เกลือสินเธาว์ จากอีสาน ที่ 3,000 ปีก่อน ส่งไปขายไกลถึงทะเลสาบที่เขมร

เกลือสินเธาว์
การต้ม เกลือสินเธาว์ (ภาพจาก https://thai.tourismthailand.org)

ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตเกลือของภูมิภาคสุวรรณภูมิในผืนแผ่นดินอุษาคเนย์ เกลืออีสานเหล่านี้เรียกและรู้จักในชื่อว่า “เกลือสินเธาว์”

เกลือสินเธาว์ ชื่อนี้เป็นการยืมคำบาลีมาใช้เรียกให้ดูมีค่าขึ้น “สินเธาว์” หมายถึงเกลือที่ได้จากแผ่นดินที่มีโดมเกลือน้ำเค็มอยู่ใต้ดิน คือเอาดินที่มีรสเค็มเรียกว่า “ขี้ทา” มาต้มให้ขอดแห้งจนตกผลึก เหลือเป็นเกล็ดเรียกเกลือสินเธาว์ (ขณะที่เกลือที่ได้จากน้ำทะเลเรียก เกลือสมุทร หรือเกลือทะเล)

แต่คำว่า “สินเธาว์” ที่มีรากจากภาษาบาลีว่า สินธฺว หมายถึง เกิดแต่แคว้นสินธวะ หรือม้าสินธพ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเกลือหรือรสเค็ม แสดงว่าไม่ใช่คำดั้งเดิมที่เรียกเกลือชนิดนี้ หากยืมคำพ้องเสียงมาใช้เรียกภายหลัง

ถ้าเช่นนั้นก่อนหน้านั้นเกลือสินเธาว์จากอีสาน เรียกว่าอะไร

มีคำเดิมที่ควรใช้เรียกเกลืออย่างนี้มาก่อนหลายคำ เช่น สินเทา เป็นคำของช่างเขียน หมายถึงเส้นแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ในจิตรกรรมฝาผนัง นิยมเขียนเป็นเส้นฟันปลา, ขี้เทา อุจจาระของเด็กแรกเกิด, ขี้ทา คราบเกลือผุดแห้งเกาะตามหน้าผิวดิน บางทีเรียก ขี้กระทา และขี้กระทาเกลือ

น่าสงสัยและน่าเชื่อว่าชื่อเรียกเกลืออีสานอาจมีที่มาจากคำเดิมว่า ขี้ทา-ขี้เทา แต่ฟังไม่สุภาพ ไม่ไพเราะเสนาะหู เลยยืมคำพ้องว่าสินเทามาแปลงเป็นบาลีว่า สินเธาว์ ให้ดูดีขึ้น และใช้เรียกมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ การผลิตเกลือสินเธาว์ของคนอีสานโบราณเมื่อ 3,000 ปีก่อน ก็ไม่ใช่เพียงการผลิตเกลือเพื่อกินใช้กันเพียงในชุมชนเท่านั้น หากเป็นการผลิตเกลือปริมาณมาก มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม และส่งออกไปขายถึงทะเลสาบในกัมพูชา 

เพราะเกลือสินเธาว์ ไม่ได้ใช้แค่เรื่องในครัว อย่างการปรุงอาหาร, การถนอมอาหาร แต่เกลือยังเป็น สินค้า และพลังงาน ใช้ลดจุดหลอมเหลวในการถลุงเหล็ก จนสังคมก้าวหน้าขึ้นเป็นรัฐใหญ่

ซึ่งการทำ เกลือสินเธาว์ ขณะนั้น จะทำกันในช่วงฤดูแล้ง 3-4 เดือน/ปี แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มคนที่มีอาชีพเฉพาะอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนต้มเกลือทำเกลือ, คนทำภาชนะดินเผาสำหรับต้มเกลือและบรรจุเกลือ, คนจัดหาเชื้อเพลิง, คนขายเกลือ ฯลฯ ยิ่งกว่านั้น ชุมชนเหล่านี้ยังเก็บเกลือไว้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนที่มีตลอดปี

โดยพื้นที่รอบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งผลิต เกลือสินเธาว์ หรือ “อาณาจักรเกลือ” มาแต่ยุคสุวรรณภูมิราว 2,500 ปีมาแล้ว พบเศษภาชนะดินเผาหลากหลายขนาดและชนิดอยู่รอบๆ ทุ่งกุลา ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก รวมทั้งแหล่งชุมนุมผู้คนที่เติบโตก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นเป็นบ้านเมืองและรัฐ คือ พิมาย (นครราชสีมา) กับ พนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และรัฐอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในยุคต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2567