ค้นหา “บาเตาะ” คนกินเนื้อคน เรื่องเล่าหรือความจริงในผืนป่าฮาลา บาลา ที่นราธิวาส?

ชนเผ่า บาเตาะ ถูกกล่าวถึง ว่า คนกินคน อาศัยใน ป่าฮาลา บาลา จังหวัดนราธิวาส
ภาพบาเตาะในจินตนาการ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2554)

ค้นหา “บาเตาะ” คนกินเนื้อคน เรื่องเล่าหรือความจริงใน “ป่าฮาลา บาลา” ที่ จังหวัดนราธิวาส?

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยเรื่อง ศิลปวัฒนธรรมชายแดนไทย-มาเลเซีย : กรณีศึกษาชุมชนโละจูด อ่านวอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ผลจากการศึกษาได้พบข้อมูลอันน่าสนใจมากมาย เนื่องจากตําบลโละจูด เป็นชุมชนติดเขตแดนไทย-มาเลย์ บริเวณ ป่าฮาลา บาลา ซึ่งถือเป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ที่สุด และยังถูกขนานนามว่าเป็นป่าอะเมซอนแห่งเมืองไทย

Advertisement

คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีวิถีชีวิตและมีศิลปวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ดังเช่น การรักษาโรคด้วยดนตรีตือรี การละเล่นมะโย่ง การทําหนังตะลุงพื้นบ้าน และมีประวัติศาสตร์ชุมชนอันน่าพิศวง ดังพบภาชนะเครื่องใช้มากมายของคนโบราณที่ถูกรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์โละจูด มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนักคือ การที่คนในชุมชนโละจูดและใกล้เคียงรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนเผ่า “บาเตาะ” คนกินเนื้อคนอยู่ในความทรงจํา จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ปมนี้เองเป็นเหตุให้ผู้วิจัยเน้นความสนใจไว้ที่บาเตาะ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายเรื่องราวเผ่าบาเตาะ อันจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นประเด็นต่างๆ ที่นําไปสู่การตั้งโจทย์คําถามใหม่ๆ จากเรื่องเล่าตํานานของคนในชุมชนจากร่องรอยหลักฐานและเอกสารที่บันทึกไว้บ้าง ข้อมูลรวบรวมโดยวิธีการสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้อาวุโสในชุมชน และผู้ที่สืบเชื้อสายบาเตาะในประเทศมาเลเซีย

กรอบคิดที่ใช้ในการศึกษา

เรื่องเล่าต่างๆ เป็นหลักฐานหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นํามาใช้ในการแสวงหาข้อมูลทางวัฒนธรรม เนื่องจากเรื่องเล่าก็คือความทรงจําเชิงปัจเจกหรือกระบวนการกลุ่มที่เรียบเรียงจนเป็นเรื่องราว เรื่องเล่าหากบันทึกอักษรจะยุติการเปลี่ยนแปลงเพียงนั้น แต่หากไม่ถูกบันทึกจะเปลี่ยนแปลงไปตามผู้เล่าและกาลเวลา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2525 : 83) ให้ทัศนะว่า เรื่องเล่าเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่นิยมการบันทึก ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจแก่หลักฐานประเภทคําบอกเล่า เนื่องจากเห็นคุณค่าและความจําเป็นของหลักฐานประเภทนี้ เรื่องเล่ามักถูกปฏิเสธจากผู้ศึกษาแนวปฏิฐานนิยม เพราะเห็นว่าข้อมูลไม่ปรากฏชัดเจน ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผล ซึ่งจะทําให้การนําเสนอข้อมูลขาดความสมบูรณ์ อย่างไรก็ดีสําหรับผู้ศึกษาแนวมานุษยวิทยากลับเห็นว่าไม่มีความจําเป็นต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล แต่ควรมุ่งทําความเข้าใจความหมายในบริบทของสังคมนั้นๆ มากกว่า

ในทัศนะของนักมานุษยวิทยาข้อมูลยังมีความหมายแตกต่างจากข้อเท็จจริง การบรรยายข้อมูลในลักษณะที่มีการให้ความหมายด้วยจะช่วยให้ได้ภาพที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าปกติ ดังที่ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) เห็นว่า การศึกษาวัฒนธรรมควรมองในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์ที่แต่ละส่วนขององค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบล้วนมีความหมาย วัฒนธรรมก็คือความหมายของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (อคิน รพีพัฒน์, 2551: 73-77) เรื่องเล่าและสิ่งปลูกสร้างคือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมจึงควรให้ความสําคัญกับความหมาย เรื่องเล่าในมุมมองของนักสังคมวิทยายังมีมิติที่ต่างออกไป ด้วยความเห็นว่า เรื่องเล่าคือความทรงจําที่เปิดเผยภายใต้บริบทที่เกิดขึ้นขณะนั้น

เรื่องเล่าอาจมีส่วนที่เป็นเท็จและส่วนที่เป็นจริง เกิดขึ้นจากการเลือกที่จงใจจํา หรือไม่จงใจจําแต่กลับจํา หากคนส่วนใหญ่มักนําเรื่องเล่าไปผูกกับความจริงเมื่อจะได้ผลประโยชน์ เรื่องเล่าจะเป็นเท็จหรือจริงจึงไม่ใช่สาระสําคัญ ดังที่ เปาโล เจ็ดโลสกี (Paulo Jedlowski) (อ้างถึงใน ดํารงรัตน์ ดํารงวิถีธรรม, 2552 : 4-5) ให้ความเห็นว่า การศึกษาทางสังคมวิทยาไม่ควรให้ความสําคัญกับความจริงเชิงเท็จจริง แต่ควรเป็นความจริงเชิงอารมณ์ ความรู้สึก สาระของเรื่องราวสําคัญน้อยกว่าอารมณ์ความรู้สึก และวิธีที่เรื่องราวถูกนําเสนอ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ความทรงจําเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มีการทํางานที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมากมาย เพราะความทรงจํามีสิ่งที่ถูกเลือกแต่งเติมและสร้างใหม่จากความจําเป็นในปัจจุบัน ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมนั้นๆ

จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนนํามาใช้เป็นกรอบในการศึกษา โดยพิจารณาว่าเรื่องเล่าบาเตาะถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่ง ขณะเดียวกันเรื่องเล่าและสิ่งใดๆ ที่กล่าวในเรื่องเล่าก็ถือเป็นระบบ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยังให้ความหมายได้อีกหลายมิติ และการเล่าเรื่องของคนในชุมชนถือเป็นความจริงเชิงอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าความจริงเชิงข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามก็มิได้ยืนยันว่า เรื่องราวของบาเตาะจะเป็นเรื่องเท็จมากกว่าเรื่องจริง จากอารมณ์ความรู้สึกของคนในชุมชน ประกอบกับมีร่องรอยหลักฐาน จึงขอตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะเป็นจริงมากกว่าเท็จ แต่จะจริงเพียงใด รอเพียงการยืนยันจากผู้ทรงความรู้แขนงอื่นๆ เท่านั้น

ความหมายและประเภทของ “บาเตาะ”

คําว่า “บาเตาะ” ในความหมายของคนในชุมชนหมายถึง คนเถื่อน คนใจดําอํามหิต ส่วนความหมายทั่วไป หมายถึงคนป่า คนพื้นถิ่น บาเตาะยังมีความหมายเช่นเดียวกับบาตัก (Batak) ซึ่งหมายถึงเผ่าพันธุ์หนึ่งบนคาบสมุทรมลายู รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งออกสําเนียงเป็นภาษามลายูถิ่นว่า “บาเตาะ” บาตักจัดเป็นคนพื้นเมืองชาติพันธุ์หนึ่งบนคาบสมุทรมลายูชาติ นอกเหนือจากอัสลี (Asli) หรือซาไก พบมากบนเกาะสุมาตรา มีปรากฏเล็กน้อยในมาเลเซีย สิงคโปร์ แต่กลมกลืนกับคนสมัยใหม่แล้ว ที่ทะเลสาบโตบาของเกาะสุมาตรามีกลุ่มบาตักที่ยังคงรักษาวิถีดั้งเดิมไว้บ้าง โดยเฉพาะเกาะซาโมซีกลางทะสาบโตบา ที่มีตํานานเรื่องเล่าบาตัก คนกินเนื้อคน

เรื่องราวของบาเตาะที่กล่าวถึงการชอบกินเนื้อคนในป่าฮาลา บาลา เริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบชัดเจน แต่มีการกล่าวถึงบาเตาะบ้างในตํานานมะโย่ง ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กล่าวว่า โอรสและธิดาของเจ้าเมืองบรือดะ เสด็จประพาสป่าไปพบบาเตาะที่กําลังร้องเพลงอย่างจับใจ พระธิดาจึงขอให้สอนร้องเพลง เมื่อครบ 7 วัน จึงเสด็จกลับวัง โอรสนั้นสามารถแปลงกายเป็นสุนัขดํา ต่อมาธิดาท้องกับพระโอรสจึงถูกขับไล่ออกจากวัง เจ้าเมืองสั่งให้ฆ่าสุนัขดํา แล้วนําพระนัดดากลับวัง ต่อมาพระนัดดาป่วยหนัก โหรทํานายว่าต้องเอาหัวกะโหลกสุนัขดําทําเป็นกะโหลกซอ เส้นผมพระธิดาเป็นสายคันชัก เอ็นสุนัขเป็นสายคันซอ พระนัดดาจึงหายเป็นปกติ หลังจากนั้นเดินไปเรียนกับบาเตาะ ปูเต๊ะเช่นเดียวกับมารดา

เสียงซอที่บาเตาะสอนนั้นมีเสียงดังว่า เปาะโย่งและตั้งชื่อพระนัดดาว่าเปาะโย่ง (หน่วยข้อมูลวัฒนธรรมตามพระราชดําริห์, 2554 : ออนไลน์) จะเห็นว่า บาเตาะ ในตํานานนี้คือคนป่าใจดี จึงไม่น่ากินคน แต่คนในชุมชนโละจูดหรือบริเวณป่าบาลา กลับมีภาพลักษณ์เป็นศัตรูโหดร้าย เพราะชอบกินอาหารประเภทเนื้อทุกชนิดรวม ถึงเนื้อคน ต่างจากเผ่าซาไกซึ่งนิยมกินผัก ผลไม้

บาเตาะหรือบาตักมีหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ เผ่า คือ โตบา (Toba) คาโร (Karo) ปัก ปัก (Pak Pak) สิมาลุงกุน (Simalungun) แมนดาลิง (Mandailing) ในแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้าเผ่าของตน บาเตาะแต่เดิมจะมีความเชื่อเรื่องเทพ ภูตผีปีศาจ แม่มด หมอผี รวมถึงการกินเนื้อคนเป็นอาหาร (Wikipedia, 2554 : ออนไลน์) จากการสัมภาษณ์ นายอัมซะ หะยีหะหมัด (Amzah H.G. Hamat) (สัมภาษณ์ : 2554) ผู้สืบเชื้อสายบาเตาะ เผ่าแมนดาลิง เชื้อสายอินโดนีเซีย อดีตเป็นครู ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ พํานักอยู่ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ พอสรุปได้ว่า เผ่าปัก ปัก หรือปะปะในภาษามลายู มีจํานวนมากในแถบทะเลสาบโตบา นับถือศาสนาคริสต์ หากเผ่าเดิมจะดุร้ายและเถื่อน

ลักษณะเผ่าปัก ปักมีคางบานออก จมูกบาน แบน ขากรรไกรใหญ่ มีขนตามคาง ผิว แดง-ดํา เผ่าสิมาลุงกุน มักอยู่ตามเขาสูง นับถือศาสนา คริสต์ ปะปนกับความเชื่อแบบเดิม เผ่าคาโร (บางครั้งเรียก บรัสตากี) พวกนี้ชอบปลูกผัก ผลไม้ ชอบอาศัยบริเวณอากาศเย็นๆ ในบรรดากลุ่มต่างๆ นี้กลุ่มแมนดาลิงพบมากที่สุด ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์หันมานับถือศาสนาอิสลามมากแล้ว ยังมีอีกเผ่าหนึ่งซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์จําชื่อไม่ได้ เผ่านี้เถื่อนและล้าหลังที่สุด ชอบอาศัยอยู่ในรู ในถ้ำ อยู่เป็นกลุ่มในป่าลึกๆ พวกนี้บางคนมีผิวขาว การแต่งกายมีเพียงเอาใบไม้ปิดอวัยวะเพศเท่านั้น

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจเป็นพวกโตบา และบาเตาะที่ปรากฏเป็นเรื่องเล่าในป่าฮาลา บาลา ก็อาจเป็นกลุ่มโตบา เพราะมีลักษณะนิสัย รูปพรรณสัณฐานคล้ายกับคนที่ในชุมชนเล่าถึง นายอัมซะยังให้ข้อมูลว่า บาเตาะชอบดนตรี กินเนื้อสัตว์ แต่ก่อนชอบกินเนื้อคน มีหาง แต่ภายหลังหดหายหมดแล้ว เหลือเพียงติ่งเนื้อ และยอมรับว่าตนเองก็มีติ่งเนื้ออยู่บริเวณก้นกบ เกี่ยวกับการกินคนพวกบาเตาะจะกินเนื้อคนเมื่อไม่มีอะไรกิน

ถ้าในครอบครัวมีคนชรา อายุกว่า 90 ปี จะทดสอบให้ขึ้นต้นไม้ หากขึ้นไม่ได้ส่งสัญญาณว่าหมดกําลังต้องทําให้ตาย บาตักจะไม่กินญาติตนเอง หากอีกครอบครัวหนึ่งขึ้นไม่ไหวจะแลกเปลี่ยนกันแล้วทุบเชือดคอ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้หมดไปเมื่อร้อยกว่าปีแล้ว จากคําสัมภาษณ์นี้พออนุมานได้ตรงตามเรื่องเล่าของชาวโละจูด ที่เล่าตรงกันว่า พวกบาเตาะที่เขารับรู้มีหาง ชอบกินคน อาศัยอยู่ในรูดังที่ผู้เขียนไปพบสุสานบาเตาะ เป็นกองดินสูงต่ำที่ปัจจุบันยังถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนในแนวป่าฮาลา บาลา จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีบาเตาะกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณแถบนี้

สภาพป่าฮาลา บาลา

ฮาลา บาลา ปัจจุบันจัดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยแบ่งเป็น 2 เขต คือ เขตฮาลา และเขตบาลา เขตฮาลาตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา เขตบาลาตั้งอยู่ใน จังหวัดนราธิวาส เพื่ออนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีภูเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าฝนเขตร้อน มีความชื้นสูงตลอดปี เป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลายสาย มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่สําคัญ แนวป่าต่อเนื่องจากป่าเบลุ่มทางตอนเหนือของมาเลเซีย หากรวมเป็นผืนใหญ่ถือเป็นป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรมลายู จากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างคงที่มีความชื้นพอเหมาะ จึงเป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด (สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า, 2554 : ออนไลน์)

โดยเฉพาะนกเงือก ซึ่งพบมาก กว่า 10 สายพันธุ์ การมีอยู่ของนกเงือกช่วยสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ขณะเดียวกันความสมบูรณ์ของป่าก็จะเป็น ที่พึ่งพิงคนป่าด้วย ดังเช่น ซาไก ซึ่งพบมากบริเวณนี้ปัจจุบันมีจํานวนน้อยมาก เนื่องจากมนุษย์เข้าไปรุกล้ำแหล่งอาศัยของมัน รวมถึงพวกบาเตาะ ที่เหลือเพียงตํานานเล่าขานกันมา

ปัจจุบันสภาพป่าลดน้อยกว่าเดิม หากไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐอาจน้อยกว่านี้ โดยเฉพาะป่าบาลา ซึ่งติดเขตตําบลโละจูด เนื่องจากมีคนอาศัยจํานวนมาก ใกล้ตลาดชายแดน และสะพานมิตรภาพไทย-มาเลย์ ผู้คนรุกล้ำสร้างสวนยางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความสมบูรณ์ของป่าเอื้อต่อการทําสวนผัก ผลไม้ สวนยางบริเวณโดยรอบ ประกอบกับเดินทางติดต่อกับภายนอกสะดวกยิ่งขึ้น จึงมีประชากรเพิ่มขึ้นและนักท่องเที่ยวเข้ามาสม่ำเสมอ

ภาพวาดในจินตนาการ บาเตาะ แห่ง ป่าฮาลา บาลา ใช้หวายดักจับคนที่ล่องเรือไปมา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2554)

สิ่งที่สนับสนุนการมีอยู่ของ “บาเตาะ”

ในชุมชนรอบนอกเขตอนุรักษ์ป่าสงวนดังกล่าว มีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่ มีชาวพุทธเพียงเล็กน้อย จากการสนทนาพูดคุย เล่าเรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าคนวัยกลางคนขึ้นไปจะรู้เรื่องบาเตาะดี หากเด็กและเยาวชนไม่รู้เรื่องบาเตาะมากนัก ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะในการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยของผู้ใหญ่

ประกอบกับการเปิดด่านพรมแดนและมีเทคโนโลยีสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามา ทําให้ชุมชนเจริญแบบก้าวกระโดด คนรุ่นใหม่หันไปสนใจเรื่องราวอดีตน้อยลง คนในชุมชนรู้จักเผ่าบาเตาะมากน้อยต่างกัน แต่ก็ยินดีสนับสนุนให้ข้อมูล สิ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของบาเตาะจากการลงพื้นที่ มีข้อสนับสนุนหลายประการ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

1. ปัจจุบัน (2554) คนในชุมชนยังนิยมเรียกคนเถื่อน คนอํามหิต ไร้จิตใจ และศาสนาว่า “ออแฆบาเตาะ” ออแฆ แปลว่า คน ดังที่ อุสมาน มูดอ (2554 : สัมภาษณ์) เล่าให้ฟังว่า หากทะเลาะกับเพื่อน และเพื่อนกล่าวหาว่า “นาแต บาเตาะ” เขาจะโกรธมาก แสดงการกล่าวหาที่ต่ำทรามชั่วช้ายิ่งกว่าสัตว์ ไร้ความคิด (นาแต หมายถึง ไอ้หรืออี เป็นคํานําหน้าชื่อที่ย้ำให้หยาบคาย นั่นคือ ไอ้คนอํามหิต) ลักษณะนี้พิจารณาได้ว่า หากไม่มีบาเตาะในพื้นที่ คนในชุมชนนี้ยืมคํานี้จากที่ใด และตีความหมายเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะคนนอกเขตพื้นที่นี้จะให้ความหมายเป็นอื่น โดยทั่วไปจะหมายถึงคนป่ามากกว่าคนอํามหิต

2. คําว่า บาเตาะ ยังถูกนํามาใช้หลอกเด็ก หรือขู่ให้กลัวมายาวนาน แม้ในวิถีของคนไทยพุทธ ดังที่ นาง แดง กาละเดิม (2554: สัมภาษณ์) อายุ 84 ปี กล่าวว่า ตอนเด็กๆ เวลาร้องไห้ดังๆ พ่อแม่มักขู่ว่า “อย่าร้อง เดี๋ยวพวกบาเตาะจะมากินตับ” คําพูดนี้แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษยายแดงรับรู้ความโหดร้ายของพวกบาเตาะด้วยแล้ว และเมื่อกล่าวถึงบาเตาะ นางแดงยังเสริมว่า คนไทยพุทธเรียกว่า “เงาะหาง”

3. บริเวณริมฝั่งน้ำสุไหงโก-ลกใกล้ย่านอาศัยของ บาเตาะ ในปัจจุบันเรียกว่า “ลูโบะบรีงะ” ทั้งนี้เพราะ อดีตไม่มีถนนเชื่อมสู่เมือง การสัญจรไปมา ขนสัตว์หรือไม้ซุงจาก ป่าฮาลา บาลา ใช้เส้นทางแม่น้ำสุไหงโก-ลก ผ่านอําเภอสุไหงโก-ลก ออกสู่อ่าวไทย ที่อําเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระยะนั้นมีการกล่าวตักเตือนเสมอว่า หากล่องเรือแพมาถึงจุดนี้ (ใกล้ที่อาศัยของบาเตาะ) ให้ระวังพวกบาเตาะ เมื่อถึงปัจจุบันยังคงคุ้นชินเรียกบริเวณนี้ว่า ลูโบะบรึงะ

ลูโบะเป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า วังบรีงะ แปลว่า ระวัง รวมความแล้วหมายถึง วังต้องระวัง พวกบาเตาะใช้วิธีขึงหวายขวางคลองอย่างฉับพลัน แล้วปิดล้อมจับมนุษย์กินเป็นอาหาร (นิเลาะ มะเข็ง, 2554 : สัมภาษณ์) ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่ดินในการครอบครองของ นายเลาะ อูเซ็ง อายุ 65 ปี นายเลาะกล่าวว่า 2554 : สัมภาษณ์) ซื้อที่ดินแปลงนี้ในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ในราคาถูกมาก เพื่อปลูกพืชสวน แต่ต้นยางและผลไม้ไม่เจริญเติบโต ปัจจุบันยังคงว่างเปล่าปะปนกับไม้ป่าเดิมๆ ไม่ได้ทําประโยชน์ใดๆ

4. ในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ การร่ายมนต์คาถาใกล้ที่อาศัยของบาเตาะนี้ ปัจจุบันหมอผี หรือจอมขมังเวทย์ที่ปลุกเสกจะต้องเอ่ยบุญคุณและขอขมาบาเตาะเป็นอันดับแรก จากการสัมภาษณ์ นายดํา สะหะเวท (นามสมมุติ) (2554 : สัมภาษณ์) อายุ 85 ปี ซึ่งเป็นชาวพุทธที่อยู่ท่ามกลางมุสลิม เป็นจอมขมังเวทที่ชาวไทยและมาเลเซียให้การยอมรับ ในเรื่องปลุกเสก ทําเสน่ห์ และอยู่ยงคงกระพัน เขากล่าวว่าในการทําพิธีทุกครั้ง จะต้องกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 อย่าง คือ 1. บาเตาะ ปูเต๊ะ 2. กูแม อีแต (เสือสมิงหรือเสือดํา) 3. โต๊ะ ปิเยาะ 4. บาตู ตีฆอ (หินสามพี่น้อง) 5. โต๊ะบิแต (หมอ ตําแย)

จะเห็นว่า การกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้มีทั้งประเภท คน สัตว์ และหิน สาเหตุที่บาเตาะ ปูเต๊ะสําคัญที่สุด เพราะเป็นหัวหน้าเผ่า และบ้านของนายแดงตั้งอยู่ใกล้ที่อาศัยของบาเตาะ และกล่าวเสริมว่าบาเตาะเป็นพวกเงาะมือเล็ก น้ำที่ใช้ปลุกเสกนํามาจากน้ำที่ไหลโดยธรรมชาติจากช่องหินที่ปกคลุมด้วยดินและพืชหญ้าในสุสานบาเตาะ ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าน้ำทั่วไป คือมีกลิ่นคาวใสปนสารคล้ายวุ้น หรือมูกขาวๆ ชาวบ้านเรียกว่า “มูกผา” และเป็นอยู่เช่นนี้ถึงปัจจุบัน

5. การพบหลักฐานทางเดินเป็นร่องคูลึกประมาณต้นคอแต่ไม่มีน้ำเป็นแนวยาวไปจนถึงที่อาศัยของบาเตาะ และพบหลักฐานเป็นเนินดินและหินฝังอยู่ใต้ดิน ริมฝั่งแม่น้ำสุไหงโก-ลกบริเวณเขตป่าบาลา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัย วังและสุสานของเผ่าบาเตาะ

ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสสุสานด้วยตนเอง ด้วยการนําทางของชาวบ้านที่ต้องฝ่าดงป่าจนพบ ชาวบ้านช่วยถางป่าให้เห็นตัวอย่างสุสานเนินเดียว ส่วนแห่งอื่นยังเป็นป่ารก จากการกะเกณฑ์ด้วยสายตา ดูคล้ายจอมปลวกขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ชาวบ้านให้ทดสอบโดยกระทืบเท้า มีเสียงก้องคล้ายว่าภายในมีลักษณะกลวง หากถางป่าจนเตียนคงพบหลายกองดิน ชาวบ้านมุสลิมที่นําทาง กล่าวว่า ก่อนเขาเข้ามาได้ทําพิธีขอขมาแล้ว ระหว่างนั้นชี้ให้ดูขนแขนของเขาที่ลุกซู่ อ่านความรู้สึกว่าเขาอยากให้คนภายนอกรับรู้ร่วมกับเขา ขณะเดียวกันก็เกรงกลัวอํานาจ อาถรรพณ์ สิ่งนี้เหล่านี้ช่วยยืนยันได้ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Place) ร่วมกันทั้งชาวพุทธ และมุสลิม

นายเด็ง อารงค์ (2554 : สัมภาษณ์) ชาวบ้านที่นําทาง เล่าให้ฟังว่า เนินดินเหล่านี้คือ ดาแฆ (รัง) ของบาเตาะ (น่าสังเกตว่า ชาวบ้านจะเรียกเป็นรังมากกว่าบ้าน แสดงสถานะของบาเตาะที่มีชีวิตเยี่ยงสัตว์ไม่ใช่มนุษย์) บาเตาะ เป็นพวกที่ชอบขุดรูสร้างที่อาศัยในดิน การขุดรูอาจมีแผ่นหินกั้นกันดินถล่ม พวกนี้ชอบกินคนด้วยกัน ในอดีตมนุษย์บุกรุกพื้นที่ของมัน และผูกมิตรด้วยดี แต่เมื่อเห็นความโหดร้ายจึงวางแผนฆ่าทั้งเผ่า การฆ่ามีข้อสันนิษฐานต่างๆ ตามคําบอกเล่าของชาวบ้าน

วิธีหนึ่งคือ การลวงให้บาเตาะรออยู่ในรูแจ้งว่าจะมีคนมาเยี่ยม แล้วหลอกให้กินถั่วเขียวต้มกับกลอยดิบ ทําให้พวกบาเตาะมึนเมาล้มอยู่ในรู แล้วจุดไฟด้วยขี้ชันหยอดลงรูให้สําลักควันจนตาย (นายนิเลาะ มะเย็ง, 2554 : สัมภาษณ์)

อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ การบอกว่าฝรั่งจะมาซื้อครั่ง (ในช่วงที่มาเลเซียยังอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ) เพราะหากเป็นชาวบ้าน บาเตาะจะไม่เชื่อ ฝรั่งก็มา บอกว่าให้หามามากๆ จะเอาเรือมาขน บาเตาะหลงเชื่อต่างหา ครั่งมากองไว้ปากรูรังตนเอง จากนั้นเลี้ยงถั่วเขียวกับกลอยจนมึน แล้วเผาครั่งและกวาดลงรูเผารวมกับบาเตาะ จนตายอยู่ในรูทั้งหมด (นิซอเฟียส คอและ, 2554 : สัมภาษณ์)

นอกจากนี้มีเรื่องเล่าว่า ในช่วงที่บาเตาะอาศัยอยู่มีโต๊ะสุแกคนเดียวเท่านั้นที่สื่อภาษากับบาเตาะได้ ด้วยความต้องการกําจัดบาเตาะให้สิ้นซาก จึงให้โต๊ะสุแกวางอุบายว่า จะมีฝรั่งมาซื้อครั้งในราคาสูงมาก บาเตาะแต่ ละครอบครัวต่างหาชันมากองไว้ปากรูรั้งตนเอง โต๊ะสุแกหลอกให้หาจนมีปริมาณมากพอที่จะเผาให้ตายได้ทั้งหมด จึงยุติแล้วจัดเลี้ยงฉลอง โดยให้กินถั่วเขียวต้มกับกลอยดิบ เมื่อบาเตาะมีอาการมึนเมา พรรคพวกของโต๊ะสุแกจึงพากันลากลงหลุม บาเตาะบางคนเดินโซเซเข้าไปนอนในรังด้วยตนเอง แล้วจุดไฟเผาครั่งจนสําลักควันตายในรู (เลาะ อูเซ็ง, 2554 : สัมภาษณ์)

ข้อสันนิษฐานจากเรื่องเล่าที่ผ่านมาแต่ละคน จะเห็นว่าคล้ายกันมาก แต่ดูเหมือนว่าข้อสันนิษฐานการวางแผนฆ่าตามคําบอกเล่าของคนสุดท้าย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินด้วย มีความสมบูรณ์ที่สุด

จากเรื่องเล่าทั้งหมดแสดงว่า ดาแฆรังหรือที่อาศัยของบาเตาะกลายสภาพเป็นสุสานด้วย อย่างไรก็ตามการฆ่าโดยกลอุบายใดก็ตาม สิ่งที่กล่าวตรงกันคือ มีการเผารังบาเตาะ บาเตาะถูกฆ่าทิ้งทั้งเป็นอยู่ในรู และฝังอยู่ ใต้ดินแห่งนี้ผ่านความทรงจําจากรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผู้ที่คาดว่าจะเล่าเหตุการณ์เหล่านี้ละเอียดคือ เปาะยูโซ๊ะ หากเป็นที่น่าเสียดายที่ศึกษาเรื่องนี้ช้าไป เพราะเขาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2553) รวมอายุ 94 ปี พ่อของเขาได้ร่วมในขบวนการนี้ด้วย ตามช่วงเหตุการณ์นี้ประกอบกับการให้ข้อมูลของเปาะสูที่กล่าวว่าเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พอคาดคะเนว่า บาเตาะอาจถูกฆ่าเผารังราวร้อยกว่าปีมาแล้ว

ลักษณะ บาเตาะ

บาเตาะ ที่ถูกฆ่าอยู่ในรูมีลักษณะอย่างไร ผู้วิจัยได้รับข้อมูลจาก เปาะสู สะหะ อายุ 85 ปี (2554 : สัมภาษณ์) อดีตเป็นนายพรานเชื้อสายมาเลย์ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่โละจูด เมื่ออายุ 12 ปี หลังจากเลิกเป็นนายพราน หันมายึดอาชีพทําสวน ยาง เดินป่าล่าสัตว์ เขากล่าวว่า… เมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ดาแฆ (ที่อยู่หรือรังบาเตาะ) มีอยู่แล้วแต่ไม่พบเห็นบาเตาะ

เขาได้ยินจากคนรุ่นเก่าเล่าว่า ในช่วงของการหลอกฆ่าของมนุษย์ มีบาเตาะเผือกหนีออกไปได้ (บาเตาะเผือก ชาวมลายูถิ่นเรียกว่า บาเตาะ ปเต๊ะ) บาเตาะเผือกตั้งตัวเป็นหัวหน้าเผ่า ที่เรียกปูเต๊ะ เนื่องจากมีผิวขาวกว่าคนอื่นๆ (ปูเต๊ะ แปลว่า ขาว) หนีไปทางฝั่งประเทศมาเลเซีย นิสัยบาเตาะชอบกินเนื้อ กินสัตว์พวกกวาง ไม่ชอบผลไม้ ลักษณะพิเศษคือมีหาง เป็นพวกไม่มีศาสนา สื่อภาษาของเขาเอง มีผิวดําแดง ผมหยิกเหมือนซาไก

การแต่งกายมีเพียงสิ่งปิดบังที่อวัยวะเพศ โดยใช้เยื่อไม้ทุบให้อ่อนปิดบัง ผู้หญิงเปลือยอก ใบหน้าคล้ายสัตว์ประเภทลิงกัง สูงประมาณ 170 เซนติเมตร หรือเท่ามนุษย์ทั่วไป ขุดดินเป็นโพรง เล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามสมาชิกครอบครัว เนินดินก็คือหลังคา จับสัตว์โดยใช้ลูกดอก ธนูหรือหอก ธนูทํากับต้นหลาวโอน ลูกดอกอาบยางไม้จากต้นอีโป๊ะ สัตว์ที่ล่าแล้วแต่จะพบ เมื่อจับได้จะนํามาย่างไฟกินกันในเผ่า

คํากล่าวนี้มีข้อสังเกตว่า บาเตาะ อาจมีลักษณะกึ่งคนกึ่งสัตว์ หากคล้ายลิงกัง มีหางจริง อาจถือว่าบาเตาะพวกนี้เป็นต้นสายพันธุ์ หรือบรรพบุรุษของคนป่า ดังปัจจุบันเรียกเงาะที่อยู่แถบทิวเขาสันกาลาคีรีหรือทางเหนือของมาเลเซียว่าเซมัง (Semang) หรือนิกริโต (Nigrito) (ข้อมูลจากนิทรรศการอัสลีในมาเลเซีย ซึ่งจัดโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเลเซีย 2554)

คําว่า เซมัง ความหมายเดิมหมายถึง ค่าง ลิงดําแขนยาวชนิดหนึ่ง หากคํายืนยันของชาวบ้านทุกคนเป็นความจริง บาเตาะที่อยู่ในสุสานแห่งนี้อาจจัดเป็นคนป่าที่เก่าแก่ที่สุด และรักษาลักษณะเผ่าพันธุ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนป่าแห่งอื่นถูกผสมกับเผ่าพันธุ์ต่างๆ หรือกลืนกลาย กับสังคมใหม่

ภาพ บาเตาะ แห่ง ป่าฮาลา บาลา ในจินตนาการ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2554)

สภาวะของสุสานบาเตาะในปัจจุบัน

ปัจจุบันสุสานบาเตาะยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หากมิใช่ชาวมุสลิมเท่านั้น ยังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยพุทธ ซึ่งต่างเชื่อร่วมกันว่า เป็นบริเวณที่มีอาถรรพณ์ มีประวัติความเป็นมายาวนาน และต้องการให้คนภายนอกรับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ หากวิเคราะห์ตามแนวทางของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ ที่มองว่า วัฒนธรรม คือความหมายการศึกษาวัฒนธรรม คือการเสาะหาความหมายและการตีความ อาจพิจารณาได้ว่า สุสานบาเตาะยังคงมีความหมายซ่อนเร้นมากกว่าเพียงเนินดินหลายขนาด หรือร่องทางเดิน

กล่าวคือเป็นที่มาของภาษาที่ยังใช้อยู่ในวิถีชีวิตประจําวัน อย่างน้อยคือคําว่าบาเตาะ บาเตาะเป็นคําเรียกคนในชุมชน โดยเฉพาะมุสลิมที่มีความต้องการแยกระหว่างคนดีกับคนชั่ว หรือธรรมกับอธรรม โดยให้บาเตาะนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว หรืออธรรม การพูดหรือการกระทําใดๆ ในสังคม หากกล่าวคือ บาเตาะในเหตุการณ์ ทะเลาะวิวาทจะหมายถึงการพยามศักดิ์ศรี หรือการกล่าวหาอย่างรุนแรง หากเป็นเหตุการณ์ปกติจะหมายถึงการ ป้องปรามห้ามคนมิให้มีพฤติกรรมเยี่ยงอย่าง

แต่กระนั้นก็ดีชาวไทยพุทธบางคน โดยเฉพาะผู้สร้างบ้านใกล้เขต สุสานกลับมองว่า บาเตาะ ปูเต๊ะ (หัวหน้าเผ่าบาเตาะ) คือเทพเจ้าหรือเจ้าที่เจ้าทางที่ควรเคารพ ลักษณะนี้แสดงถึงหลักศาสนาที่เปิดทางให้ตีความต่างกัน ชาวมุสลิมจะไม่ยกย่องมากนัก เพราะอาจนําไปสู่ความศรัทธา สร้างภาคีกับพระเจ้า ขณะที่ไทยพุทธจะยกย่อง

ดังที่ นายดํา สะหะเวท (2554 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า เขาเป็นไทยพุทธคนแรกๆ ที่อพยพมาอยู่ท่ามกลางคนมุสลิม ในอดีต เมื่อ 50 ปีก่อนดินแดนแถบนี้ เต็มไปด้วยโจรจีนมลายู ผู้ก่อการร้าย สัตว์ร้ายนานาชนิด แต่สามารถฟันฝ่าอยู่ได้ก็ด้วยบารมีของบาเตาะ และถือว่าเป็นคนหนึ่งที่บุกรุก เข้ามาอาศัยในถิ่นของบาเตาะ

แม้บาเตาะสูญพันธุ์นานแล้ว ทุกครั้งเมื่อจะทําการใดๆ เช่น สวดมนต์ประจําวัน ออกล่าสัตว์ ต้องขอขมาระลึกถึงบุญคุณเสมอ บาเตาะจึงเปรียบเสมือนเจ้าของถิ่นของตนทั้งไทยพุทธและมุสลิม ผู้เขียนเชื่อว่าหากสุสานตั้งอยู่ในชุมชนไทยพุทธคงปรากฏสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น รูปปั้น หลาทวด ศาลเจ้าที่ เมื่อตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมจึงคงเป็นเพียงป่า หากมีข้อสังเกตว่าชาวพุทธที่อยู่ใกล้สุสานเท่านั้นจะยกย่อง ชาวพุทธที่อาศัยนอกเขตออกไปจะให้ความหมายถึงความดุร้ายของบาเตาะเช่นเดียวกับมุสลิม

นอกจากนี้มีคําว่า “บาลา” ซึ่งยังถูกเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านและป่าบาลามาจนถึงปัจจุบัน คําว่าบาลาในภาษา มลายูถิ่นหมายถึงที่โล่งกว้าง หรือคนเผือกที่มีสีผิวซีดขาวกว่าคนอื่น จึงอาจเป็นไปได้ที่ป่าบาลา จะหมายถึงป่าของหัวหน้าเผ่า เพราะหัวหน้าเผ่าเป็นคนที่มีผิวขาวซีดกว่าคนอื่น ที่เรียกว่า บาเตาะ ปูเต๊ะ ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า หัวหน้าเผ่านี้มีอํานาจอย่างยิ่ง สอดคล้องกับความเห็นของผู้เฒ่าเปาะสูที่ว่า ระหว่างที่เผารัง มีหัวหน้าเผ่าเท่านั้นที่หนีเอาตัวรอดไปฝั่งมาเลเซีย

เป็นบริเวณที่คนในชุมชนตระหนักดีว่า บริเวณนี้คือที่พึ่งพาอํานาจเหนือธรรมชาติ ดังที่กล่าวขวัญกันว่า มีทหารที่มาตั้งค่าย ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอนไม่หลับหลายคืน เหมือนมี สิ่งใดกดทับอก ชาวบ้านให้กล่าวขอขมาบาเตาะ ปูเต๊ะ ปรากฏว่าหายเป็นปกติ ยังมีสิ่งสําคัญภายในสุสานนี้คือ น้ำที่ไหลออกจากหินธรรมชาติ (ลักษณะหินเตี้ยๆ ครอบคลุมด้วยดินหรือหญ้า) เป็นน้ำใส เจือปนด้วยเนื้อเยื่อสี ขาวๆ คล้ายวุ้นหรือมูก มีกลิ่นคาวคล้ายกํามะถัน ไม่มีความร้อน ชาวมุสลิมเรียกว่า “ไอร์ฮาแย” แปลว่า น้ำคาว ส่วนชาวพุทธเรียกว่า “มูกผา”

หญิงมุสลิมคนหนึ่งกล่าวว่า หากเอาน้ำราดตามตัวเด็กที่กําลังร้องไห้เด็กจะหยุดร้อง วัวที่ผอมซูบหากกินน้ำนี้จะอ้วนพีและแข็งแรง ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ดูเหมือนว่าปรากฏมากในหมู่ ไทยพุทธมากกว่ามุสลิม ดังที่นายตา (2554 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า เมื่อล่าหมูป่าได้สําเร็จจะตอบแทนเซ่นไหว้ด้วย ใบตองกับยาเส้น หมูป่าที่กินน้ำมูกผาจะทําให้แคล้วคลาดจากกระสุน ในช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินในไทย จะนําพระมาสวดพุทธมนต์บริเวณมูกผาทุกปี ก่อนมีเหตุการณ์ความไม่สงบ มีผู้เลื่อมใสชาวพุทธเดินทางมาดื่มน้ำ และขูดเนื้อเยื่อขาวๆ แห่งมูกผากินพร้อมเอ่ยคาถา เชื่อว่า เป็นสิ่งมงคลและจะทําให้อยู่ยงคงกระพัน มีเหตุการณ์ใหม่ๆ คืองูเหลือมยักษ์อาละวาด ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นงูจากอภินิหารของวิญญาณบาเตาะ

ขณะที่ไทยพุทธเห็นว่า เป็นงูธรรมดา ลักษณะนี้จะเห็นว่าอํานาจเหนือธรรมชาติไม่มีเอกภาพเสมอไป กล่าวคือ ปรากฏการณ์ใดๆ ที่ มุสลิมเชื่อว่ามีสาเหตุจากสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไทยพุทธอาจไม่เชื่อ สิ่งที่มุสลิมไม่เชื่อ ไทยพุทธอาจเชื่อ นายดําเป็นที่ เลื่องลือทางไสยศาสตร์ ทั้งฝั่งประเทศไทยและมาเลเซีย คนส่วนใหญ่นิยมให้นายดำทําพิธีไสยศาสตร์ 3 อย่าง คือ สามีมีเมียน้อย ถูกของ เช่น ถูกเสกตะปูเข้าท้องและน้ำมันเสน่ห์ การประกอบพิธีทุกอย่างต้องกล่าวถึงบาเตาะ ปูเต๊ะ เมื่อปลุกเสกทางไสยศาสตร์จะใช้น้ำจากสุสานนี้ และทําพิธีกรรมต่อหน้าผูกผาเป็นชั่วโมง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อของคนในชุมชน สุสานบาเตาะกลายเป็นสัญลักษณ์ของอํานาจเหนือธรรมชาติ เป็นสื่อแทนความคิด และระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

เป็นที่เปิดเผยรู้กันทั่วไป และเป็นความต้องการขอชุมชนที่จะให้คนภายนอกชุมชนร่วมรับรู้กับเขา สุสานบาเตาะตั้งอยู่ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลกปลายสวนยางของนายเลาะ ห่างจากถนนลาดยางราว 50 เมตร เรื่องราวของบาเตาะมักถูกนํามาถ่ายทอดแก่ลูกหลานและแขกผู้มาเยือนดังที่ผู้เขียนรู้จักมุสลิมชาวสงขลาโดยบังเอิญ เขาเล่าว่าเคยไปทํางานที่มาเลเซีย มีเพื่อนชวนไปเที่ยวหมู่บ้านบูเก็ตตา ซึ่งอยู่ใกล้ ป่าฮาลา บาลา และพาไปดูสุสานบาเตาะเมื่อ 10 ปีมาแล้ว เขาจึงรู้จักบาเตาะ

อาจกล่าวได้ว่า หากกล่าวถึงบาเตาะ คนในชุมชนรู้ดีว่ามีสุสานอยู่ที่ใด และเข้าใจความหมายตรงกัน เมื่อผู้เขียนลงพื้นที่ศึกษาวิจัยศิลปวัฒนธรรมชายแดนไทย-มาเลย์ ในชุมชนโละจูดที่ติดเขตป่าฮาลา บาลา ไม่คาดคิดว่าจะต้องมาเรียนรู้เรื่องราวบาเตาะมากมาย เป็นความปรารถนาดีของชาวบ้านที่ต้องการให้นักวิชาการไปศึกษาเรื่องบาเตาะ เพราะเขารอคอยมานาน และอยากให้พิสูจน์ความจริง จึงถือเป็นเรื่องท้าทายสําหรับผู้เขียนและอยู่ในความสนใจยิ่งนัก

แม้บาเตาะ คนกินเนื้อคนจะเป็นเรื่องเล่าที่ชาวบ้านเชื่อมั่นว่ามีอยู่จริง อย่างไรก็ดี ในบริบทสังคมหลัง สมัยใหม่ เรื่องราวของบาเตาะอาจจัดเป็นวาทกรรมที่คนในชุมชนสร้างขึ้นเพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องเล่าจึงมักเจือปนด้วยเปลือกนอกมากกว่าแก่น ตามแนวคิดของเจ็ดโลสกี (Paulo Jedlowski) ที่เห็นว่าเรื่องเล่าเป็นความทรงจําที่ถูกเลือก แต่งเติม และสร้างใหม่

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่มิใช่ปฏิเสธว่า สิ่งที่จําต่อกันมานั้นจะห่างไกลกับความเป็นจริง ความทรงจําเปรียบเสมือนควันหากไม่มีไฟก็ไม่มีควัน ปรากฏการณ์ของสังคมทุกสิ่งทั้งรูปธรรม นามธรรมล้วนเกิดจากเหตุประกอบกับการพบเห็นสุสาน ร่องรอยทางเดินที่ดูต่างจากทางเดินของคนธรรมดา และภาษาที่คนในชุมชนยืมมาใช้

จึงเชื่อว่า บาเตาะมีแนวโน้มที่เป็นจริงสูง และกินเนื้อคน (ทั้งนี้ไม่รวมการมีหาง หน้าเหมือนลิงกังซึ่งต้องรอการพิสูจน์ต่อไป) จากการพูดคุยสนทนากับชาวบ้าน แม้ได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงเชิงอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าความจริงเชิงข้อเท็จจริง แต่อารมณ์ความรู้สึกนั้นแฝงด้วยความจริงใจ ความตรงไปตรงมา เป็นการเล่าภายใต้การสร้างอํานาจความรู้ และการปลดปล่อยความรู้สึก

เมื่อชาวไทยพุทธเล่าเรื่องบาเตาะจะมีห้วงอารมณ์ทั้งที่เหมือนและแตกต่างจากชาวมุสลิม กล่าวคือ การ เล่าเรื่องของชาวบ้านถูกกระตุ้นด้วยบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และบางครั้งก็ถูกกระตุ้นด้วยกระแสบริโภค นิยม ด้วยหวังว่าให้คนมาท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ดังที่ชาวบ้านมุสลิมคนหนึ่งกล่าวว่า เขาอยากให้นัก วิชาการ นักโบราณคดีมาพิสูจน์ หากใต้ดินพบโครงกระดูกมนุษย์จริงที่อาจมีมนุษย์วานรหรือสมบัติล้ำค่า จะทําให้ชุมชนของเขาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลก ขณะที่ไทยพุทธเพิกเฉยเพราะอยู่ในสถานะคนกลุ่มน้อย และไม่มั่นใจกับการพัฒนาพื้นที่ในช่วงวิกฤตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

สรุปเรื่องราว “บาเตาะ” ข้อเท็จจริงหรือความคลุมเครือ?

เรื่องราวของบาเตาะ ที่กล่าวถึงว่าเป็นคนป่าที่ชอบ กินเนื้อคน ถูกฆ่าตายทั้งเผ่าอยู่ใต้ดิน อาจเป็นเพียงความทรงจํา ข้อสันนิษฐานหรือเรื่องเล่าที่คลุมเครือตลอดไป หากยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง ในลักษณะสหศาสตร์ ซึ่งบางครั้งจําเป็นต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์หรือโบราณคดี ชาวบ้านจึงคาดหวังว่าควรทําการศึกษาอย่างเร่งด่วน ณ สสานบาเตาะ ก่อนที่คนชราในชุมชนที่พออธิบายได้สิ้นใจตาย

เรื่องราวบาเตาะจะเป็นเรื่องเล่าที่แต่งขึ้นหรือเรื่องเล่าที่เป็นจริง ถูกซ่อนเร้นมานานในป่าฮาลา บาลา และกําลังจะถูกเปิดเผย การระดมความรู้จากนักวิชาการต่างๆ เท่านั้นที่จะช่วยยืนยัน ในความคิดเห็นของผู้เขียนเชื่อว่า บาเตาะ คนกินเนื้อคนมีอยู่จริงในป่าฮาลา บาลา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเผ่าบาเตาะหรือบาตัก ที่ชอบกินเนื้อคนเผ่าหนึ่งอยู่ปลายด้ามขวานทองของประเทศไทย แบบเดียวกับที่เมดาน แถบทะเลสาบโดบา ในอินโดนีเซีย แต่ถูกฆ่าล้างเผ่าจนสูญพันธุ์

การเขียนบทความนี้คงไม่ใช่เพียงพิสูจน์หรือยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ตามสมมุติฐาน แต่ต้องการชี้ประเด็นให้เกิดการถกเถียงโต้แย้ง ให้มีความชัดเจนมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

เอกสาร

ดํารงรัตน์ ดํารงวิถีธรรม. (2552). เรื่องเล่าวแตกค้าง ฤาความทรงตัวแปลกแยก : การวิเคราะห์เรื่องเล่าจากความทรงจำของคนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงกรณี “ถังแดง” ในเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 5 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2525). หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : บรรณากิจเทรดดิ้ง.

สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า. (2554). เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา บาลา. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สืบค้นเมื่อ 65 พฤษภาคม 2554 จาก www: http://web3.dnp.go.th/wildlifenew/animConserv Dep View.aspx?depld=12.

หน่วยข้อมูลวัฒนธรรมตามพระราชดําริห์. (2554), ตํานานมะโย่ง จังหวัดนราธิวาส. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2555 จาก www.Kanchanapisek.or.th/kp8/culture/mrt/nrt350.html .

อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ช. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

Wikipedia. (2554). Batak (Indonesia). สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2554 จาก www.//en.wikipedia.org/wiki/batak (Indonesia).

ผู้ให้สัมภาษณ์

คํา สะหะเวท (นามสมมุติ) (2554, 16 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญา เทพสิงห์ ที่บ้านนายดํา.

เด็ง อารงค์ (2554, 14 เมษายน) สัมภาษณ์โดย ปัญญา เทพสิ่งห์ ที่สวนยางของนายเลาะ.

แดง กาละเดิม (2554, 16 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญาเทพสิงห์ ที่วัดนิคมแว้ง.

นิซอเฟียส คอและ (2554, 11 มิถุนายน) สัมภาษณ์โดย ปัญญาเทพสิงห์ ที่อนามัยชุมชนสิแก.

นิเลาะ มะเข็ง (2554, 14 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญาเทพสิงห์ ที่สวนยางของนายเลาะ.

เปาะสู สะหะ (2554, 14 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญาเทพสิงห์ ที่บ้านของเปาะสู ที่สาวอ.

เลาะ อูเซ็ง (2554, 14 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญาเทพสิงห์ ที่ตลาดดาโอะ.

อัมซะ หะยีหะหมัด (2554, 21 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดยปัญญา เทพสิงห์ ที่บ้านของอัมซะ ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์.

อุสมาน มูดอ (2554, 14 พฤษภาคม) สัมภาษณ์โดย ปัญญา เทพสิงห์ ที่หมู่บ้านบาลา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562