“กะเหรี่ยง” ชนเผ่านักเล่านิทาน เรื่องเล่าแสนเศร้าสะท้อนความไร้อำนาจของตนเอง

เด็กชาว กะเหรี่ยง (ภาพจากหนังสือ หกเผ่าชาวดอย)

กะเหรี่ยง หรือที่ภาษาเหนือ (คำเมือง) เรียกกันว่า “ยาง” เป็นชื่อของชาวเขาเผ่าใหญ่ที่สุดซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในทั้งประเทศไทยและพม่า ชาวกะเหรี่ยง ในเมืองไทยสามารถจำแนกออกเป็น 4 พวก ได้แก่ สะกอ โปว ป่าโอ และค่ายา โดยมากแล้วชาวกะเหรี่ยงในเมืองไทยจะเป็นพวกสะกอ และโปว สำหรับพวกป่าโอ และค่ายานั้นคิดเป็นเพียงร้อยละหนึ่งของจำนวนประชากรกระเหรี่ยงทั้งหมดในไทย

กะเหรี่ยงมาจากไหน? มาถึงไทยได้อย่างไร?

ไม่มีใครรู้ว่าถิ่นฐานเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน มีแต่ตำนานที่เล่าขานกันมาว่าถิ่นกำเนิดของกะเหรี่ยงคือที่ “ธิบิ-โกบิ” ซึ่งมีคนสันนิษฐานว่าหมายถึงที่ ธิเบตและทะเลทรายโกบี

หญิงชาวกะเหรี่ยงเดินทางกลับจากนา (ภาพจากหนังสือหกเผ่าชาวดอย)

กะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในประเทศเมียนมาร์มาแต่โบราณจากนั้นจึงได้เดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาในประเทศไทยในศตวรรษที่ 18

สำหรับสาเหตุการอพยพของชาวกะเหรี่ยงนั้น ชาวแม่ฮ่องสอนเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงอยู่ตรงกลางระหว่างพม่าและไทย เมื่อสมัยที่ไทยและพม่ายังผลัดกันรบผลัดกันรุกรานดินแดน กะเหรี่ยงที่อยู่ตรงกลางก็มักจะตกที่นั่งลำบาก ถูกฝ่ายที่มารุกดินแดน ไม่ไทยก็พม่า จับต้อนไปเป็นเชลยให้จัดเสบียงอาหารให้บ้าง ให้นำทางให้บ้าง ในช่วงที่ถูกจับต้อนไปต้อนมานี้กะเหรี่ยงบางคนก็อาจจะได้หมายตาดินแดนสำหรับตั้งรกรากใหม่ในไทยที่ดูแล้วน่าจะสงบกว่าถิ่นฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นดินแดนไทยปัจจุบัน หรือฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเดิมเป็นพื้นที่ครอบครองของโยนก ดังนั้นเมื่อกะเหรี่ยงย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จึงได้เข้ามาสวามิภักดิ์กับโยนก

ต่อมาเมื่อเมื่อชาวโยนกอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาที่ลานนาไทยแถบแม่สะเรียงถึงเชียงใหม่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยงก็ได้ติดสอยห้อยตามมาด้วย ที่ดินแดนเดิมของลัวะนี้ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งหลักแหล่งของตนอยู่ใกล้กับหมู่บ้านลัวะ ทำให้มีโอกาสติดต่อกัน เกิดการรับวัฒนธรรมของลัวะเข้ามาไว้ในวิถีชีวิตดังจะพบเห็นได้มากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

กะเหรี่ยง นักเล่านิทานผู้โศกเศร้า

ชาวกะเหรี่ยงนั้นเป็นกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักเล่านิทานชั้นยอด” โดยชาวกะเหรี่ยงมักตั้งวงนั่งล้อมรอบกองไฟยามค่ำคืนผลัดกันเล่าผลัดกันฟังนิยายที่แต่งขึ้นเองใหม่บ้าง หรือเป็นยกตำนานเล่าขานมาพูดบ้างก็มี อย่างไรก็ตามเรื่องเล่าของชาวกะเหรี่ยงนั้นพบว่าเป็นมีแต่เรื่องโศกเศร้า ไม่หนีไปจากเรื่องชีวิตที่ต้องเผชิญแต่กับเรื่องอาภัพอับจน

ผูกข้อมือให้คนป่วยหลังพิธีเรียกขวัญ (ภาพจากหนังสือ หกเผ่าชาวดอย)

นิทานอันแสนเศร้าของชาวกระเหรี่ยงนี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชนชาติของตนที่ไร้ซึ่งอำนาจปกครอง ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย ถูกมองว่าเป็นภาระ

คำว่า “กะเหรี่ยง” กลายเป็นคำที่แฝงความหมายลบในภาษาไทย หนำซ้ำในบางครั้งยังได้รับบทเป็นตัวร้ายในละครไทยบางเรื่องอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“กะเหรี่ยง (ยาง)”. จากหนังสือ “หกเผ่าชาวดอย”. โดย พอลและอีเลน ลูอิส. จัดพิมพ์โดยหัตถกรรมชาวเขา (Thai Tribal Crafts), 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2561