ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ผู้ปกครองเหมือนกับเรือ ประชาชนเหมือนกับน้ำ น้ำทำให้เรือลอยได้ แต่น้ำก็ทำให้เรือจมได้เช่นกัน” คือประโยคอมตะที่ ถังไท่จง (หลี่ซือหมิน) แห่งราชวงศ์ถังรับสั่งหลังจากที่พระองค์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของราชวงศ์สุย ที่มีสาเหตุของการล่มสลาย จากปัญหาเรื่องตัวผู้นำอย่างพระเจ้า “สุยหยางตี้” เป็นสำคัญ
สุยหยางตี้ เป็นผู้นำที่มีทรงชอบความโอ่อ่าหรูหรา เมื่อขึ้นครองราชย์ก็ทรงมีปณิธานที่จะเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เฉกเช่น อั่นอู่ตี้ กษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น สุยหยางตี้มีรับสั่งดำเนินโครงการใหญ่ที่ต้องใช้สิ้นเปลืองแรงงาน, ชีวิตประชาชน, ทรัพย์สิน ฯลฯ ของประเทศ
เริ่มจากการสร้างลั่วหยางเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 เริ่มขึ้นในปีแรกที่สุยหยางตี้ครองราชย์ ต้องใช้แรงงานจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ แค่การก่อสร้างเดือนแรก พลเมืองประมาณ 2 ล้านคน ก็ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานในการสร้างพระราชวัง, อุทยาน ฯลฯ นอกจากลั่วหยางแล้ว สุยหยางตี้ยังมีพระราชประสงค์ให้สร้างเมืองจูเตียง (หยางโจวในปัจจุบัน) สถานที่ประทับเมื่อครั้งเป็นอุปราชภาคใต้ เป็นเมืองหลวงแห่งที่ 3 ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ในด้านหนึ่งด้วยที่ตั้งของลั่วหยางที่อยู่กึ่งกลางราชอาณาจักร การสร้างเป็นเมืองหลวงที่ 2 ก็มีประโยชน์แก่การขนส่งข้าวจากแหล่งเพาะปลูกสำคัญทางตอนใต้ของประเทศขึ้นมาเลี้ยงคนในภาคเหนือ ทั้งยังไม่ห่างไกลจากจูเตียงอันเป็นฐานที่มั่นเดิมของพระองค์
โครงการต่อไปที่เป็นการสืบต่อพระเจตนารมย์ของสุยเหวินตี้ พระราชบิดาพระองค์ที่ต้องการเก็บสะสมข้าวในยุ้งฉางหลวงเพื่อป้องกันความอดยากขาดแคลน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงการขนส่งคมนาคมทางน้ำ นั่นทำให้เกิดโครงการขุดคลองใหญ่ที่เรียกว่า ต้าหยุ่นเหอ (Grand Canal) เพื่อเชื่อมแม่น้ำหวงเหอ กับแม่น้ำฉางเจียง (แม่น้ำแยงซีเกียง)
การขุดคลองต้าหยุ่นเหอ (ค.ศ.606-610) มีความยาวทั้งสิ้น 2,500 กิโลเมตร กว้าง 40 เมตร มีลั่วหยางเมืองหลวงที่ 2 เป็นศูนย์กลาง ต้าหยุ่นเหอไหลเชื่อมแม่น้ำสายต่าง ๆ จึงเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของการคมนาคมขนส่งระหว่างเหนือใต้ จากทางเหนือคือปักกิ่งไปถึงท่าเรือเมืองหังโจวทางตอนใต้ ที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการรวมวัฒนธรรมเหนือใต้เข้าด้วยกัน
ทว่ากว่าจะมาเป็นต้าหยุ่นเหอนั้น ต้องใช้แรงงานคนถึง 3.5 ล้านคน และเจ้าหน้าที่ควบคุม 50,000 คน บางท้องที่แรงงานชายไม่พอก็เกณฑ์ผู้หญิงมาช่วย ผู้ที่คิดหลบหนีมีโทษถึงตาย เมื่อขุดคลองเสร็จ สุยหยางตี้เสด็จประพาสอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยขบวนเรือใหญ่น้อยกว่า 100 ลำ ใช้คนลากขบวนเรือ 80,000 คน สองฝั่งคลองต้องตัดถนน, ปลูกไม้ประดับ, สร้างที่พักผ่อนระหว่างทาง 40 จุด,ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงต้องรับภาระเตรียมอาหารสำหรับข้าราชบริพารตามเสด็จ ซึ่งพระองค์เสด็จต้าหยุ่นเหอ 3 ครั้งด้วยกัน
จากการสร้างเมืองหลวงแห่งที่ 2 (ลั่วหยาง), การขุดคลองต้าหยุ่นเหอ ก็ตามมาด้วยโครงการใหญ่อย่างการซ่อมแซมกำแพงเมืองจีนและสร้างส่วนต่อขยายของกำแพงที่ตอนเหนือของส่านซี ที่ต้องใช้แรงงานคนถึง 1 ล้านคน เพื่อเร่งรัดให้เสร็จภายใน เวลา 20 วัน
แล้วก็ถึงฟางเส้นสุดท้าย เมื่อสุยหยางตี้รับสั่งให้ยกทัพใหญ่ไปรบกับอาณาจักรโกกุเรียว
สุยหยางตี้ทรงระแวงอาณาจักรโกกุเรียว (เกาหลีในปัจจุบัน) ว่าไม่ซื่อกับจีน เพราะมีความเข้มแข็งขึ้น และหากโกกุเรียวมีการผูกมิตรกับพวกทูเจี้ย (เติร์ก) จะเป็นภัยคุกคามสำคัญของจีน สงครามระหว่างจีนกับโกกุเกียวจึงเกิดขึ้น การเกณฑ์แรงงานจึงเกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อศึกใหญ่ 3 ครั้ง คือ ค.ศ. 611, 613 และ 614 (ครั้งสุดท้ายยุติ เพราะเกิดกบฏในราชอาณาจักรเสียก่อน)
แม้การสู้รบกับโกกุเรียว จีนจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็บอบช้ำสาหัส ท้องพระคลังที่เคยมั่งคั่งกลับว่างเปล่า, ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เฉพาะศึกครั้งแรกจีนใช้ทหารจำนวนถึง 1.13 ล้านคน และคนงานที่เป็นฝ่ายกำลังบำรุงอีกกว่า 2 ล้านคน ทหารจีนทั้งสิ้น 300,000 คนที่เข้าไปสู้รบในโกกุเรียว เหลือรอดชีวิตกลับมาเพียง 2,700 คน ทำให้ประชาชนไม่อดทนอีกต่อไป มีการก่อกบฎชาวนาในบริเวณซานตง, เหอเป่ย, ส่านซี, กว่างตง, เจ้อเจียง ฯลฯ
แม้โครงการของสุยหยางตี้จะมีประโยชน์ แต่เมื่อต้องการความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งหมดจึงกลายเป็นหายนะ
การต้องเกณฑ์แรงงานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ เงินทองในท้องพระคลังที่สุยเหวินตี้พระราชบิดาของพระองค์ทรงสั่งสมไว้ ร่อยหรออย่างรวดเร็ว การเก็บภาษีที่เดิมเคยยกเว้นในกับพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ ถึงสมัยพระองค์กลับเก็บภาษีล่วงหน้า 10 ปี ฯลฯ เหล่านี้นำมาตอนอวสานของพระองค์
ถังไท่จง (หลีซื่อหมิน) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ มั่งคั่ง และทรงอานุภาพที่สุด เมื่อได้ศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของราชวงศ์สุย และสุยหยางตี้ จึงรับสั่งประโยคอมตะที่ว่า
“ผู้ปกครองเหมือนกับเรือ ประชาชนเหมือนกับน้ำ น้ำทำให้เรือลอยได้ แต่น้ำก็ทำให้เรือจมได้เช่นกัน”
อ่านเพิ่มเติม :
- ถังไท่จง “แหกกฎ” ขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ กลัวบันทึกเรื่องเลวร้าย (?) ของตนเอง
- “พระเจ้าถังไท่จง” จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงฟังคำทัดทานของเสนาบดี
อ้างอิง :
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน. สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2563