ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ข้าวมาบุญครอง” ยี่ห้อ “ข้าวสารบรรจุถุง” โดยกลุ่มของ ศิริชัย บูลกุล เป็นรายแรก ๆ ที่ออกวางจำหน่ายในประเทศไทย
ก่อนปี 2527 การซื้อข้าวสารมาบริโภคโดยทั่วไปไม่ได้ซื้อกันเป็นถุงอย่างทุกวันนี้ ครอบครัวใหญ่ หรือร้านอาหารจะซื้อข้าวครั้งละกระสอบ หรือครึ่งกระสอบ (ข้าวสาร 1 กระสอบ หนัก 100 กิโลกรัม) ครอบครัวเล็กซื้อทีละถัง หรือครึ่งถัง (ข้าวสาร 1 ถัง หนัก 15 กิโลกรัม) ผู้ที่มีรายได้น้อยบางรายอาจซื้อเป็นกิโล หรือเป็นลิตรก็มี ซึ่งแน่นอนว่าซื้อจำนวนมาก เมื่อคิดราคาต่อกิโลกรัมย่อมถูกกว่า
จนเมื่อปี 2527 จึงเริ่มมีการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงเป็นครั้งแรก
โดยกลุ่มของนายศิริชัย บูลกุล (ก่อนหน้าประมาณปี 2522 กลุ่มของนายศิริชัยจดทะเบียนจัดตั้งโรงสีข้าวขนาดใหญ่) ในปี 2527 จึงเริ่มผลิตข้าวสารบรรจุถุงพลาสติกขนาด 2 และ 5 กิโลกรัม เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “ข้าวมาบุญครอง”
ชื่อยี่ห้อ “มาบุญครอง” เป็นการรวมเอาชื่อของบิดาคือ นายมา (ม้าเลียบคุน) และมารดาคือ นางบุญครอง มาเป็นชื่อยี่ห้อ (ห้างมาบุญครองก็มีที่มาเช่นเดียวกันนี้)
ที่น่าสนใจคือ นายมา หรือ ม้าเลียบคุน (พ.ศ. 2440-2507) ต้นตระกูลบูลกุล ม้าเลียบคุนเป็นลูกจีนกวางตุ้งที่ครอบครัวอพยพเข้ามาทำกินในเมืองไทย บิดาของเขารับจ้างเป็นช่างประจำโรงสี เก็บออมจนสร้างโรงสีของตนเองที่ย่านบางปะกอก ธนบุรี และส่งม้าเลียบคุนไปศึกษาที่ฮ่องกง
ในหนังสือ “สมุดรำลึกเนื่องในงานที่ระลึกสถาปนากะซวงพานิช วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486” ที่เอนก นาวิกมูล ค้นคว้า ตอนหนึ่งกล่าวว่า
“พ.ศ. 2459 [นายมา/ม้าเลียบคุน] เริ่มทำการค้าโดยรักษาการเป็นผู้จัดการโรงสีส่วนตัวของบิดา คือโรงสี ‘จินเสง’ ซึ่งนับเป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถสีข้าวได้วันละประมาณ 500 เกวียน บัดนี้ (พ.ศ. 2486) ให้บริษัทข้าวไทย จำกัด เช่าเป็นโรงสีที่ 1…”
นอกจากกิจการค้าข้าว และโรงสีแล้ว ม้าเลียบคุนยังได้ริเริ่มทำธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น บริษัทเดินเรือรับส่งสินค้าทางทะเล, บริษัทประกันภัย, ธนาคารจินเสง ฯลฯ
คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์) ในหนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร ตอนหนึ่งกล่าวถึงกิจการโรงสีข้าว ที่ได้ข้อมูลบางส่วนจากงานเขียนของ Suehiro Akira ที่อธิบายเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจค้าข้าวในยุคนั้นไว้ว่า
“ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ชาวยุโรปได้ถอนการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงสีข้าว (ในไทย) ออกไปจนหมด อีกด้านหนึ่ง คือกลุ่มคนจีนเฉพาะบางกลุ่มก็ได้ขยายกิจการในด้านนี้อย่างมากมาย ในช่วงวิกฤตการณ์ข้าวจาก พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 และกว่าจะถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) ก็มีเพียงสามกลุ่ม หรือสามครอบครัว ที่ครอบคลุมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตข้าวของโรงสีทั้งหมดในกรุงเทพฯ
สามกลุ่มนี้ คือ กลุ่มหวั่งหลี ภายใต้การนำของนายตันลิบบ๊วย กลุ่มลิ้มเฮงจั่น นำโดยนายโล้วเต็กชวน ต้นตระกูลบุญสุขและกลุ่มจิ้นเส็ง นำโดยนายม้าเลียบคุน ผู้เป็นต้นตระกูลของตระกูลบูลกุญ (มาบุญครอง) ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ 3 (ค.ศ. 1930-1940) กลุ่มเหล่านี้ทั้งหมดได้ขยายกิจการของตนเองออกไปในธุรกิจแขนงอื่นๆ ที่เคยอยู่ในมือของบริษัทของชาวยุโรป เช่น การธนาคาร การเดินเรือ” [เน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
นอกจากนี้ ม้าเลียบคุน ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งสมาคมโรงสีไฟแห่งประเทศไทย ที่มีพลังและทรงอิทธิพล และตัวเขาเองก็เคยรับตำแหน่งนายกสมาคมอยู่หลายปี ภายหลังเมื่อรัฐบาล โดยกระทรวงเศรษฐการจัดตั้งบริษัทข้าวไทย (พ.ศ. 2481) ก็ติดต่อให้ม้าเลียบคุนไปเป็นผู้จัดการเป็นคนแรก
นับว่าม้าเลียบคุนเป็นผู้คร่ำหวอดแลเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับในธุรกิจโรงสีและการค้าข้าว
ส่วน “ข้าวสารบรรจุถุง” ยี่ห้อแรกของประเทศ อย่าง “ข้าวมาบุญครอง” ก็มีพื้นฐานจากความชำนาญในกิจการค้าข้าว และโรงสีของม้าเลียบคุน ที่ตั้งต้นให้คนรุ่นลูกได้ต่อยอดนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- บทเรียนหลังเสียกรุง! ย้อนดูนโยบายข้าวสมัยกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์
- ตำข้าวกล้อง ได้ข้าวซ้อมมือ เหตุใดจึงเรียก “ข้าวซ้อมมือ” ?
- อียิปต์โบราณ ใช้ปัสสาวะรดเมล็ดข้าว การทดสอบตั้งครรภ์เก่าแก่ที่สุดในโลก
ข้อมูลจาก :
เว็บไซต์ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564
เอนก นาวิกมูล. พ่อค้าไทยยุค 2480 เล่ม 1, สำนักพิมพ์แสงดาว, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557
คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน (หาญเจนลักษณ์). ดุจนาวากลางมหาสมุทร, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2538
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2564