เหลือเชื่อ! เมื่อชาวโพลินีเซียนสามารถย้าย “อารยธรรม” ของตนเองได้ด้วยเรือเพียงลำเดียว

ชาวตาฮิติ ผู้สืบเชื้อสายมาจาก ชาวโพลินีเซียน ผู้สามารถ ย้าย อารยธรรม ด้วย เรือแคนู
ชาวตาฮิติผู้สืบเชื้อสายมาจากโพลินีเซียน ภาพจากWikimedia

ชาวโพลินีเซียน สามารถโยกย้าย “อารยธรรม” ของตนเองได้ด้วย “เรือแคนู” เพียงลำเดียว

โพลินีเซีย (Polynesia) คือ กลุ่มหมู่เกาะกว่า 1,000 เกาะ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ ภูมิภาคโอเชียเนีย หมู่เกาะเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทั้งในบริเวณตอนกลาง และตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศเอกราช เช่น นิวซีแลนด์, ตองกา, ซามัว และดินแดนโพ้นทะเลอย่างเฟรนช์โปลินีเซียของฝรั่งเศส รวมถึงเกาะที่มีชื่อเสียง เช่น เกาะฮาวาย ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เกาะอีสเตอร์ หรือราปานุย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องรูปสลักหินขนาดใหญ่อย่าง “โมอาย” (Moai)

ชาวโพลินีเซียนเป็นใคร? มาจากไหน?

ชาวโพลินีเซียน (Polynesians) ชนพื้นเมืองของกลุ่มหมู่เกาะโพลินีเซีย เป็นชาติพันธุ์กลุ่มย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน (Austronesian) สันนิษฐานว่าชาวโพลินีเซียนดั้งเดิมนั้นอาจมีถิ่นฐานอยู่ที่เกาะไต้หวันและหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจึงค่อย ๆ มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาสู่หมู่เกาะโพลินีเซียในช่วงเวลาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 1200 โดยประมาณ

แม้ชาวโพลินีเซียนจะอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายนัก แต่ชาวโพลินีเซียนนั้นก็สามารถสร้างสรรค์ “อารยธรรม” ของตนเองให้มีความก้าวหน้าได้ในระดับหนึ่ง เช่น รู้จักการทำเกษตรกรรม การสร้างเครื่องปั้นดินเผา การสร้าง เรือแคนู (Canoe) ที่มีขนาดใหญ่ การทำแผนที่เดินเรือ อีกทั้งยังมีทักษะในการสังเกตดวงดาว เมฆ กระแสน้ำ การบินของฝูงนก เพื่อใช้ในการนำทางขณะเดินเรือ โดยความก้าวหน้าของการสร้างเรือ แผนที่และทักษะในการนำทางนี้ได้ช่วยให้ชาวโพลินีเซียนสามารถเดินทางอพยพไปตั้งถิ่นฐานตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกได้สำเร็จ

การย้าย “อารยธรรม” ที่ไม่ใช่เทวรูปทองคำ หรือตำราโบราณ แต่เป็น “ผักผลไม้” 

เมื่อพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “อารยธรรม” ในเชิงวัตถุ หลายคนอาจนึกถึงสิ่งปลูกสร้างที่มีขนาดใหญ่โต มีความอลังการ เช่น วิหารเทพเจ้า พระราชวัง อาคารต่าง ๆ หรืออาจนึกถึงสิ่งของหรูหราอย่างเครื่องเรือน เครื่องใช้ ที่มีความสวยงาม ทำจากวัสดุมีค่า หากมีเหตุจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายอารยธรรมในเชิงวัตถุที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะบางอย่างเป็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือแม้จะเป็นสิ่งของที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก็ต้องใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ หรือพาหนะอย่างเกวียน เรือ เป็นจำนวนมาก

แต่สำหรับชาวโพลินีเซียนนั้นหากมีความจำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่ การย้ายอารยธรรมในเชิงวัตถุของพวกเขาสามารถทำได้ง่ายกว่ามาก เพียงแค่นำผักผลไม้ทั้งในรูปแบบของ ผล เมล็ด ต้นอ่อน ใส่ลงในเรือแคนูที่จะใช้ในการออกเดินทาง (นอกจากนี้ยังมีการนำหมูและไก่ไปด้วยในฐานะปศุสัตว์)

เพราะเหตุใดจึงต้องนำผักผลไม้ใส่ลงในเรือแคนู?

ผักผลไม้ที่ชาวโพลินีเซียนนำติดตัวไปด้วยนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เป็นเสบียงอาหารระหว่างการเดินทาง
แต่ยังนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์ เป็นต้นอ่อน เพื่อเพาะปลูกให้ได้มาซึ่งปัจจัย 4 อันได้แก่ “อาหาร ผ้า ยา บ้าน” และใช้เป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับการสร้างสรรค์อารยธรรมของตนเองในดินแดนแห่งใหม่

โดยผักผลไม้ที่ชาวโพลินีเซียนมักนำติดตัวไปด้วยเมื่อมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ อ้อย (ใช้เป็นยาและสารให้ความหวาน) มะพร้าว (เป็นอาหาร เครื่องดื่ม ใช้ทำเชือก ใบเรือ และวัสดุก่อสร้าง) กล้วย (เป็นอาหารและวัสดุก่อสร้าง) ไผ่ (ใช้ทำเครื่องมือ เครื่องดนตรี กระบอกน้ำ และเป็นวัสดุก่อสร้าง) มันหวาน-เผือก-กลอย-ท้าวยายม่อม (เป็นอาหาร) สาเก (เป็นอาหาร ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง ทำเสื้อผ้า กาว) กะทือ (เป็นอาหารและยารักษาโรค) ขมิ้นชัน (เป็นเครื่องเทศ ยารักษาโรค สีย้อม) น้ำเต้า (ใช้ทำกระบอกน้ำและเครื่องดนตรี) ถั่วเทียน (เป็นอาหาร ยารักษาโรค น้ำมันตะเกียง เทียน สีย้อม วัสดุต่อเรือแคนู)

แม้ชาวโพลินีเซียนจะไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติให้มีความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ได้เท่ากับแหล่งอารยธรรมอื่น ๆ ที่มีความสำคัญระดับโลก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในข้างต้นนี้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าชาวโพลินีเซียนเป็นผู้ไม่ประมาทและสามารถสร้างสรรค์อารยธรรมของตนเองได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่าที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ลอรา โคแวนและคณะ. 100 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนโต ประวัติศาสตร์. แปลโดย ธัญโรจน์ โรจนธเนศ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์คอมมิกส์, 2562

https://en.wikipedia.org/wiki/Polynesia

https://en.wikipedia.org/wiki/Polynesians

https://www.researchgate.net/figure/General-pattern-of-the-colonization-of-Polynesia-and-unresolved-questions-The-origin-of_fig1_321039373

https://www.bbc.com/thai/international-40317656


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565