“สื้อเฮ่า” สมัญญาหลังความตายของจีน มีทั้งชื่นชมไปจนถึงด่าแสบ

สุยหยางตี้ มี สื้อเฮ่า ประเภท ตำหนิ
สุยหยางตี้ สมัญญาที่หมายถึง "กษัตริย์ราชวงศ์สุยผู้ละทิ้งธรรมจริยาและประชาชน ตลอดจนมักมากในกาม"

สังคมจีนโบราณ เมื่อจักรพรรดิ ขุนนาง หรือปัญญาชน จากโลกนี้ไปแล้ว จะมี “สื้อเฮ่า” หรือสมัญญา (谥号) ที่คนที่ยังอยู่ตกลงร่วมกันว่าจะเอาไว้เรียกขานคนเหล่านั้น ใครทำคุณงามความดี สื้อเฮ่าก็จะเป็นแนวชื่นชม ยกย่อง ส่วนใครที่ทำอะไรแย่ๆ ไว้ สื้อเฮ่าที่ว่าก็อาจกลายเป็นคำประจานให้ลูกหลานได้อับอาย

สื้อเฮ่า ปรากฏครั้งแรกในยุคต้นราชวงศ์โจว (ราว 1,000-250 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เริ่มใช้กับกษัตริย์ราชวงศ์โจวและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เฉพาะผู้มีความดีความชอบยิ่งใหญ่

ต่อมายุคราชวงศ์ฉิน (ราว 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ยกเลิกการตั้งสื้อเฮ่า เพราะ “จิ๋นซีฮ่องเต้” เห็นว่าเป็นเรื่องข้าวิจารณ์เจ้า ลูกวิจารณ์พ่อ แต่พอถึงยุคต่อมาอย่างราชวงศ์ฮั่น ก็มีการฟื้นฟูสื้อเฮ่าขึ้นมาใหม่ และค่อยๆ แพร่หลายไปในหมู่ปัญญาชน คหบดี และชนชั้นสูง

ชนชั้นปกครอง ไม่ว่าตอนมีชีวิตอยู่จะทำเรื่องดีหรือไม่ดีก็ต้องมีสื้อเฮ่า ส่วนสามัญชนจะตั้งสื้อเฮ่าให้ผู้ที่ประพฤติดีเท่านั้น ถ้าไม่มีความดีพอก็จะไม่ตั้งให้

สื้อเฮ่า ของชนชั้นปกครอง แบ่งความหมายได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ประเภท “สดุดี” ซึ่งแบ่งได้เป็น

เลิศพระปรีชาปกครองฟ้าดิน, เปี่ยมกรุณารักประชาราษฎร์, รอบรู้ทรงธรรม มีสมัญญาว่า เหวิน (文 ดีงาม, อารยะ) “กษัตริย์” ใช้ความหมายนัยแรก เช่น โจวเหวินหวาง, ฮั่นเหวินตี้, สุยเหวินตี้ “เจ้าผู้ครองนคร” (สามนตราช) ใช้ความหมายนัยสอง เช่น จิ้นเหวินกง, หลู่เหวินกง และ “ขุนนางผู้ใหญ่” ใช้ความหมายนัยสาม เช่น หานเหวินกง (ชื่อตัวหานอี้ว์) ยุคราชวงศ์ถัง

บ้านเมืองรุ่งเรืองทั่วสี่ทิศ มีสมัญญาว่า หมิง (明รุ่งเรือง) เช่น พระเจ้าฮั่นหมิง, พระเจ้าถังเสวียนจงหมิงตี้

กระเดื่องเดชานุภาพและทรงธรรม มีสมัญญาว่า อู่ (武 กล้าหาญ, รบพุ่ง) เช่น โจวอู่หวาง, ฮั่นอู่ตี้ ซึ่งคำว่า อู่ ในสื้อเฮ่า “จงอู่โหว” ของขงเบ้ง มีความหมายตามนัยนี้

ขยายอาณาเขตสยบแดนไกล มีสมัญญาว่า หวน (桓) เช่น ซ่งหวนกง และ ฉีหวนกง ในยุคชุนชิว, ฉีหวนกงในยุคจั้นกั๋ว เห็นได้ว่าแคว้นฉีมีประมุขได้รับสมัญญาว่า หวนกง ซ้ำกันถึง 2 คน แต่อยู่ต่างยุคกัน

พระเกียรติคุณขจรไกล มีสมัญญาว่า จาว (昭) เช่น พระเจ้าโจวจาวหวาง, พระจ้าฮันจาวตี้, หลู่จาวกง, จิ้นจาวกง และ ฉีจาวกง ในยุคชุนชิว

ผดุงรัฐบำรุงราษฎร์ มีสมัญญาว่า เฉิง (成) เช่น พระเจ้าโจวเฉิงหวาง, พระเจ้าฮั่นเฉิงตี้, จินเฉิงกง, เฉินเฉิงกง ในยุคชุนชิว

ฉลาดเห็นการณ์ไกล มีสมัญญาว่า เสี้ยน (献 เหี้ยน) เช่น พระเจ้าเหี้ยนเต้ (เสี้ยนตี้) ในเรื่องสามก๊ก เป็นกษัตริย์ที่ฉลาดเห็นการณ์ไกล จึงประคองสถานการณ์อยู่ได้ และเมื่อเห็นว่าทานอำนาจโจผี (เฉาผี่) ไม่ไหว ก็ยอมสละราชสมบัติให้ จึงไม่ถูกจับสำเร็จโทษอย่างฮ่องเต้อีกหลายองค์

2. ประเภท “เห็นใจ” เช่น

อ่อนน้อม เมตตา อายุสั้น มีสมัญญาว่า อาย (哀) เช่น หลู่อายกง ยุคชุนชิว, พระเจ้าจิ้นอายตี้

ทรงพระกรุณา อายุสั้น มีสมัญญาว่า หวย (怀 ไฮว๋) เช่น พระเจ้าจิ้นหวยตี้

บ้านเมืองประสบภัย มีสมัญญาว่า หมิ่น (愍) เช่น พระเจ้าหมิ่นตี้

3. ประเภท “ตำหนิ” แบบนี้ฟังแล้วอาจหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง อย่าง

บ้านเมืองวุ่นวายไม่ปกติสุข มีสมัญญาว่า อิว (幽) เช่น พระเจ้าโจวอิวหวาง ผู้ลุ่มหลงนางเปาสือจนเสียบ้านเสียเมือง

บ้านเมืองจลาจล แต่ไม่ถึงล่มจม มีสมัญญาว่า หลิง (灵 เลน) เช่น จิ้นหลิงกง ยุคชุนชิว, พระเจ้าเลนเต้ (หลิงตี้) ปลายราชวงศ์ฮั่นในเรื่องสามก๊ก

ดุร้ายเหี้ยมโหด มีสมัญญาว่า ลี่ (历) เช่น พระเจ้าโจวลี่หวาง, ฉู่ลี่หวาง สามนตราชแคว้นฉู่

ทิ้งธรรมจริยาและประชาราษฎร์ หรือมักมากในกาม ห่างธรรมจริยา มีสมัญญาว่า หยาง (炀) แห่งราชวงศ์สุย เช่น สุยหยางตี้ หมายถึงกษัตริย์ราชวงศ์สุยผู้ละทิ้งธรรมจริยาและประชาชน ตลอดจนมักมากในกาม

ธรรมเนียมการตั้ง “สื้อเฮ่า” ของจีน มีส่วนทำให้จักรพรรดิ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง ต้องระมัดระวังความประพฤติ เพราะกลัวจะได้รับสมัญญาแบบที่สามจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

แต่หลายคนก็ไม่ได้สนใจ และเมื่อสิ้นไปแล้วก็ได้รับสื้อเฮ่าประเภท “ตำหนิ” อย่างที่เห็น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567