“กะเหรี่ยง” เป็นใคร? มาจากไหน? มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างไร?

ภาพประกอบเนื้อหา - กลุ่มสตรีและเด็กชาวกะเหรี่ยง หลบภัยในป่าหลังการปะทะระหว่างทหารของกองทัพปลดปล่อยแห่งกะเหรี่ยง (KNLA) กับทหารพม่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ใกล้ชายแดนพม่า-ไทยในรัฐกะเหรี่ยงของพม่า (ภาพจาก AFP)

ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง “กะเหรี่ยง” ชาวไทยภูเขาเผ่าหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเรื่องคนไร้สัญชาติที่เป็นปัญหากันมายาวนาน ในอดีตพวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่า จากการทำไร่หมุนเวียน แล้วจริงๆ กะเหรี่ยงเป็นใครมาจากไหน มีความสัมพันธ์กับคนไทย เมืองไทยมาแต่เมื่อใด

คำตอบเหล่านี้ สุรพงษ์ ก้องจันทึก ที่ทำงานเรื่องชาวกะเหรี่ยง และสิทธิมนุษยชน มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัยต่างๆ เขียนเป็บทความชื่อ กะเหรี่ยง ความสัมพันธ์อันยาวนานกับไทย” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2531 แม้จะล่วงเลยมา 30 กว่าปี แต่เป็นอีกหนึ่งข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจ

Advertisement

เราเริ่มคำถามแรกว่า กะเหรี่ยงมาจากไหน? เริ่มมีความสัมพันธ์กับไทยเมื่อไหร่? ก่อน

รายงานและเอกสารเกี่ยวกับกะเหรี่ยงของบุคคลและหน่วยงานต่างๆ สรุปได้ว่ากระเหรี่ยงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน คนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-พม่ามาประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว ระหว่างปี 2509-12 สถาบันวิจัยชาวเขาพบว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ก่อนที่พม่าจะครอบครองดินแดนแถบนี้

สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หนังสือ “ไทยรบพม่า” โดยกล่าวถึงแม่ทัพของสมเด็จพระนเรศวรที่เป็นกะเหรี่ยงชื่อ สิน ภูมิโลกาเพชร หากจะถามหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ที่เขียนถึงการส่งส่วยของกระเหรี่ยงเมืองศรีสวัสดิ์ (อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในปัจจุบัน) ที่ส่งมาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ

ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พม่าเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี กะเหรี่ยงหลายกลุ่มอพยพตามมอญเข้ามาสู่ประเทศไทย นับเป็นการอพยพครั้งแรกที่มีหลักฐาน โดยให้กะเหรี่ยงอพยพอยู่ที่ ลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี, ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี, อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และอยุธยา

เมื่ออพยพเข้ามาแล้ว ก็คงมีบ้างที่ลงหลักปักฐานในเมืองไทย

ในรัชกาลที่ 1 หัวหน้าชุมชนกะเหรี่ยงติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงขอตั้งรกรากและสวามิภักดิ์ต่อสยาม โดยได้รับการอนุญาตให้อาศัยอยู่ที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ พ.ศ. 2365  กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวก็ช่วยขับไล่ทหารพม่าที่มาลาดตระเวนในพื้นที่

ความสัมพันธ์ไทย-กะเหรี่ยง ในช่วงรัชกาลที่ 1-3 ปรากฎอยู่ในงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เขียนสมัยรัชกาลที่ 1 มีภาพกะเหรี่ยงถือหน้าไม้อยู่ตามซอกเขา, ภาพเขียนที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดบางขุนเทียนซึ่งเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 2-3

เมื่อสงครามระหว่างไทย-สยาม ลดลงและสิ้นสุดลงประมาณ พ.ศ. 2396 กระเหรี่ยงที่เคยช่วยป้องกันชายแดนด้านนี้ กะเหรี่ยงก็ยังอยู่รวมกับสังคมไทย โดยผู้นำกะเหรี่ยงส่งเครื่องบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุกๆ 3  ปี

ในรัชกาลที่ 5 กะเหรี่ยงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มและให้การยอมรับฐานะของผู้นำกะเหรี่ยง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ทั้งทรงประกาศไว้ว่า พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย เมื่อมีการตั้งหน่วยงานราชการอย่าง “กองตำรวจภูธร” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็รับสั่งว่ากะเหรี่ยงที่เคยทำงานในกองอาทมาต หากสนใจจะเข้าทำราชการในกองงานดังกล่าวได้

นอกจากนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี และสนพระทัยการรำของกะเหรี่ยง ได้อขอสาวกะเหรี่ยง 2 นาง คือ นั่งมิ่นกง และหนองเดงเค่ง มาเป็นข้าหลวงเพื่อฝึกสอนการรำกะเหรี่ยงในวัง

คำถามต่อไป ก็เป็นเรื่อง การทำลายป่า

กะเหรี่ยงผู้มีวิถีชีวิตอยู่กับป่า ทำเกษตรกรรมแบบ “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมองว่านี่คือการทำร้ายป่า ทำร้ายต้นไม้ มาฟังกันว่า “ไร่หมุนเวียน” จริงๆ แล้วมีวิธีการอย่างไร

“ไร่หมุนเวียน ซึ่งหมายถึงการเกษตรในรูปแบบที่การตัดฟันต้นไม้ในป่าทุติยภูมิ โค่น เผา แล้วทำการเพาะปลูกพืชในพื้นที่อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วทิ้งให้พื้นที่มีการพักตัวเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ในระยะเวลาตั้งแต่ 4-10 ปี หรือมากกว่า แล้วแต่สภาพของพื้นที่ สิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยา และความหนาแน่นของประชากร

หลังจากที่ได้ปล่อยให้พื้นที่มีการพักตัวแล้ว ก็จะหวนกลับมาทําการตัดฟันต้นไม้ในพื้นที่ซึ่งเป็นป่าไม้ทุติยภูมิ หรือป่าไม้พุ่ม โค่น เผา แล้วทําการเกษตรอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แล้วปล่อยให้พื้นที่มีการพักตัวอีก ก่อนที่จะมีการเกษตรอีก เป็น เช่นนี้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด

การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนนี้ เป็นการเกษตรแบบตัด ฟัน โค่น เผา ที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรอันได้แก่ ดิน น้ำ และป่าไม้มากที่สุดในพื้นที่ที่มีความลาดชัน

การเกษตรแบบนี้ ทําให้ชุมชนของกะเหรี่ยงอยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการอพยพโยกย้าย กะเหรี่ยงบางหมู่บ้านตั้งชุมชน มานานกว่า 200 ปี

เมื่อเข้าสู่หมู่บ้านกะเหรี่ยง แม้จะตั้งถิ่นฐานกันมานานแล้วจะเห็นป่าอยู่รอบหมู่บ้าน เพราะกะเหรี่ยงไม่นิยมตัดต้นไม้ จนเตียน แม้ข้างๆ บ้านออกไปเล็กน้อย จะปล่อยต้นไม้ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ไม่ฟันหรือปราบต้นไม้จนเตียน

กระทั่งการทําไร่ข้าวจะฟันเฉพาะต้นไม้ต้นเล็กๆ ทิ้ง ส่วนต้นใหญ่ๆ จะเพียงริดกิ่งก้านสาขา เพื่อไม่ให้บังเงาต้นข้าว ในปีต่อๆ มาจะปล่อยให้พื้นดินได้พักตัว ต้นไม้ทั้งใหญ่เล็กก็จะขึ้นเจริญเป็นป่าเช่นเดิมอีก…”

แล้วป่าหายไปไหน ขออนุญาตไม่ตอบ แต่อยากบอกต่อไปอีกนิดว่า

“เขตทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งมรดกทางธรรมชาติชิ้นสำคัญของโลก คือผลงานการรักษาและอนุรักษ์ของกะเหรี่ยงมาหลายร้อยปี…”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2563