รัฐสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามฯ อาณาเขตครอบคลุมถึงอโยธยา?

พระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช รัฐสุโขทัย
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพจาก Cloudcolors / Wikimedia commons สิทธิ์การใช้งาน Attribution-Share Alike 3.0 Unported)

รัฐสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามฯ อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลจนครอบคลุมถึงอโยธยา (โบราณ) เลยหรือไม่? เรื่องนี้สืบได้จากการวิเคราะห์หลักฐานในจารึกต่าง ๆ กันอีกครั้ง

คำว่า “พระราชาธิบดีสุรังคะ” ใน ตำนานพระพุทธสิหิงค์นั้น หมายถึง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

Advertisement

คําว่า “รอด” ในศิลาจารึก ในตำนานพระพุทธสิหิงค์ใช้คำว่า “จด” จึงเท่ากับแปลคำว่า “รอด” ว่า “จด” นั่นเอง

จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย กล่าวไว้ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หน้า 93 ว่าขอให้สังเกตว่า “จดแคว้นอโยธยา (ต้นฉบับใช้ ‘อโยทยา’) มิได้รวมแคว้นอโยธยาไว้ด้วย”

ผู้เขียน (สงบ สุริยินทร์) เห็นด้วยกับจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า อาณาจักรแห่งรัฐสุโขทัย มิได้รวมเอาแคว้นอโยธยา หรือ อโยธยาไว้ด้วย

ทั้ง ๆ ที่จิตร ภูมิศักดิ์ มีความเห็นว่าอาณาเขตรัฐสุโขทัยมิได้รวมแคว้นอโยธยาไว้ด้วย แต่จิตร ภูมิศักดิ์ ก็สับสนคือ อธิบายว่า

“ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงระบุเขตอาณาจักรสมัยพ่อขุนรามคำแหงด้านทิศใต้ ไว้ว่า ‘รอดคนที พระบาง แพรก สุวรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว’ นี่ก็จะเห็นว่า บอกอาณาเขตเลียบด้านตะวันตกลงไปตั้งแต่เมืองคนที (ในนครสวรรค์) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ตำบล แพรก) ศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) สุวรรณภูมิ (ในสุพรรณบุรี) แล้วลงภาคใต้จนถึงทะเลสมุทร (คือทะเลสาบนําเค็มสงขลา)”

ที่จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายดังนี้ แสดงว่าสับสน กล่าวคือในตอนแรก จิตร ภูมิศักดิ์ เห็นด้วยกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ ที่ว่าอาณาเขตของรัฐสุโขทัยไม่รวมเอาแคว้นอโยธยา แต่ตอนหลังกลับเห็นว่า อาณาเขตรัฐสุโขทัยรวมเอาแคว้นอโยธยาด้วย เพราะจิตร ภูมิศักดิ์ ยกเอาเมืองต่าง ๆ อยู่ในศิลาจารึกด้านทิศใต้ (ด้านหัวนอน) ซึ่งรวมเอาเมืองสุวรรณภูมิอยู่ด้วย เพราะเมืองสุวรรณภูมิ กับ “แคว้นอโยธยา” นั้นคือเมืองเมืองเดียวกัน แต่มีหลายชื่อคือ สุวรรณภูมิ อโยธยา สุพรรณบุรี สองพันบุรี (โปรดดูรายละเอียดในหนังสือประวัติศาสตร์ สุพรรณบุรี ของมนัส โอภากุล)

สรุปว่า จิตร ภูมิศักดิ์ยังเห็น หรือยังแปลคำว่า “รอด” มีความหมายว่า “อยู่ภายใต้อาณัติหรือเป็นเมืองขึ้นสุโขทัย” อยู่นั่นเอง

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา อาณาเขตของ “รัฐสุโขทัย” ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง มิได้มีมากหรือกว้างขวางครอบคลุมเอาเมืองต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกแต่อย่างใด เมื่อเมืองสุวรรณภูมิ หรือเมืองอโยธยา มิได้เป็นเมืองขึ้นสุโขทัย เพียงแต่มีอาณาเขตมาจดกันเท่านั้น ในข้อนี้มีตำนานสิงหนวัติระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 1824 พญายี่บา แห่งลําพูน ได้ขอกําลังจากอโยธยาและสุโขทัยให้ช่วยป้องกันศัตรูที่ยกมารุกราน อโยธยาและสุโขทัยก็ยกทัพไปช่วยพญายี่บา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ฐานะของอโยธยาและสุโขทัยเท่าเทียมกัน

สรุปว่า คำว่า “รอด” จึงแปลว่า “จด” นั้นถูกต้องแล้ว เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทิศใต้หรือเบื้องหัวนอนนั้น มิใช่เมืองขึ้นของสุโขทัย…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “อาณาเขตรัฐสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”  เขียนโดยสงบ สุริยินทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2566