“พระปีย์” ราชบุตรบุญธรรมสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ตกเป็นเหยื่อรัฐประหาร?

ภาพวาด ลายเส้น พระปีย์
พระปีย์เหยื่อรัฐประหาร ภาพในจินตนาการของ ม.วรพินิต

พระปีย์ หรือที่รู้จักกันว่าเป็นราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ ส.สีมา เขียนถึงเรื่องราวของพระปีย์ไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2556 โดยอ้างจาก จดหมายเหตุ ฟอร์บัง หรือ Mom Pit ในจดหมายเหตุของ นิโกลาส์ แชรแวส-ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม ไว้ว่า

พระปีย์ เป็นบุตรของขุนไกรสิทธิศักดิ์ แห่งบ้านแก้ง พิษณุโลก ได้รับการดูแลอบรมบ่มเลี้ยงแบบชาววังและแบบแผนแห่งราชบุตรมาตั้งแต่เด็ก โดยพระมหากรุณาธิคุณ บรรดาเด็กเล็กๆ ลูกของขุนนางจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในราชสำนัก เด็กคนใดเติบโตขึ้นดูดีมีหน่วยก้าน จะได้รับการอุปถัมภ์ให้ก้าวหน้าในราชการต่อไป

Advertisement

สำหรับพระปีย์โชคดีกว่าผู้อื่น สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับชุบเลี้ยงเชิดชูให้เป็นราชบุตรบุญธรรม อาจเรียกว่าเป็นราชโอรสในอุดมคติ (ideal son) อันโปรดปรานยิ่ง พระปีย์เป็นคนร่างเตี้ย แต่ก็ทรงเรียกขานอย่างรักใคร่ว่า “มาย ชอร์ตี้” (my shorty) หรือ “อ้ายเตี้ย” ที่จงรักภักดี รับใช้ใกล้ชิด หลับนอนแทบฐานพระแท่นบรรทม

พระปีย์ ได้รับการยกย่องเชิดชูสูงส่ง และโดยเปิดเผยเช่นนี้ น่าจะท้าทายเจ้านายบางองค์ และขุนนางผู้ใหญ่บางคนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลวงสรศักดิ์! ผู้เป็นราชบุตรตัวจริง แต่ทรงให้การอุปถัมภ์น้อยกว่ามาก แม้บรรดาศักดิ์ในราชการ พระปีย์มีบรรดาศักดิ์ถึงขั้นพระ เทียบชั้นพระเพทราชา หรือพระศักดิสงคราม (ฟอร์บัง) สูงกว่าหลวงสรศักดิ์ ซึ่งบรรดาศักดิ์แค่หลวงเท่านั้น

(หลวงสรศักดิ์ เป็นราชบุตรสมเด็จพระนารายณ์ที่เกิดกับสนม เจ้านายฝ่ายเหนือ ด้วยความเชื่อบางอย่าง พระราชทานราชบุตรผู้นั้นให้เป็นบุตรของพระเพทราชา ผู้ดูแลรักใคร่ดีดุจบุตรของตน และหลวงสรศักดิ์ก็จงรักภักดีต่อพระเพทราชาดุจบิดาแท้ๆ ไม่แพ้กัน แต่คงรู้สึกเจ็บปวดไม่น้อยที่ว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ เป็น unwanted child ของพ่อตัวจริง อันเป็นปมใจ ที่ผลักดันให้ต้องแสดงออกโดยออกอาการก้าวร้าวหลายอย่าง เช่น ดักชกต่อยฟอลคอน-พระยาวิไชยเยนทร์ ณ ลานต้นจัน ประตูวิเศษไชยศรี กับมีส่วนอย่างสำคัญในการทำรัฐประหารยึดอำนาจพ่อตัวจริงให้พ่อบุญธรรม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2231! (และปมใจนั้นอาจเรียกว่า ปมอิจฉาริษยาระหว่างพี่น้อง-sibling rivalry)

พระปีย์ แม้จะมีพื้นฐานเป็นคนบ้านนอก แต่เมื่อได้รับการอบรมบ่มเลี้ยงตามแบบผู้ดีและตามแผนราชบุตร ก็สามารถปรับท่าทางให้ดูงามสง่าน่านับถืออยู่มาก เข้ากับขุนนางผู้ใหญ่ทั้งไทยและฝรั่งได้ดี กล่าวสำหรับวิไชยเยนทร์ ก็เชื่อว่าเป็นเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ คือหนุนพระปีย์ให้ได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์วงศ์ปราสาททององค์ต่อไป และนี่น่าจะเป็นเหตุให้หลวงสรศักดิ์ต่อยจนฟันหักหลายซี่

ส่วนฟอร์บังนั้นสนิทสนมกับพระปีย์มากเป็นพิเศษ ในจดหมายเหตุฟอร์บัง ระบุว่าฟอร์บังเคยช่วยพระปีย์ให้พ้นพระอาญาสำคัญเรื่องหนึ่ง ไม่เช่นนั้นพระปีย์จะถูกลงโทษด้วยการถูกเฆี่ยนอย่างหนัก ด้วยพระอาญาแห่งราชสำนักเข้มข้นมาก แม้วิไชยเยนทร์เองก็เคยได้สัมผัสการเฆี่ยน เพราะเคยต้องพระอาญามาแล้วตามคำบอกเล่าของฟอร์บัง เมื่อฟอร์บังจากไปยังได้มีจดหมายมาถึงพระปีย์ ห่วงใยในมิตรภาพและความหวังดีต่อกัน และพระปีย์ได้ตอบจดหมายฟอร์บังด้วย

สำหรับพระเพทราชา แรกๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีมาก เป็นเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งน่าจะทำให้พระปีย์เต็มไปด้วยความหวังอย่างยิ่ง แต่ภายหลังเกิดหมางกันขึ้นโดยพระปีย์ไม่รู้เท่าทันกลเกมอำนาจ ขณะเดียวกันพระอาการพระโรคของสมเด็จพระนารายณ์กำเริบทรุดหนักมากขึ้น พระเพทราชา (โดยมีหลวงสรศักดิ์เป็นกำลังหลัก) ก็เร่งกระทำการรัฐประหารทันที ตัดหน้าพระยาวิไชยเยนทร์ ซึ่งก็เตรียมการยึดอำนาจอยู่เหมือนกันเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 โดยเข้าล้อมพระราชวัง (พระนารายณ์ราชนิเวศน์) กับกักขังสมเด็จพระนารายณ์ไว้ในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พร้อมแพทย์หลวงกับข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด 2-3 คนเท่านั้น

เพียง 2 วันที่การรัฐประหารเริ่มต้น พระปีย์ก็ถูกฆ่าอย่างไม่ปรานีและโดยทันทีแถบประตูกำแพงแก้ว พระที่นั่งสุทธาสวรรย์นั่นเอง โดยที่ทูลกระหม่อมแก้ว คือสมเด็จพระนารายณ์ ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลย หลังจากหลบหนีภัยมาหลบซ่อนอาศัยพระบารมีชั่วข้ามคืน

พระปีย์ จึงเป็นเหยื่อรัฐประหารรายแรกที่หลั่งเลือดเซ่นคมดาบรัฐประหาร สมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในวาระสุดท้ายที่ทรงทราบจากแพทย์หลวงว่าพระปีย์ได้ถูกประหารชีวิตแล้ว และครั้งหนึ่งเมื่อทอดพระเนตรเห็นพระเพทราชาเข้าเฝ้า ก็ทรงพิโรธจัดจนเสด็จสู่วิสัญญีภาพโดยทันที ครั้นทรงฟื้นคืนพระองค์ได้ก็ตรัสบริภาษสาปแช่งพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ด้วยประการต่างๆ นับแต่เวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงเศร้าซึมและพระอาการพระโรคก็ทรุดเสื่อมลงจนถึงที่สุด

สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ทิ้งช่วงเวลาการจากไปของพระปีย์เกือบ 2 เดือน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2562