ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
“พระปีย์” ราชบุตรบุญธรรม “สมเด็จพระนารายณ์” ตกเป็นเหยื่อรัฐประหารของ พระเพทราชา และ หลวงสรศักดิ์ ต้องถูกประหารชีวิต
เหยื่อรัฐประหารในที่นี้ ผู้เขียนหมายถึง พระปีย์ (Pi, Mom Pi หรือ Phra Pi ที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุ
ฟอร์บัง หรือ Mom Pit ในจดหมายเหตุของ นิโกลาส์ แชรแวส-ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม) ราชบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นที่โปรดปรานของ สมเด็จพระนารายณ์ แต่ตกเป็นเหยื่อ รัฐประหาร (coup d’ e’tat) โดย พระเพทราชา และ หลวงสรศักดิ์ ผู้กระทำการเป็นฝ่ายชนะ พระปีย์ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 อันเป็นรัฐประหารยุคแรกๆ ของชาวสยาม ที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ
พระปีย์ ราชบุตรบุญธรรม สมเด็จพระนารายณ์
พระปีย์ เป็นบุตรของขุนไกรสิทธิศักดิ์ แห่งบ้านแก้ง พิษณุโลก ได้รับการดูแลอบรมบ่มเลี้ยงแบบชาววังและแบบแผนแห่งราชบุตรมาตั้งแต่เด็ก โดยพระมหากรุณาธิคุณ บรรดาเด็กเล็กๆ ลูกของขุนนางจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในราชสำนัก เด็กคนใดเติบโตขึ้นดูดีมีหน่วยก้าน จะได้รับการอุปถัมภ์ให้ก้าวหน้าในราชการต่อไป
พระปีย์โชคดีกว่าผู้อื่น เพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงรับชุบเลี้ยงเชิดชูให้เป็นราชบุตรบุญธรรม อาจเรียกว่าเป็นราชโอรสในอุดมคติอันโปรดปรานยิ่ง พระปีย์เป็นคนร่างเตี้ย แต่ก็ทรงเรียกขานอย่างรักใคร่ว่า “มาย ชอร์ตี้” (my shorty) หรือ “อ้ายเตี้ย” ที่จงรักภักดี รับใช้ใกล้ชิด หลับนอนแทบฐานพระแท่นบรรทม เฝ้าคอยประคับประคองให้ทรงลุกนั่งบนพระที่ ครั้งพระโรคร้ายไอหืดเรื้อรังกำเริบคุกคาม (บ้างเล่าว่าเป็นพระโรคท้องมาน) พระสุขภาพอ่อนแออยู่เนืองๆ ก่อนหน้าถึงเวลาสวรรคต 5-6 ปีด้วยซ้ำ
กระนั้นก็ตาม ทรงคาดหมายให้พระปีย์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี (กรมหลวงโยธาเทพ) ราชบุตรีองค์เดียวที่โปรดปรานอย่างยิ่ง แต่เจ้าหญิงทรงปฏิเสธ เพราะพระปีย์มีพื้นฐานชาติตระกูลต่ำต้อย หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันกับเจ้าฟ้าน้อยอยู่ก่อนแล้วก็ได้ (สมเด็จพระนารายณ์มีพระอนุชา 2 องค์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ ผู้มีพระวรกายพิการ กับ เจ้าฟ้าน้อย ผู้เป็นใบ้ หรือทรงแสร้งทำเป็นใบ้เพื่อคลายข้อระแวงสงสัยบางอย่าง เจ้าฟ้าทั้งคู่มีสิทธิธรรมในการครองราชสมบัติด้วย)
สำหรับพระปีย์เอง สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนับสนุนให้ได้ราชสมบัติ หรืออย่างน้อยๆ ก็ได้ครองเมืองพิษณุโลก หัวเมืองเอกทางเหนือ และได้รับการยกย่องสูงมาก ประดุจ “มกุฎราชกุมาร” เช่น เมื่อเวลาเสด็จทางสถลมารค พระปีย์ก็มีช้างส่วนตัว ไม่ต้องตั้งแถวหมอบกราบเหมือนขุนนางคนอื่นๆ ดังบันทึกตอนหนึ่งของ นิโกลาส์ แชรแวส ที่ระบุว่า
“เบื้องหลังพระเจ้าแผ่นดินไปแปดหรือสิบก้าว มีช้างอีกเชือกหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะงดงาม และประดับเครื่องอลังการไม่แพ้ช้างพระที่นั่งที่เดินตามหลังมา เป็นช้างที่นั่งของเจ้าชายซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงรับไว้เป็นราชบุตรบุญธรรมองค์นั้น ติดตามด้วยช้างขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งหมอบราบมาบนหลังเปล่าโดยไม่มีกูบและสงบปากสงบคำอย่างยิ่ง มีข้าทาสติดตามหลังมาอีกทอดหนึ่ง ทิ้งระยะห่างจากกองร้อยทหารรักษาพระองค์เพียงสามหรือสี่ก้าวเท่านั้น อันเป็นการปิดขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยทางสถลมารค”
พระปีย์ ได้รับการยกย่องเชิดชูสูงส่ง และโดยเปิดเผยเช่นนี้ น่าจะท้าทายราชวงศ์บางองค์ และขุนนางผู้ใหญ่บางคนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ หลวงสรศักดิ์ ผู้เป็นราชบุตรตัวจริง แต่ทรงให้การอุปถัมภ์น้อยกว่ามาก แม้บรรดาศักดิ์ในราชการ พระปีย์มีบรรดาศักดิ์ถึงขั้น “พระ” เทียบชั้นพระเพทราชา พระศักดิสงคราม (ฟอร์บัง) สูงกว่า หลวงสรศักดิ์ ซึ่งบรรดาศักดิ์แค่หลวงเท่านั้น
หลวงสรศักดิ์ เป็นราชบุตรสมเด็จพระนารายณ์ที่เกิดกับสนม เจ้านายฝ่ายเหนือ ด้วยความเชื่อบางอย่างพระองค์พระราชทานราชบุตรผู้นั้นให้เป็นบุตรของพระเพทราชา ผู้ดูแลรักใคร่ดีดุจบุตรของตน และหลวงสรศักดิ์ก็จงรักภักดีต่อพระเพทราชาดุจบิดาแท้ๆ ไม่แพ้กัน แต่คงรู้สึกเจ็บปวดไม่น้อยที่ว่าตนไม่เป็นที่ต้องการของพ่อตัวจริง อันเป็น “ปมใจ” ที่ผลักดันให้ต้องแสดงออกโดยออกอาการก้าวร้าวหลายอย่าง เช่น ดักชกต่อยฟอลคอน-พระยาวิไชยเยนทร์ ณ ลานต้นจัน ประตูวิเศษไชยศรี กับมีส่วนอย่างสำคัญในการทำรัฐประหารยึดอำนาจพ่อตัวจริงให้พ่อบุญธรรม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231
เหยื่อรัฐประหาร
พระปีย์ แม้จะมีพื้นฐานเป็นคนบ้านนอก แต่เมื่อได้รับการอบรมบ่มเลี้ยงตามแบบผู้ดีและตามแผนราชบุตร ก็สามารถปรับท่าทางให้ดูงามสง่าน่านับถืออยู่มาก เข้ากับขุนนางผู้ใหญ่ทั้งไทยและฝรั่งได้ดี กล่าวสำหรับวิไชยเยนทร์ ก็เชื่อว่าเป็นเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ คือหนุนพระปีย์ให้ได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์วงศ์ปราสาททององค์ต่อไป และนี่น่าจะเป็นเหตุให้หลวงสรศักดิ์ต่อยจนฟันหักหลายซี่
ส่วนฟอร์บังนั้นสนิทสนมกับพระปีย์มากเป็นพิเศษ ในจดหมายเหตุฟอร์บังระบุว่า ฟอร์บังเคยช่วยพระปีย์ให้พ้นพระอาญาสำคัญเรื่องหนึ่ง ไม่เช่นนั้นพระปีย์จะถูกลงโทษด้วยการถูกเฆี่ยนอย่างหนัก ด้วยพระอาญาแห่งราชสำนักเข้มข้นมาก แม้วิไชยเยนทร์เองก็เคยได้สัมผัสการเฆี่ยน เพราะเคยต้องพระอาญามาแล้วตามคำบอกเล่าของฟอร์บัง เมื่อฟอร์บังจากไปยังได้มีจดหมายมาถึงพระปีย์ ห่วงใยในมิตรภาพและความหวังดีต่อกัน และพระปีย์ได้ตอบจดหมายฟอร์บังด้วย
ส่วน พระเพทราชา แรกๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีมาก เป็นเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งน่าจะทำให้พระปีย์เต็มไปด้วยความหวังอย่างยิ่ง แต่ภายหลังเกิดหมางกันขึ้นโดยพระปีย์ไม่รู้เท่าทันกลเกมอำนาจ ขณะเดียวกันพระอาการพระโรคของสมเด็จพระนารายณ์กำเริบทรุดหนักมากขึ้น พระเพทราชา ที่มีหลวงสรศักดิ์เป็นกำลังหลัก ก็เร่งกระทำการรัฐประหารทันที ตัดหน้าพระยาวิไชยเยนทร์ ซึ่งก็เตรียมการยึดอำนาจอยู่เหมือนกันเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ปี 2231 โดยเข้าล้อมพระราชวัง คือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ กับกักขังสมเด็จพระนารายณ์ไว้ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พร้อมแพทย์หลวงกับข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด 2-3 คนเท่านั้น
เพียง 2 วันที่การรัฐประหารเริ่มต้น พระปีย์ก็ถูกฆ่าอย่างไม่ปรานีและโดยทันทีแถบประตูกำแพงแก้ว พระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั่นเอง โดยที่ทูลกระหม่อมแก้ว คือสมเด็จพระนารายณ์ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลยหลังจากหลบหนีภัยมาหลบซ่อนอาศัยพระบารมีชั่วข้ามคืน
พระปีย์ จึงเป็นเหยื่อรัฐประหารรายแรกที่หลั่งเลือดเซ่นคมดาบรัฐประหาร สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในวาระสุดท้ายที่ทรงทราบจากแพทย์หลวงว่า พระปีย์ได้ถูกประหารชีวิตแล้ว และครั้งหนึ่งเมื่อทอดพระเนตรเห็นพระเพทราชาเข้าเฝ้า ก็ทรงพิโรธจัดจนเสด็จสู่วิสัญญีภาพโดยทันที ครั้นทรงฟื้นคืนพระองค์ได้ก็ตรัสบริภาษสาปแช่งพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ด้วยประการต่างๆ
นับแต่นั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงเศร้าซึม และพระอาการพระโรคก็ทรุดเสื่อมลงจนถึงที่สุด เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 2231 ทิ้งช่วงเวลาการจากไปของพระปีย์เกือบ 2 เดือน ส่วนวิไชยเยนทร์ถูกสังหาร วันที่ 11 มิถุนายน ปี 2231 หลังพระปีย์โดยประมาณ 3 สัปดาห์
ชายหนุ่มสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งเคยถูกเชื่อว่าโชคดีมาตั้งแต่เกิดจนวัยหนุ่มโดยได้รับพระกรุณาชูชุบอุปถัมภ์ให้เป็นราชบุตรบุญธรรม มีราชสมบัติอยู่แค่เอื้อม แต่เป็นคนซื่อไม่รอบรู้เท่าทันกลเกมแห่งอำนาจ โชคชะตาจึงพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ต้องจบชีวิตโดยถูกฆ่าอย่างน่าอนาถ แม้จะอยู่ใกล้ๆ กับทูลกระหม่อมแก้วผู้ยิ่งใหญ่เป็นเจ้าชีวิตก็ไม่อาจช่วยอะไรได้ เขาเป็นเหยื่อรัฐประหาร วันที่ 18 พฤษภาคม 2231 เป็นรายแรก!
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระปีย์” ราชบุตรบุญธรรม สมเด็จพระนารายณ์ ผู้ตกเป็นเหยื่อรัฐประหาร?
- เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ที่มา “พระปีย์” พระราชบุตรบุญธรรม ในสมเด็จพระนารายณ์?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2560