ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งครั้ง เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 คือ “เสบียงอาหาร” ที่ขาดแคลนอย่างหนัก ไม่มีเสบียงบำรุงกองทัพ ส่วนราษฎรที่ต้องช่วยตัวเองไม่สามารถหาอาหารประทังความหิวได้ สงครามปิดล้อมอันยืดเยื้อจึงเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาหมดสิ้นกำลังป้องกันตนเองและพ่ายแพ้ไปในที่สุด บทเรียนครั้งนั้นทำให้ชนชั้นนำไทยในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ให้ความสำคัญกับ “นโยบายข้าว”
ชนชั้นนำยุคหลังเสียกรุงฯ ระลึกเสมอว่า เสบียงอาหาร เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แม้มีกำลังพร้อมรบ แต่หากขาดเสบียง ทหารกี่กรมกองก็ไม่สามารถทำสงครามได้อย่างเต็มประสิิทธิภาพ
ระหว่างการขับไล่อิทธิพลของพม่าและสงครามปราบก๊กต่าง ๆ ในแผ่นดินไทยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลกรุงธนบุรีคือการกว้านซื้อข้าวมาแจกจ่ายแก่ทหารในกองทัพ ตกเกวียน 240 บาท ซึ่งถือว่าราคาแพงมากในมัยนั้น เมื่อบรรลุความประสงค์ในการขับไล่กองทัพพม่าได้สำเร็จ ทรงเรียกแม่ทัพนายกองให้คุมไพร่จำนวนมากมาทำนาบริเวณนาหลวง อันเป็นพื้นที่ทะเลตมระหว่าง พ.ศ. 2311-2319 ปรากฏในบันทึก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 4 ความว่า
“…จึงดำรัสให้ตราหากองทัพทั้งปวงกลับมายังพระนครพร้อมกันแล้วโปรดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ พระธรรมา คุมไพร่พลทั้งปวงไปตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี และทุ่งบางกะปิ สามแสน ให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี คุมไพร่พลทั้งปวงตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันตก และกระทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี”
นอกจากนี้ ตลอดสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัฐบาลยังเกณฑ์ข้าวจากหัวเมืองที่ไม่ใช่พื้นที่สงครามและมีเสบียงมาก เช่น หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคใต้ เพื่อลดปัญหาขาดแคลนข้าวในกองทัพ มีการเพิ่มปริมาณข้าวด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรทำนาปรัง (นานอกฤดู) และมีการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ดังปรากฏใน กฎหมายตราสามดวง เล่ม 5 ประมวลกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ดังนี้
1. ส่งเสริมการบุกเบิกที่นาใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่นาผลิตข้าวให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยมีกำหนดให้บำเหน็จความชอบแก่ผู้ใดก็ตามที่พาผู้คนมาจับจองที่ดินทำกิน และยังยกเว้นอากรสำหรับที่นา ไร่ และสวน ที่หักร้างถางพงใหม่เพื่อการเพราะปลูก 1-2 ปี
นาใหม่หรือนาที่ร้างมานานแล้วกลับมาทำใหม่สามารถยกเว้นอากร 2 ปี ส่วนนาที่ร้างยังไม่นาน (ราว 3-4 ปี) แล้วกลับมาทำใหม่ ยกเว้นอากร 1 ปี กฎหมายนี้มีตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2291 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้ว และใช้ต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความตามกฎหมายตราสามดวง เล่ม 5 ดังนี้
“แลผู้ซึ่งมีชื่อโก่นซ่าง (หักร้างถางพง – ผู้เขียน) ทำนาขึ้นใหม่ แลนารั้ง (นาร้าง – ผู้เขียน) ต้นไม้งอกขึ้นในท้องนาใหญ่รอบสองกำขึ้นไปนั้น ให้ยกอากอนค่านาหางเข้าเสียสองปี ต่อถึงสามปีแล้วจึ่งให้เรียกเอาอากอนค่านาหางเข้าเสียสืบไป แลที่นารั้งอยู่สามปีสี่ปีแล้วนั้น ถ้าแลผู้มีชื่อเลิกรั้งขึ้น ให้ยกค่านาหางเข้าเสียปีหนึ่ง ถึงต่อสองปีแล้วจึ่งให้เรียกค่านาหางเข้าเสียสืบไป…”
2. ห้ามส่งข้าวออกต่างประเทศ ถือเป็นกฎหมายเข้มงวดในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนผ่อนปรนในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องสถานการณ์ขาดแคลนข้าวดีขึ้นมากแล้ว โดยต้องขอพระบรมราชานุญาตเป็นราย ๆ ไป โดยระบุว่า
“…ห้ามอย่าให้ผู้ใดซื้อเข้า (ข้าว – ผู้เขียน) ฃายเข้าลงสำเภาแลเรือเสาเรือใบเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้รักษาเมืองกรมการราษฎรเมืองใดขัดสนเข้า จะแต่งเรือเข้ามาซื้อเข้าออกไปเป็นกำลังราชการ ก็ให้บอกเข้ามา เมืองขึ้นกระลาโหมกรมท่า ให้เอาเนื้อความกราบบังคมทูลพระกรรุณา ถ้าทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ จะตวงเข้าลงเรือลำใดให้บอกล่ามพนักงานกรมท่าแลกรมนากำกับให้รู้จำนวลเข้า ถ้าผู้ใดลักลอบซื้อฃายเข้าลงสำเภาแลเรือเสาเรือใบ มีผู้มาร้องพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษ”
แม้จะมีการผ่อนปรนการส่งออกข้าว แต่อัตราภาษีข้าวส่งออกยังมีราคาสูงอยู่ ทั้งนี้เพื่อลดการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรหรือเคลื่อนย้ายออกจากภาคกลาง เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในตัวด้วย
3. รัฐบาลจะไม่กักตุนข้าวเพื่อค้ากำไรเกินควร มีการควบคุมราคาข้าว ราคาเกวียนละ 8 บาท สำหรับข้าวนาทุ่ง และเกวียนละ 10 บาท สำหรับข้าวนาสวน พร้อมทั้งมีบทลงโทษสำหรับผู้กักตุน แอบอ้างราชการแล้วขายข้าวเกินราคาที่ควบคุมด้วย ตามความที่ว่า
“…อย่าให้ฃายเข้าแก่กันขึ้นเอาราคามาก และให้ราษฎรซื้อฃายกัน เข้านาทุ่งคงเกียนละสองตำลึง เข้านาสวนคงเกียนละสิบบาด
…ถ้าเจ้าพระญาแลพญาพระหลวงขุนหมื่นผู้ใด ๆ ซื้อขายมากเกินราคากำหนตขึ้นไปก็ดี มีผู้มาร้องฟ้องพิจารณาเปนสัจ ในพระนครเอาตัวจำไว้ หัวเมืองให้บอกส่งมา เอาข้อความกราบทูลพระกรุณา จะเอาตัวเป็นโทษถึงตาย…”
จากนโยบายที่กล่าวมา เราจะเห็นการให้ความสำคัญและความเข้มงวดของ นโยบายข้าว ตั้งแต่การกะเกณฑ์ไพร่มาช่วยทำนาหลวงสมัยกรุงธนบุรี การส่งเสริมให้เกิดการบุกเบิกที่นา กำหนดอัตราการส่งออก รวมถึงป้องกันการกักตุนข้าวจนสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากรัฐบาลตระหนักแล้วว่าความมั่นคงของอาณาจักรขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางอาหารด้วย เมื่อข้าวคืออาหารหลักของผู้คน นโยบายที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้คือการทำให้ข้าวในประเทศไม่ขาดแคลนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- 27 ค่ายพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกของแม่ทัพพม่า คราวสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2
- บันทึกฝรั่งชี้ เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ไทย-จีนพากันล่ำซำ ได้โอกาสปล้นทองที่ซ่อนตามวัด
อ้างอิง :
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ. (2511). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 4. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ขุนหลวงพระไกรศรี; ขุนศรีวรโวหาร ฯลฯ. (2506). กฎหมายตราสามดวง เล่ม 5. กรุงเทพฯ : คุรุสภา
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2548). ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร.กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2565