“กล้า-นายทิวา-ประกิต” ชวนประกวด “มติชนอวอร์ด” รางวัลใหญ่แห่งปี! แสดงพลังนักเขียน-นักวาด

กล้า สมุทวาณิช เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร ประกิต กอบกิจวัฒนา เอกภัทร์ เชิดธรรมธร มติชนอวอร์ด 2024 มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก
กล้า สมุทวาณิช, เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร และประกิต กอบกิจวัฒนา ร่วมพูดคุยบนเวที "มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก" โโยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา

เมื่อ “วรรณกรรมและการ์ตูน” คือศิลปะที่สามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และมุมมองที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ บนโลกนี้ได้อย่างทรงพลัง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 สำนักพิมพ์มติชน, มติชนสุดสัปดาห์, หนังสือพิมพ์มติชน, ศูนย์ข้อมูลมติชน และ ศิลปวัฒนธรรม จึงจัดเวที มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนุนการประกวดมติชนอวอร์ด 2024 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท

กล้า สมุทวาณิช เอกรัตน์ จิตมั่นเพียร ประกิต กอบกิจวัฒนา เอกภัทร์ เชิดธรรมธร มติชนอวอร์ด 2024 มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก
เวทีมติชนอวอร์ด 2024 ในงานหนังสือ

ชวน 3 ตัวจริง แห่งแวดวงวรรณกรรม-กวี-การ์ตูนของเมืองไทย ได้แก่ กล้า สมุทวณิช เจ้าของรางวัลมติชนอวอร์ด (สาขาเรื่องสั้น) ปี 2554 เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร (นายทิวา) เจ้าของรางวัลมติชนอวอร์ด (สาขากวีนิพนธ์) ปี 2555 และ ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟมือหนึ่ง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมเชิญชวนให้ผู้สนใจได้ส่งผลงานเข้าประกวดมติชนอวอร์ด 2024 โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินรายการ

กล้า สมุทวณิช มติชนอวอร์ด 2024
กล้า สมุทวณิช

“มติชนอวอร์ด” พื้นที่เปิดกว้าง หนุนพลังวรรณกรรม

กล้า สมุทวณิช บอกว่า มติชนอวอร์ดทำให้คนมีพื้นที่แสดงออก และมติชนก็เปิดกว้างมากๆ น่าจะเป็นเวทีเดียวแล้วก็ว่าได้ ที่ผู้เข้ารอบจะได้มีผลงานตีพิมพ์ลงสื่อที่เป็นกระดาษ เรามักบอกว่ายุคนี้สื่อใหม่ไม่ต้องมีกระดาษก็ได้ แต่การตีพิมพ์ในนิตยสารที่เป็นกระดาษให้ความรู้สึก “ใจฟู” มากกว่าออนไลน์

ส่วนคำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ ว่า ทุกวันนี้ความสำคัญของวรรณกรรมอยู่ตรงไหน ตายแล้วหรือยัง กล้า บอกว่า พูดตรงๆ ก็ร่อแร่ เพราะคนอ่านน้อยลง แต่วรรณกรรมเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็มักถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอเมื่อมีสถานการณ์ใดๆ โดยเฉพาะประโยค “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า…” และ “ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป…”

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่อาจไม่อ่านวรรณกรรมแบบที่เราอ่านกันแล้ว แต่อ่านไลท์ โนเวล หรือวรรณกรรมที่มีภาพประกอบเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นการอ่านในอีกแบบ”

เจ้าของรางวัลมติชนอวอร์ด (สาขาเรื่องสั้น) ปี 2554 ในฐานะกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย สาขาเรื่องสั้น “มติชนอวอร์ด 2024” บอกอีกว่า เรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมที่อ่านง่าย มีความสนุก เพลิดเพลินใจได้อีกแบบ การเป็นกรรมการในปีนี้ จะให้คะแนนโดยอิงเนื้อหาและความสนุก อยากเห็นงานที่นำเสนอประเด็นทางสังคมที่เฉียบคมและมีความสนุก โดยบาลานซ์ 2 เรื่องนี้ได้อย่างลงตัว

เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร นายทิวา
เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือ “นายทิวา”

“บทกวี” แนวรบด้านวัฒนธรรม

เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร หรือนามปากกา “นายทิวา” เล่าว่า โตมากับการเขียนกวีส่งตามนิตยสาร เมื่อมติชนเปิดเวที มีคณะกรรมการที่เปิดกว้างมาพิจารณางานที่เปิดกว้าง

“เมื่อคุณมีของ ก็มีพื้นที่ให้ตีพิมพ์ มติชนอวอร์ดเป็นเวทีที่ทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผมยังทำงานอยู่ เพราะมติชนยังเปิดพื้นที่อยู่ นี่เป็นเวทีที่ต้องส่งงานมา เป็นเสน่ห์ของมติชนที่หาที่ไหนไม่ได้”

ใครที่คิดว่าทุกวันนี้ “บทกวี” เชยไปแล้วหรือเปล่า “นายทิวา” บอกว่า สังคมไทยโตมากับบทกวี โตมากับคำคล้องจอง คล้องใจ เพราะทำให้เราจดจำได้ง่าย แล้วบอกถึงความสำคัญของบทกวีอีกว่า เป็นการสื่อสารในรูปแบบข่าวได้ทางหนึ่ง

บทกวีเป็นหนึ่งในแนวรบด้านวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเรื่องสั้นและการ์ตูน ข่าวเป็นการนำเสนอที่ต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เช่น เรื่องทุจริต อย่างไรก็ตาม ข่าวอาจบอกตรงๆ ไม่ได้ว่าใครทุจริต ขณะที่บทกวี เรื่องสั้น และการ์ตูน ทำได้ ถือเป็นการนำเสนอข้อมูลสะท้อนสังคมและเป็นบันทึกแห่งยุคสมัย

“นายทิวา” บอกด้วยว่า เราจำข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ได้จากบทกวีด้วยซ้ำ เช่น ในยุคที่มหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเป็นนักศึกษาในยุคนั้น ก็แต่งบทกวี “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” เนื้อหาตอนหนึ่งว่า “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี”

สำหรับการประกวดมติชนอวอร์ด 2024 นั้น “นายทิวา” บอกว่า อยากเห็นมุมที่มาจากข้อสังเกตใหม่ๆ ตั้งคำถามใหม่ๆ และแสวงหาคำตอบใหม่ๆ โดยมีกลวิธีนำเสนอ ซึ่งมั่นใจว่าจะได้เห็นในการประกวดนี้

ประกิต กอบกิจวัฒนา
ประกิต กอบกิจวัฒนา

“การ์ตูน” พื้นที่สำคัญคนรุ่นใหม่

ประกิต กอบกิจวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย สาขาการ์ตูน “มติชนอวอร์ด 2024” บอกว่า นักเขียนการ์ตูนชั้นครู 2 คน ที่มีอิทธิพลทางความคิดกับตัวเองมาก คือ ประยูร จรรยาวงษ์ และ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ซึ่งงานของทั้งคู่มีความคมคาย เพียง 1 ภาพ 1 ประโยค แต่พาคนไปสู่การเมืองได้มาก

“การ์ตูนเป็นบันไดขั้นแรกของเด็กๆ ช่วยปลูกความคิดทางการเมืองให้คนรุ่นใหม่ได้ และการ์ตูนยังเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่”

ที่ว่าเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ ประกิตให้เหตุผลว่า เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอ่าน “เว็บตูน” ที่มีเนื้อหาหลากหลาย รวมทั้งเรื่องการเมืองด้วย

แล้วยกตัวอย่างการ์ตูนการเมือง เช่น ฝั่งประชาธิปไตยมี “สะอาด” ที่วาดและร่วมเขียนการ์ตูน “2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” ส่วนอีกฝั่งก็ผลิตแอนิเมชัน “๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” ซึ่งทั้งสองเรื่องทำให้เห็นบทบาทของการ์ตูนในปัจจุบัน

“การประกวดมติชนอวอร์ด 2024 อยากเห็นงานที่มีมุมมองคมคายที่มีต่อสังคมและการเมือง” ประกิจส่งท้าย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มติชนอวอร์ด 2024 มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ขุนพล พรหมแพทย์, อรุณ วัชระสวัสดิ์ มาร่วมฟังเวทีมติชนอวอร์ด 2024

เปิดตัว “9 อรหันต์” ตัดสินรอบสุดท้าย “มติชนอวอร์ด 2024”

การตัดสินผลการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด 2024 ในรอบสุดท้าย มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ล้วนมีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขามาร่วมตัดสิน โดยคณะกรรมการตัดสินกิตติมศักดิ์แต่ละสาขา มีดังนี้

สาขาเรื่องสั้น ได้แก่ กล้า สมุทวณิช เจ้าของรางวัลมติชนอวอร์ด (สาขาเรื่องสั้น) ปี 2554 นฤพนธ์ สุดสวาท ผู้ชนะเลิศรางวัลประกวดเรื่องสั้น มติชนอวอร์ด 2022 และ นิวัติ พุทธประสาท จากสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

สาขากวีนิพนธ์ ได้แก่ ผศ. ดร. ญาดา อารัมภีร อดีตอาจารย์ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คอลัมนิสต์นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ อารักษ์ คคะนาท หรือ “ละไมมาด คำฉวี” กวี-นักเขียน นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

สาขาการ์ตูน ได้แก่ อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักวาดการ์ตูน ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟชื่อดัง และ ขุนพล พรหมแพทย์ (การ์ตูนพี่ขุนพล)

เกี่ยวกับ “มติชนอวอร์ด”

มติชนอวอร์ดภายใต้เครือมติชน เกิดขึ้นด้วยต้องการส่งเสริมและสนับสนุนแวดวงวรรณกรรม ให้นักเขียนได้มีพื้นที่แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ จัดประกวดมาแล้วต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จอย่างสูงทุกครั้ง มีนักเขียนที่สร้างชื่อจากการประกวดมติชนอวอร์ดแล้วหลายราย ปีนี้ มติชนอวอร์ดกลับมาอีกครั้ง พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท จัดประกวดใน 3 ประเภท คือ วรรณกรรม กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม ซึ่งประเภทหลังเพิ่มเข้ามาปีนี้เป็นปีแรก ตอบโจทย์นักวาดที่ใช้การ์ตูนเป็นสื่อสร้างสรรค์มากขึ้น

ผู้สนใจสามารถส่งผลงานประกวดได้ถึงวันที่ 30 เมษายนนี้

รู้จัก มติชนอวอร์ด 2024 เขียน คิด พลิกโลก ให้มากขึ้น พร้อมรายละเอียดกติกาการประกวด ที่ลิงก์นี้ https://www.matichonweekly.com/literature…/article_741797

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2567