เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ที่มา “พระปีย์” พระราชบุตรบุญธรรม ในสมเด็จพระนารายณ์?

"สมเด็จพระนารายณ์และพระปีย์" ภาพฉากตอนหนึ่งในละครบุพเพสันนิวาส ออกอากาศทางช่อง 3

ความที่สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) ไม่มีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีอย่างที่ตั้งพระทัยไว้ จึงทรงรับเอา “พระปีย์” บุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่ง มาเป็นพระราชบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยพระองค์โปรดให้มีพระนมพี่เลี้ยงดูแลอภิบาล ดุจเดียวกับลูกหลวง พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) บันทึกไว้แต่เพียงสังเขปว่า

“…พระปีย์ผู้นี้เป็นบุตรขุนไกรสิทธิศักดิ์ชาวบ้านแก่ง ทรงพระพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ในพระราชวังแต่ยังเยาว์ ให้มีนางนมพี่เลี้ยงประดุจหนึ่งลูกหลวง และพระปีย์นั้นมีพรรณสัณฐานต่ำเตี้ย ทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย…[1]

บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน กล่าวถึงความเป็นมาของพระปีย์ไว้สอดคล้องใกล้เคียงกับพระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ว่า

“อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใคร่จะตัดความสัมพันธ์อันนั้นเสีย และจะทรงอภิเษกพระราชธิดาให้แก่พระปีย์ ซึ่งพระองค์ทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมและทรงเลือกให้เป็นรัชทายาท ในขณะนั้น, ขุนนางหนุ่มผู้นั้นเพิ่งจะมีอายุได้ 15-16 ปีเท่านั้นเอง เป็นบุคคลที่มีพื้นกำเนิดค่อนข้างต่ำต้อย อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเหนือเมืองละโว้ขึ้นไป เขาได้ถูกนำตัวมายังพระบรมมหาราชวังพร้อมกับเด็กอื่นๆ อีกหลายคนตั้งแต่ยังไม่หย่านม แล้วและทรงนำมาเลี้ยงไว้ ด้วยพระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงโปรดให้นำเด็กอ่อนๆ มาเลี้ยงไว้ใกล้ชิดพระองค์ ไม่ทันให้จดจำหน้าบิดามารดาของตนได้ เพื่อที่จะได้มีความจงรักภักดีในพระองค์อย่างแน่นแฟ้น แต่พระองค์ก็มิได้ทรงข่มขืนน้ำใจ ถ้าเด็กอ่อนคนใดที่ถูกนำมานั้นร้องไห้และดูทีว่าไม่พอใจที่ถูกพรากจากมารดา ทั้งๆ ที่มีอายุยังไม่ทันจะเดียงสาแล้วไซร้ พระองค์ก็จะทรงให้ส่งตัวกลับคืนไปทันที และทรงรับเอาไว้แต่เด็กอ่อนที่มีความพอใจในการเปลี่ยนแปลงฐานะวาสนาของตนเท่านั้น

พระปีย์นั้นยังดื่มนมอยู่ ดังที่กระผมได้กราบเรียนพระคุณเจ้าแล้ว อยู่ในจำนวนทารกประเภทหลังนี้ แต่พอนำเข้าถวายตัวต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีทีท่าว่าคุ้นหน้า เข้าถวายการลูบคลำด้วยความสนิทเสน่หาและด้วยความเคารพ อันทำให้ในหลวงทรงโปรดปรานเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระขนิษฐภคินีพระองค์หนึ่งรับเอาไปเลี้ยงไว้ และทรงใคร่ให้ได้รับการเลี้ยงดูคู่กันไปกับพระราชธิดาทีเดียว… [2]

บาทหลวง เดอะ แบส เดินทางมายังราชสำนักสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 ขณะพระปีย์อายุได้ 15-16 ปี จึงควรประสูติในราว พ.ศ. 2214-15 อายุอ่อนกว่าออกหลวงสุรศักดิ์แค่เพียง 1-2 ปีเท่านั้น แม้พระปีย์จะได้รับการยกย่องจากข้าราชสำนักในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม แต่อีกด้านหนึ่งกลับมีเสียงซุบซิบนินทาหนาหูว่า พระปีย์เป็น “โอรสลับ” ในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) หนังสือราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) ของ บาทหลวงลาลูแบร์ (Simon de la Loubere) อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ พระองค์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาเยือนราชสำนักสยามใน พ.ศ. 2230 ได้กล่าวพาดพิงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ ตามคำบอกเล่าของชาวสยามในยุคนั้นว่า

“พระเจ้ากรุงสยามก็ทรงแวดล้อมไปด้วยเด็กๆ พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเลี้ยงไว้จนกระทั่งเด็กนั้นมีอายุได้ 7 ถึง 8 ขวบ พ้นนั้นไปเมื่อเด็กสิ้นความเป็นทารกแล้ว ก็จะไม่โปรดอีกต่อไป มีผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่ในหลวงทรงเลี้ยงไว้จนกระทั่งอายุได้ 20 ถึง 30 ปี และบัดนี้ ก็ยังเป็นคนโปรดของพระองค์ท่านอยู่ ลางคนก็เรียกคนโปรดผู้นั้นว่า พระราชบุตรบุญธรรม ลางคนก็สงสัยว่า คนโปรดผู้นั้นที่จะเป็นพระโอรสลับของพระเจ้าอยู่หัว แต่เท่าที่ทราบกันก็คือ เขาเป็นผู้ร่วมนมกับเจ้าหญิงพระราชธิดาของพระองค์” [3]

เอกสารบันทึกการปฏิวัติในสยามปี พ.ศ. 2231 ของ นายพลเดส์ฟาร์จ ก็ได้กล่าวถึงชาติกำเนิดอันลึกลับของพระปีย์ตามเสียงซุบซิบของข้าราชสำนักศรีอยุทธยา ว่า

“พระปีย์โอรสบุญธรรมในพระเจ้าแผ่นดิน (ที่บางคนโจษกันว่าเขาเป็นโอรสที่แท้จริง) เป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในราชสำนักตลอด และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินมาก มีหลายคราวที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแสดงให้เห็นว่าจะมอบราชสมบัติให้หากว่าเขาต้องการ แต่เนื่องจากพระปีย์เกิดในตระกูลที่ต่ำต้อย พลพรรคที่จะช่วยในการสนับสนุนให้มีอำนาจก็น้อย เพราะทั้งขุนนาง ไพร่ฟ้าประชาชนที่รู้จักชาติกำเนิดของเขาต่างก็ไม่สามารถที่จะยอมรับเรื่องนี้ได้ และความชอบธรรมก็จะไปตกแก่เจ้าชายซึ่งเป็นที่รักของประชาชนมากกว่า” [4]

ส่วนหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของ นิโคลาส์ แชร์แวส กล่าวพาดพิงถึงเบื้องหลังสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) กับพระปีย์พระราชบุตรบุญธรรมไว้ในทำนองพงศาวดารกระซิบ ว่า

“…พระสวามี [พระปีย์ – ผู้เขียน] ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกให้เธอ [เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ – ผู้เขียน] นั้น เหมาะสมกันด้วยประการทั้งปวง เป็นบุคคลที่มีความเฉลียวฉลาดมาก พระเจ้าแผ่นดินทรงรักเขาเป็นที่สุด และทรงรับเป็นพระราชบุตรบุญธรรม แต่ชาวราชสำนักก็ได้ปฏิบัติต่อบุคคลผู้นั้นเสมอว่าเขาเป็นพระราชบุตรโดยแท้ของพระองค์เองทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นั่งกูบบนหลังช้างได้ และไม่ต้องหมอบเฝ้าเมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ท่าน ให้เข้าไปถึงพระแท่นที่ประทับได้ทุกเวลา และให้มีภูษิตาภรณ์ที่หรูหราและงดงามเทียมเท่าของพระองค์เอง

ถ้าเราจะเชื่อตามคำบอกเล่าทำนองนินทาเกี่ยวกับราชสำนักสยามแล้ว ก็ว่ากันว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงได้ราชบุตรองค์หนึ่งจากการสมพาสกับนางสนมคนหนึ่งแล้ว และทรงจัดการตบแต่งให้เป็นฝั่งฝาไปเสียกับออกขุนผู้หนึ่ง [ขุนไกรสิทธิศักดิ์ – ผู้เขียน] เมื่อนางตั้งครรภ์ขึ้นมา ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงมีกรณียุ่งยากมาแล้วแต่ครั้งขึ้นเสวยราชย์ โดยพระราชบุตรต่างพระชนนีซึ่งพระราชบิดาทรงละไว้เป็นอันมากเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงได้ปลงพระทัยให้เจ้าชายองค์นี้เป็นบุตรของออกขุนผู้นั้นไปเสีย โดยนัยว่า ถ้าในกาลต่อมาเจ้าชายองค์นั้นมีพฤติการณ์อันไม่เหมาะสมแก่ความหวังดังพระทัยแล้วไซร้ ก็เป็นอันหมดสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาราชบัลลังก์ได้…” [5]

แม้แต่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยา ฉบับตุรแปง ยังกล่าวถึงคำร่ำลือเรื่องชาติกำเนิดอันสูงส่งของพระปีย์ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

“มีคนโปรดในราชสำนักอยู่คนหนึ่งชื่อ หม่อมปีย์ (Monpit) อายุ 22 ปี ผู้ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเกียรติยศชื่อเสียงให้อย่างมากมาย สิทธิต่างๆ ที่ทั้งเขาและญาติของเขาได้รับนั้น เป็นที่ซุบซิบนินทากันว่า หม่อมปีย์เป็นโอรสอันเกิดจากการลอบรักอย่างลับๆ ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับนางสนม และกล่าวกันว่า หม่อมปีย์ได้ถูกรับเลือกเป็นรัชทายาทของราชบัลลังก์ สายตาทุกคู่คอยจับจ้องแต่หม่อมปีย์ ซึ่งเป็นความหวังอันมั่นคงที่จะปกครองประเทศในวันหนึ่งข้างหน้า” [6]

แม้ว่าจะมีเสียงซุบซิบนินทาหนาหูว่า พระปีย์เป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) แต่บรรดาเจ้านายและข้าราชสำนักก็อาจไม่ยอมรับในเรื่องนี้ โดยยังคงถือว่าพระปีย์มีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยอยู่ตามเดิม ดังกรณีของเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน เล่าว่า

“ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในพระสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา (เจ้าฟ้าน้อย) อยู่แล้ว…เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับๆ ดังที่กระผมได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือมร. ก็องสตังซ์ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์…” [7]

พระปีย์รู้ดีว่าตนเป็นที่รังเกียจของเหล่าเจ้านายและข้าราชสำนักว่าท่านมีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อย จึงพยายามทำตัวให้มีความสำคัญเสมือนหนึ่งพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) หนังสือสารานุกรมยุโรป (Le Dictionnaire Universel Francois et Latin) บันทึกว่า

“พระปีย์ โอรสบุญธรรมของพระเจ้ากรุงสยาม ผู้ซึ่งพยายามจะให้เป็นที่ยอมรับเหมือนเป็นพระราชโอรสแท้ของพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบพระอนุชาในเรื่องที่จะได้สืบราชสมบัติ ทั้งนี้ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินพระทัยของพระเจ้ากรุงสยามแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เรื่องชาติกำเนิดอันต่ำต้อยเกินไปของพระปีย์เป็นที่รู้กันไปทั่ว…” [8]

พระปีย์พยายามลบภาพลักษณ์ชนชั้นไพร่ของตน ด้วยการเรียนรู้มารยาทต่างๆ ในราชสำนักสยาม จนกลายมาเป็นผู้ดีตามทรรศนะของชนชั้นปกครองชาวสยาม ส่งผลให้พระปีย์เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) มากยิ่งขึ้น บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน เล่าว่า

“…พระปีย์ได้รับประโยชน์จากการถูกขัดเกลากล่อมนิสัย จนไม่เหลือพื้นเพต่ำต้อยอันเป็นภูมิกำเนิดเดิมของตนเลย มีกิริยาท่าทีเป็นลูกผู้ดีไปทุกกระเบียดนิ้ว และกลายเป็นชาวราชสำนักที่สมบูรณ์พร้อมไปได้ในที่สุด เขาไม่ค่อยมีปฏิภาณปรีชาหรือสติปัญญาเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องนัก แต่ก็มีท่วงทำนองอันสง่าผ่าเผย และกิริยามรรยาทอันไม่เคอะเขินและเป็นที่ต้องตาเข้ามาแทนคุณสมบัติที่บกพร่องอยู่นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้เอาพระทัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความสนใจจดจำพระราชอิริยาบถและเก็งน้ำพระทัยถูก เขากระทำตนให้เป็นที่โปรดปรานจนในหลวงไม่ทรงยอมให้คลาดไปทางไหนได้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในวัง, เสด็จประพาสล่าสัตว์ หรือการเสด็จพระราชดำเนินใดๆ ก็จะได้เห็นพระปีย์เฝ้าแหนใกล้ชิดพระองค์อยู่เป็นนิจ คอยจับสังเกตสีพระพักตร์ว่าจะทรงต้องพระราชประสงค์สิ่งไรบ้าง จนในหลวงทรงรับสั่งชมเชยเอาต่อหน้าว่า พระปีย์ได้ทำให้พระองค์ไม่ต้องทรงเมื่อยพระโอษฐ์ตรัสโน่นสั่งนี่เลย โดยที่ทรงมีน้ำพระทัยสนิทเสน่หาในคนโปรดหนุ่มผู้นี้มาก จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเอาเป็นพระราชบุตรบุญธรรม และโดยที่เจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์ (เจ้าฟ้าอภัยทศกับเจ้าฟ้าน้อย) ได้เสื่อมความดีความชอบไปแล้วดังที่กระผมได้กราบเรียนมาข้างต้น จึงได้ทรงพระราชดำริจะสถาปนาพระปีย์ขึ้นเป็นรัชทายาท และจะให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาดังได้กล่าวมาแล้วนั้น” [9]

แม้พระปีย์จะพยายามลดปมด้อยเรื่องชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยสักเพียงใด แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางสักเท่าใด ทำให้สิทธิธรรมในการสืบทอดราชบัลลังก์ของตนต้องกลายเป็นหมันไปโดยปริยาย แม้จะได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) อยู่ก็ตามที แต่ในกรณีที่มีผู้คนโจษขานว่า พระปีย์เป็น “โอรสลับ”  ในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) แต่พระองค์กลับทรงวางเฉยเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องที่พระปีย์เป็น “โอรสลับ” ของพระองค์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ. เล่ม 2, น. 117.

[2] เดอะ แบส เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน. (นนทบุรี : บริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด, 2550), น. 100-101.

[3] เดอ ลาลูแบร์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. ราชอาณาจักรสยาม. (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2510), น. 43.

[4] ดส์ฟาร์จ เขียน, ปรีดี พิศภูมิวิถี แปล. ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2552), น. 8.

[5] นิโคลาส์ แชร์แวส เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. (นนทบุรี : บริษัท สำนักพิมพ์ศรีปัญญา จำกัด, 2550), น. 199-200.

[6] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง เขียน, สมศรี เอี่ยมธรรม แปล. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยา. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2522), เรื่องเดิม. น. 78-79.

[7] เดอะ แบส. เรื่องเดิม. น. 101-102.

[8]  วินัย พงศ์ศรีเพียร แปล. “สยาม,”ใน อาจารยบูชา 90 ปี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. โครงการวิจัย 100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร มีอายุครบ 90 ปี ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552, น. 20.

[9]  เดอะ แบส. เรื่องเดิม. น. 101.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2561