ผู้เขียน | จักรมนตรี ชนะพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ มีที่มาจาก “พระมาลัยสูตร” ชาวอีสานจะนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) เป็นบุญประจำปีในฮีตสิบสอง
ที่มา “บุญผะเหวด”
ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา (บทกลอน) เกี่ยวกับการทำบุญในช่วงเดือนสามและเดือนสี่ไว้ว่า “เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี” แปลว่า เมื่อถึงเดือนสามพระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่(ช่วงเดือนมีนาคม) สามเณรเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญมหาชาติ
บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส ของชาวอีสานถือเป็นงานบุญสำคัญ ชาวบ้านจะจัดให้มีพิธีอย่างใหญ่โต งานบุญต่อเนื่องกัน 2-3 วัน มูลเหตุที่มีการทำบุญมีคติความเชื่อมาจากเรื่อง พระมาลัยสูตร ว่า
“พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบพระศรีอริยเมตไตรย องค์พระศรีอริยเมตไตรยได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์ จงอย่าได้ทำบาปหนัก ได้แก่ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้พระสงฆ์แตกกัน อนึ่งให้ฟังเทศน์เรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวกัน ฟังแล้วให้นำไปประพฤติปฏิบัติจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย
เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์ จึงได้บอกเรื่องราวให้มนุษย์ทราบ ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงพากันทำบุญพระเวสสันดรสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน”
ก่อนงานบุญ
เมื่อถึงเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) ชาวบ้านจะประชุมกันเพื่อกำหนดวันทำบุญว่าจัดวันไหน และจะนิมนต์พระภิกษุสามเณรที่มาเทศน์จากวัดไหนบ้าง ครั้นตกลงกันแล้วก็นำหนังสือใบลานเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งมีจำนวน 13 ผูก ออกมาแบ่งให้ครบเท่าจำนวนพระภิกษุสามเณรที่จะนิมนต์มาเทศน์ จากวัดของหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งพระที่อยู่วัดของหมู่บ้านตัวเองด้วย
หนังสือใบลานที่แบ่งออกเรียกว่ากัณฑ์ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะจับฉลากแบ่งกันเป็นเจ้าภาพกัณฑ์ต่างๆ เท่ากับจำนวนหนังสือใบลานที่แบ่ง และจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มา
ในอดีตครัวเรือนที่เป็นเจ้าภาพจะเรียกว่า “ค้ำบุญ” ทำหน้าที่ต้อนรับพระภิกษุสามเณรและโยมผู้ติดตาม มีการตั้ง ผามบุญ (ปะรำ) เรียงรายตามกำแพงรอบวัด ตั้งโอ่งน้ำดื่ม เตรียมหมากพลูบุหรีและจตุปัจจัยไทยทาน เพื่อสำหรับถวายพระภิกษุสามเณรในวันงานอีกด้วย แต่ปัจจุบันการตั้งผามบุญ เพื่อต้อนรับพระภิกษุสามเณร ได้หายไปตามยุคสมัย เหลือเฉพาะการเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์อย่างเดียว
ครั้นจับสลากแบ่งกัณฑ์เทศน์เสร็จแล้ว ก็มีการออกใบฎีกานิมนต์ชาวอีสานเรียกว่า การใส่หนังสือ นิมนต์พระภิกษุสามเณรจากอารามต่างๆ มาเทศน์ พร้อมใส่หนังสือใบลานที่แบ่งเป็นกัณฑ์ไปด้วย พระภิกษุสามเณรที่ได้รับใบฎีกานิมนต์พร้อมหนังสือใบลานกัณฑ์ต่างๆ ก็จะฝึกเทศน์ให้ชำนาญ ก่อนถึงวันบุญที่จะมาเทศน์ฉลองศรัทธาแก่ชาวบ้าน
ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะออกไปรวมตัวกันที่วัด เพื่อจัดตกแต่งประดับศาลาโรงธรรม ประกอบด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ตามฤดูกาลของภาคอีสาน โดยนำมาร้อยให้สวยงาม เช่น ดอกทองกาว ดอกสะแบง ดอกพระยอม ดอกดอกปีป ฯลฯ ส่วนผู้สูงอายุจะเตรียมทำหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ ธูปเทียนอย่างละพัน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องบูชาคาถาพัน
รอบศาลาโรงธรรมจะมี ธงผะเหวด ปักไว้ 8 ทิศ ตามต้นเสามี ขันกะย่อง ที่สานด้วยไม้ไผ่ผูกติดไว้เพื่อใช้ใส่ข้าวพันก้อน และตั้ง หอพระอุปคุต ที่ด้านทิศตะวันออกของศาลา ป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง
ข้างธรรมมาสน์ที่ใช้แสดงธรรมจะมีดาบ ปืนติดไว้ และอ่างน้ำ 4 ใบ ที่จำลองขึ้นเป็นสระน้ำ มีจอก แหน (สาหร่าย) ต้นบัว ดอกบัว ผักตบอยู่ในอ่างด้วย หน้าธรรมมาสน์จะตั้งหม้อน้ำมนต์ และเครื่องบูชาต่างๆ ไว้สำหรับเจ้าภาพมาจุดธูปเทียนบูชาตามกัณฑ์เทศน์ของตนเอง
การจัดตกแต่งศาลาโรงธรรม ชาวอีสานจะนิยมทำคล้ายๆ กัน อาจจะแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น และจัดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนถึงวันงาน
งานบุญผะเหวด ศูนย์รวมใจชาวอีสาน
งานบุญผะเหวดของชาวอีสานจะจัดอยู่ 2 วัน คือ 1. มื้อโฮม (วันรวม) โดยในตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ช่วงบ่ายมีการอัญเชิญพระอุปคุตจากสระหรือหนองน้ำใกล้หมู่บ้านมาประดิษฐาน ณ หอที่ตั้งไว้ มีขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยกัญหาและชาลีเข้าเมือง
บางท้องที่จัดใหญ่โตมีช้างประกอบขบวนแห่อย่างเอิกเกริก ส่วนชาวบ้านจะเก็บดอกไม้ตามป่าโคกเพื่อมาบูชาพระ เข้าร่วมขบวนแห่มีดนตรีกลองยาวเล่นอย่างสนุกสนาน เมื่อมาถึงศาลาโรงธรรมก็ร่วมกันฟังเทศน์พระมาลัยหมื่นพระมาลัยแสน บางท้องที่มีมหรสพสมโภชไปตลอดทั้งคืน
2. มื้องัน (วันเทศน์) ตอนเช้าตรู่เวลาประมาณ 05.00 น. มีการแห่ข้าวพันก้อนที่ชาวบ้านทำจากข้าวเหนียว ปั้นให้เป็นลูกกลมขนาดเท่าหัวแม่มือ จำนวน 1,000 ก้อน (เป็นคติการบูชาคาถา 1,000 พันคาถาในเรื่องพระเวสสันดรชาดก) นำมาแห่รอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แต่ละรอบก็นำข้าวพันก้อนวางไว้ตามขันกะย่องที่ผูกไว้ต้นเสาธงผะเหวดให้ครบทั้ง 8 ทิศ
จากนั้นพระภิกษุสามเณรก็จะเริ่มเทศน์ตั้งแต่กัณฑ์สังกาส คือการบอกศักราช กล่าวถึงอายุกาลของพระพุทธศาสนาที่ล่วงมาตามลำดับ ต่อมาเป็นการเทศน์พระเวสสันดรชาดก เริ่มกัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพร เรียงตามลำดับกัณฑ์ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน จนถึงนครกัณฑ์เป็นกัณฑ์สุดท้าย
การเทศน์ของพระภิกษุสามเณรมี 2 ลักษณะ คือ 1. เทศน์แบบอ่านหนังสือ หรือเทศน์ธรรมดา เป็นทำนองคล้ายกับการสูตรขวัญของอีสาน มีหลายทำนองตามความถนัดของพระผู้เทศน์ เช่น ทำนองกาเต้นก้อน ทำนองช้างเทียมแม่
2. เทศน์เล่นเสียงยาวๆ หรือเรียกว่าเทศน์แหล่ พระผู้เทศน์มีการเล่นลูกคอและทำเสียงสูงต่ำ เพื่อให้เกิดความไพเราะ ส่วนญาติโยมที่นั่งฟังเทศน์ เมื่อพระภิกษุสามเณรที่ตนรับเป็นเจ้าภาพรับกัณฑ์ขึ้นเทศน์ เจ้าภาพก็จุดเทียนบูชาคาถา หว่านข้าวตอกข้าวสาร ในช่วงเวลาที่พระภิกษุสามเณรกำลังเทศน์อยู่นั้น ถ้าพระผู้เทศน์เสียงดี ญาติโยมชาวบ้านก็จะถวายปัจจัยพิเศษเพิ่มเติมเรียกว่า “แถมสมภาร” และช่วงเย็นมีการแห่ กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน
กัณฑ์จอบ คือต้นดอกไม้เงินกัณฑ์พิเศษที่เจ้าของกัณฑ์เจาะจงจะนำไปถวายพระผู้เทศน์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ จึงเรียกว่ากัณฑ์จอบ (จอบ หมายถึงแอบดู) เมื่อเวลาที่จะนำไปถวาย เจ้าภาพต้องไปแอบดูให้รู้แน่เสียก่อนว่า พระที่กำลังเทศน์อยู่นั้นคือพระที่เจ้าภาพศรัทธาหรือไม่ ถ้าใช่จึงแห่ต้นกัณฑ์จอบเข้าไปยังอาราม เมื่อเทศน์เสร็จก็นิมนต์ลงมารับถวาย
ส่วน กัณฑ์หลอน คือต้นดอกไม้เงินที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำขึ้นด้วยศรัทธา จากคุ้มต่างๆ ภายในหมู่บ้านไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะถวายแด่พระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง
ทั้งต้นกัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน มีการแห่ด้วยวงกลองยาวพิณแคน ผู้ร่วมขบวนฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน เมื่อนำไปถึงอาราม พระหรือสามเณรรูปใดกำลังเทศน์อยู่ เมื่อท่านเทศน์จบก็นิมนต์มารับกัณฑ์หลอนต้นนั้น พระเณรรูปใดหากถูกกัณฑ์หลอนถือว่าโชคดี เพราะกัณฑ์หลอนมีปัจจัยมาก ดังผญาอีสานว่า “ถืกกัณฑ์หลอน มันซิรวยข้าวต้ม” แปลว่า ถ้าได้รับถวายกัณฑ์หลอนจะรวยข้าวต้มที่มาพร้อมกับต้นกัณฑ์หลอน
ในปัจจุบันประเพณีบุญผะเหวดของภาคอีสานนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาไปอีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงจังหวัดร้อยเอ็ดที่จัดงานบุญผะเหวดเป็นงานบุญใหญ่ประจำจังหวัด โดยมีคำที่ชาวร้อยเอ็ดพูดติดปากว่า “ไปกินข้าวปุ้น(ขนมจีน) เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ” งานบุญจัดขึ้นที่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์และบึงพลาญชัย ตรงกับวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534
ในงานประกอบด้วยขบวนแห่ 13 กัณฑ์ มีการตกแต่งขบวนแห่อย่างสวยงามตามเนื้อเรื่องของพระเวสสันดรชาดก มีการจัดซุ้มโรงทานข้าวปุ้น (ขนมจีน) ของประชาชน ห้างร้าน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ไว้คอยบริการแก่ผู้มาร่วมงานที่สามารถรับประทานกันได้อย่างเต็มอิ่ม และมีการแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอนของละคุ้ม หน่วยงานราชการ ภาครัฐและเอกชนอย่างยิ่งใหญ่ รวมเงินที่ได้ปีละหลายแสนบาท
บุญผะเหวดนอกจากจะเป็นงานบุญในฮีตสิบสอง ที่ชาวอีสานจัดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังเป็นงานบุญประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้าวจี่ : อาหารแซ่บอีสานที่ไม่ธรรมดา
- แนวกินถิ่น “อีสาน” วิถีชีวิตกับ “อาหาร” พื้นบ้าน จากข้าวเหนียว-แมง-แมลง-ปลา
- เกลือสินเธาว์ จากอีสาน ที่ 3,000 ปีก่อน ส่งไปขายไกลถึงทะเลสาบที่เขมร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ที่มา :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 9. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.
วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2560