ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พม่า หรือ เมียนมา เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์ต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหารการกิน ที่แตกต่างกันไป แล้ว 5 ชาติพันธุ์ในพม่า ที่คนไทยพอจะคุ้นชื่อกันบ้าง เช่น กะเหรี่ยง คะฉิ่น ทวาย ไทใหญ่ มอญ มีอาหารเด็ดอะไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากไทย?
เปิดเมนูเด็ด 5 ชาติพันธุ์ในพม่า “กะเหรี่ยง คะฉิ่น ทวาย ไทใหญ่ มอญ”
องค์ บรรจุน นักวิชาการที่หลงใหลในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เล่าไว้ในผลงาน “ข้างสำรับอุษาคเนย์” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
วัฒนธรรมอาหารพม่าไม่ต่างจากไทย ในแง่ความเป็นวัฒนธรรมลูกผสม ที่ผสานวัฒนธรรมหลากหลายชาติเอาไว้ เกิดจากการหลอมรวมอารยธรรมเก่าแก่และการปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยอย่าง มอญ พยู ยะไข่ ไทใหญ่ เข้าไว้ด้วยกัน อาหารของพม่าจึงมีความหลากหลายไปตามพื้นที่และชาติพันธุ์
ยกตัวอย่าง 5 ชาติพันธุ์ในพม่า ที่มีอาหารแตกต่างไปตามถิ่นที่อยู่และวัฒนธรรม คือ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ทวาย ไทใหญ่ มอญ

กะเหรี่ยง โดยมากอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกงที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อกุ้ง และพืชผักนานาชนิด โดยนำมาปรุงด้วยเครื่องเทศเล็กน้อย
อาหารกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์ที่รสชาติเผ็ดร้อนจัดจ้าน มีอาหารยอดนิยม เช่น “พอชอเต่ลอคื่อ” (แกงไก่กับหัวบุก) “เง่ข่าดื่อ เดอเทาะย่า” (แกงยอดหวายกับเนื้อหมู) “ญ่า โพ จื่อ ที” (แกงเย็นปลา) “ต่า คอ พ้อ” (แกวข้าวเบือ) “ต่า เค่อ” (แกงข้าวคั่ว) “มื้อซ่าโต่ ทะน่อเคาะ” (น้ำพริกถั่วเน่า)
คะฉิ่น เป็นคำเรียกรวมๆ ของกลุ่มชนเผ่าทางตอนเหนือสุดของพม่า ใกล้ตีนเขาทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ประกอบด้วย 6 เผ่าหลัก ได้แก่ จิงเผาะ ระวาง ซิ ลีซู ลาซิ และมารุ
เนื่องจากที่ตั้งถิ่นฐานของคะฉิ่นมีอากาศหนาวเย็น จึงมีการใช้สมุนไพรและเครื่องเทศมากเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ชาวคะฉิ่นกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกง ซึ่งแกงยอดนิยมของชาวคะฉิ่นคือ แกงกะหรี่ไก่ ลักษณะผัดแห้งๆ ใส่ขิง นอกจากนี้ ยังมี “งาสี่มัย” (ปลาผัดเครื่องแกง) “ไนอินซินไม” (แกงเผือกผักรวม) “พะรางมะไน” (ยำใบบัวบก) และ “ฉัดจัม” (ข้าวยำสมุนไพร)
ทวาย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณตะนาวศรี ทางตอนใต้ของพม่า ชาวทวายกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกงปรุงจากพืชผักและเนื้อสัตว์นานาชนิด
องค์ เล่าว่า เนื่องจากชาวทวายอยู่ติดทะเล จึงมีความสามารถในการแปรรูปอาหารทะเล โดยเฉพาะการทำกะปิ กุ้งแห้ง ปลาเค็ม น้ำปลา อาหารยอดนิยมของชาวทวายมีเช่น “อะโต๊ะ” (ยำทวาย) “งาปิ-โต๊ก” (ยำกะปิ) “เทาอะซัม” (ต้มกะทิปลาโอ) “เก้าหยิ่นทะ” (ข้าวต้มมัด) “หม่วนตะปอว” (ขนมจาก) “มุบลา” (ขนมเบื้อง)
ไทใหญ่ ส่วนมากอยู่ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐใหญ่สุดของพม่า นิยมกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกงที่โดยมากปรุงจากพืชผักเป็นส่วนใหญ่ เนื้อสัตว์ที่นิยมใช้ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้งหอยปูปลา ปรุงรสด้วยถั่วเน่า (แปโป๊ะ) หรือเต้าหู้ถั่วเหลือง ถือเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอาหารของไทใหญ่ ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ลาว และพม่า ที่ใช้กะปิและปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรส
อาหารยอดนิยมของชาวไทใหญ่ คือ ข้าวแรมฟืน ข้าวกั้นจิ้น ถั่วพูอุ่น เน่อลุง (หมูปั้นก้อนสมุนไพร) ผักจอลอแล ผักส้มผัด (ผักดองผัดหมูสามชั้น) ขนมส่งเผ่ ข้าวปุก

มอญ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐมอญ ทางตอนใต้ของพม่า กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกงที่ปรุงจากพืชผักที่มีรสเปรี้ยวและเมือกลื่น อย่าง กระเจี๊ยบ (กระเจี๊ยบแดง) กระต๊าด (กระเจี๊ยบเขียว) มะตาด มะสั้น พุทราป่า ส้มป่อย แกงกับเนื้อสัตว์นานาชนิด
องค์ บอกว่า อาหารมอญในพม่าไม่นิยมใส่กะทิ มักใช้มะพร้าวเฉพาะในอาหารหวาน ขณะที่มอญในไทยปัจจุบันนิยมใช้กะทิในอาหารทั้งคาวและหวาน อาหารมอญยอดนิยม ได้แก่ “เปิงซังกราน” (ข้าวแช่) “คะนอม” (ขนมจีน) “ฟะกะเกล่” (แกงปลาปั้น) “ฟะแป่ค่าด” (แกงขี้เหล็ก) “ฟะฮะเจ่บ” (แกงกระเจี๊ยบ) “ฟะคะเปร๊า” (แกงมะตาด) และ “กวาญย์เปลิบด้าจก์” (ขนมต้ม)
สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างอาหารของทั้ง 5 ชาติพันธุ์ในพม่า กับอาหารการกินของไทย หลักๆ ก็เช่น การกินข้าวเจ้า ส่วนสิ่งที่แตกต่างออกไปคือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ก่อเกิดเป็นเมนูประจำชาติพันธุ์ที่มีความโดดเด่นหลากหลาย กระทั่งเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์นั้นๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดตำราอาหารชาววังพม่า เมื่อ 200 กว่าปีก่อน “กษัตริย์ราชวงศ์อลองพญา” โปรดเสวยเมนูอะไร?
- เปิดเมนูอาหารชาววังเวียดนาม “จักรพรรดิราชวงศ์เหวียน” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เสวยอะไรบ้าง?
- “โยเดียซุป” อาหารผู้ดีพม่า ต้นกำเนิดจากเชลยศึกอยุธยา คราวเสียกรุงครั้งที่ 2
- เปิด 2 จานเด็ด “อาหารเขมร” ที่ได้รับวัฒนธรรมอาหารไทย มีเมนูอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
องค์ บรรจุน. ข้างสำรับอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2567