หนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยง กับโอกาสพบปะกันในงานศพ เพื่อสานเป็นความรัก

ภาพประกอบเนื้อหา - กลุ่มสตรีและเด็กชาวกะเหรี่ยง หลบภัยในป่าหลังการปะทะระหว่างทหารของกองทัพปลดปล่อยแห่งกะเหรี่ยง (KNLA) กับทหารพม่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ใกล้ชายแดนพม่า-ไทยในรัฐกะเหรี่ยงของพม่า (ภาพจาก AFP)

การเริ่มต้นความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยง ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นความรักนั้น ก็คล้ายกับสังคมทั่วๆ ไปในปัจจุบัน คือ ทำความรู้จักกัน เรียนรู้ดูใจซึ่งกันและกัน จากนั้นเมื่อตกลงปลงใจได้แล้วก็แต่งงานผูกสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวในหมู่ชาว กะเหรี่ยง กับสังคมอื่นๆ นั่นก็คือโอกาสในการพบปะ

แม้ว่าผู้ใหญ่ชาวกะเหรี่ยงจะไม่ชอบใจที่จะให้หนุ่มสาวมาเจอกันเท่าไรนัก แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามอย่างเด็ดขาด ยังเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มาเจอกันบ้าง โดยโอกาสที่หนุ่มสาวชาวกะเหรี่ยงจะได้มาพบเจอกันนั้น เช่น งานชุมนุมเย็บตับมุงหลังคาในเดือนเพ็ญ หรือการทำงานร่วมกันในนา

บางครั้งในช่วงเดือนธันวาคม หรือ มกราคมที่หนุ่มๆ ว่างจากงานในไร่ก็จะเดินทางไปเที่ยวมองสาวๆ ในหมู่บ้านอื่นๆ ก็มี แต่การเจอกันในโอกาสเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่การพูดคุย ไม่ใช่การจีบแต่อย่างใด

โอกาสที่จะได้จีบ หรือหมายตาสานสัมพันธ์อย่างจริงจังคือใน “งานศพ” เพราะในช่วงที่มีงานศพทั้งหมู่บ้านจะหยุดงาน วางมือจากกิจทั้งหลายมาแต่งตัวสวยหล่อเพื่อมาเข้าร่วมร้องเพลงทำกิจกรรม หนุ่มสาวกะเหรี่ยงรู้ประเพณีนี้ดี จึงใช้ช่วงเวลานี้ในการมองหาเพื่อนใจให้ตนเอง

ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันดีว่าถ้าหากไม่มีใครตายนานๆ เข้าในหมู่บ้าน คนที่จะอัดอั้นตันใจตายแทนก็คือเหล่าสาวๆ หนุ่มๆ ชาวกะเหรี่ยงนี้เอง

เมื่อทำความรู้จักกันจนหมายมั่นปั้นมือจะเป็นคู่กันแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาของการแต่งงาน งานแต่งของชาวกะเหรี่ยงนี้จะกินเวลายาวนาน 2 – 3 วัน และหลังจากพิธีแต่งงานแล้วบ่าวสาวก็ยังต้องทำพิธีไหว้บรรพบุรุษต่อไปอีก 3 วัน

หลังจากที่พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งงานเสร็จสิ้นลงคู่รักหนุ่มสาวก็จะต้องอยู่ในหมู่บ้านฝ่ายหญิงไปอีก 2 ปี ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่ทำกินไม่เพียงพอ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการปรับเปลี่ยนให้ตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้านของฝ่ายหญิงหรือชายก็ได้ ไม่เจาะจงอีกต่อไป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กะเหรี่ยง เป็นใคร? มาจากไหน? มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างไร?


อ้างอิง :

“กะเหรี่ยง (ยาง)”. จากหนังสือ “หกเผ่าชาวดอย”. โดย พอลและอีเลน ลูอิส. จัดพิมพ์โดยหัตถกรรมชาวเขา (Thai Tribal Crafts), 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 3 กันยายน พ.ศ.2561