง เป็นบริเวณที่พบสิ่งของมากที่สุด เช่น เครื่องถ้วยแบบสมบูรณ์ พระพุทธรูปจำนวนมาก พวกที่มางมและได้สิ่งของมากที่สุดคือชาวประดาน้ำจากรอบเกาะเมืองอยุธยา และสิ่งของเหล่านั้นเมื่องมได้มาก็จำหน่ายออกไป

พระบริหารเทพธานี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปทุมธานีในราว พ.ศ. 2469-2471 และเป็นผู้แต่งหนังสือ “ประวัติชาติไทย” กล่าวว่า “เมืองสามโคกเดิมอยู่ปากคลองบ้านพร้าว ตำบลบ้านงิ้ว ที่วัดพญาเมือง” แสดงถึงการรับรู้ของคนรุ่นเก่าที่ทราบว่าบริเวณทุ่งพญาเมืองเป็นเมืองเก่า เพราะปรากฏหลักฐานให้พบเห็นอย่างมากมาย น่าเสียดายในปัจจุบันแทบจะไม่เหลือสิ่งใดให้ทราบว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญมาก่อน

ที่ทุ่งพระเสด็จอันมีเมืองโบราณอีกแห่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านเชียงราก ซึ่งเป็นชื่อบ้านเก่าที่ปรากฏในโคลงกำศรวล ชื่อเชียงรากก็แสดงถึงร่องรอยของความเป็นเมืองและอาจเป็นชื่อที่ใช้เรียกเมืองโบราณบริเวณนี้ก็ได้ การสำรวจของอาจารย์ทองคำ พันนัทธี ในปี พ.ศ. 2519 พบวัดร้างแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าวัดกระพัง และมีโคกเนิน สระน้ำ แต่ก็ไม่เคยมีการสำรวจอย่างละเอียดในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ จนกระทั่งปัจจุบัน สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือร่องรอยความเป็นเมืองโบราณแต่อย่างใด

ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณทั้งสองแห่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และขนานไปกับแนวชายฝั่งลำน้ำ มีการขุดลอกคูน้ำคันดินอย่างเป็นมุมฉาก ซึ่งเป็นลักษณะของเมืองรุ่นหลัง ซึ่งมีเทคโนโลยีการวางผังให้เป็นมุมฉากได้แล้ว แต่ก็ยังใช้สภาพแวดล้อมเดิมให้เป็นประโยชน์เหมือนกับเมืองโบราณรุ่นเก่ากว่า เช่น มีการชักน้ำจากลำน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงภายในเมือง มีการสร้างทำนบหรือคันดินสำหรับอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตร

ดังนั้น เมืองโบราณทั้งสองแห่งคือ ที่ทุ่งพญาเมือง และทุ่งพระเสด็จ คือกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอายุร่วมสมัยกับเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร มีหลักฐานเก่าไปถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ และบริเวณนี้ยังสัมพันธ์กับสถานที่ที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ และเมื่อพิจารณาจากโคลงกำศรวลที่คาดว่าน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช หมายถึงในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 21 ในช่วงนั้นทุ่งพญาเมืองก็กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว ดังนั้น เมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองนี้จึงน่าจะมีอายุในช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องเรื่อยมาจนราวพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนจะกลายเป็นเมืองร้าง และมีการอพยพชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนใหญ่อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ประกอบกับเรื่องราวของวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ชื่อท้าวอู่ทอง กำหนดเวลาได้กว้างๆ ว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยา ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่จากทางทะเล นั่นคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจีน พ่อค้า ที่เดินทางเข้ามาสู่บ้านเมืองภายใน

ช่วงเวลาดังกล่าวมีหลักฐานชัดเจนของบ้านเมืองที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ที่ใต้เกาะเมืองอยุธยาอันเป็นเมืองใหญ่และสัมพันธ์กับเมืองละโว้ หรือลพบุรี ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีชุมชนที่อยู่ตามลำนำเจ้าพระยาอีกหลายแห่งที่มีอายุร่วมสมัย เช่น ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก เชียงรากที่ทุ่งพระเสด็จ แควน้ำอ้อมที่บางขนุนบางขุนกอง และบางนายไกร แม้กระทั่งชุมชนที่ “ดอนเมือง” ซึ่งแทบทุกแห่งนั้นประเมินได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่ามีการอยู่อาศัยในสมัยอยุธยาตอนต้น

อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ พยายามอย่างมากในการอธิบายศิลปะอโยธยาหรือศิลปะแบบอู่ทองว่ามีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาอย่างไร นักวิชาการอีกมากมายก็เห็นการมีอยู่ของบ้านเมืองแห่งนี้ แต่ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านไม่ยอมรับทั้งๆ ที่มีหลักฐานที่เห็นด้วยตาอย่างชัดเจน โดยพยายามสรุปว่าเป็นศิลปะในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น เพราะติดอยู่กับกรอบเรื่อง “อยุธยาเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 1893” และรูปแบบทางศิลปะที่ถูกกําหนดอย่างตายตัวตามลำดับวิวัฒนาการ รวมทั้งนักโบราณคดีบางท่านก็พยายามขุดหาชั้นดินการอยู่อาศัยในบริเวณเมืองอโยธยาแต่ก็ไม่ได้หลักฐานที่ชัดเจน จึงยิ่งตอกย้ำความคลุมเครือของ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ยิ่งขึ้น

อันที่จริงหลักฐานที่น่าเชื่อถือมีอยู่มากมายทั้งทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และตำนานหรือนิทานท้องถิ่นดังกรณีของทุ่งพญาเมือง เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างละเอียดจนกระทั่งหลักฐานทั้งหลายนั้นเสื่อมสลายไปดังที่เห็นในปัจจุบัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กฤษฎา พิณศรี. “เครื่องถ้วยที่สามโคก” เมืองโบราณ (24, 1), มกราคม-มีนาคม 2541.

ศิลปากร, กรม. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2543.

ศิลปากร, กรม. “โคลงกำศรวลศรีปราชญ์” วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : 2530.

ทองคำ พันนัทธี “พบเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง” วัฒนธรรมไทย. (23,3), มีนาคม 2527.

_____. “เมืองสามโคก” วัฒนธรรมไทย (24, 5), พฤษภาคม 2528.

วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย “ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยอยุธยาที่บ้านเก่าบางกระบือ” ความรู้คือประทีป. ตุลาคม-ธันวาคม 2540.

ศรีศักร วัลลิโภดม. กรุงศรีอยุธยาของเรา. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, กันยายน 2541.

นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ. ศรีรามเทพนคร, สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, มกราคม 2527.


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “เมืองโบราณก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่ทุ่งพญาเมือง อำเภอสามโคก ปทุมธานี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565