ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ราชวงศ์ถัง เป็นหนึ่งในยุคที่รุ่งเรืองของจีน หากดูพระนามจักรพรรดิในราชวงศ์ถังแล้ว “ถังไท่จง” คือหนึ่งในจักรพรรดิที่สร้างชื่อเสียงในราชวงศ์ สร้างคุณูปการให้กับประเทศ หากจักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) คือผู้นำสูงสุดเพียงไม่กี่พระองค์ที่ “แหกกฎ” ขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นข้อห้ามในการบันทึกประวัติศาสตร์ของจีน เนื่องจากเหตุ “การสังหารที่ประตูเสวียนอู่”
การสังหารที่ประตูเสวียนอู่ เป็นเรื่องที่เกิดก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ ขณะนั้นจักรพรรดิถังเกาจู พระราชบิดา ได้ตั้งหลี่เจี้ยนเฉิง-พระโอรสองค์โตเป็นรัชทายาท และตั้งหลี่ซื่อหมิน-อุปราช หากหลี่ซื่อหมินมีผลงานโดดเด่นกว่า คบหาคนมีฝีมือหลากหลาย ทำให้หลี่เจี้ยนเฉิงไม่วางใจ จึงร่วมกับหลี่หยวนจี-น้องชาย วางแผนลอบสังหารหลี่ซื่อหมิน แต่ข่าวล่วงถึงหลี่ซื่อหมิน จึงตลบหลังสังหารพี่ชายและน้องชายสำเร็จที่ประตูเสวียนอู่ และครองแผ่นดิน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ถังไท่จงกังวลใจอย่างมาก
การฆ่าพี่ฆ่าน้องเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ที่เลวร้ายกว่าคือเมื่อมันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
ด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์ของจีน ไม่ใช่การบันทึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แต่เป็นการบันทึกตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่เป็นเกียรติยศ และเรื่องที่บกพร่อง โดยอาลักษณ์คนหนึ่งจะบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่อีกคนจะบันทึกคำพูด
เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเที่ยงตรงที่สุด จึงมีขนบว่าจักรพรรดิจะก้าวก่ายขอดูบันทึกเรื่องราวในรัชกาลของพระองค์ไม่ได้ เพื่อให้อาลักษณ์ทำหน้าที่ได้เต็มที่อย่างไม่ต้องกังวล และไม่ให้มีการใช้อำนาจบิดเบือนข้อมูลตามใจชอบ (แน่นอนว่าในทางปฏิบัติอาจไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์)
อาจารย์ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการจีนวิทยา ช่วยอธิบายเพิ่มในเรื่องนี้ว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนในลักษณะข้างต้นเริ่มมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (579 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 322) ด้วยเห็นความล้มเหลวของราชวงศ์ซาง (1,223-579 ปีก่อนพุทธศักราช) จึงต้องการใช้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน นอกจากบันทึกเรื่องของบุคคลสำคัญ ยังบันทึกเรื่องธรรมชาติเพื่อรวบรวมข้อมูลทำปฏิทิน และช่วยเรื่องการเกษตร
กลับมาที่เรื่องของ “ถังไท่จง” อาจารย์ถาวรเล่าว่า พระองค์เคยขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ หรือ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลของพระองค์ ถึง 3 ครั้ง
ครั้งแรก ถูกอาลักษณ์ปฏิเสธ ถังไท่จงก็ไม่กล้าดึงดัน ล้มเลิกความตั้งใจ
ครั้งที่ 2 ถูกอาลักษณ์ปฏิเสธเช่นเดิม หากถังไท่จงยืนยันเจตนารมณ์ แต่ฉู่ซุ่ยเหลียง ตำแหน่งมนตรีทักท้วง และประธานบันทึกจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน และหลิวจี-ปลัดกรมขันที ทักท้วงว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมที่จักรพรรดิจะมาขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์เอง
ถังไท่จง จึงถามว่าเรื่องไม่ดีงามที่พระองค์เคยทำก็บันทึกด้วยหรือไม่
ฉู่ซุ่ยเหลียง ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทุกเรื่อง ทั้งกล่าวเปรียบจักรพรรดิก็เหมือนกับดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ที่ยิ่งใหญ่และให้แสงสว่าง แต่บางครั้งก็เกิด “คราส” (สุริยคราส, จันทรคราส) ได้เป็นเรื่องปกติ
ขณะที่หลิวจี กล่าวเสริมว่า แม้อาลักษณ์ไม่บันทึก (เรื่องไม่ดีงามของพระองค์) ราษฎรก็บันทึก (บันทึกไว้ในใจ และบันทึกไว้ในปูมประจำตระกูล ที่นอกจากบันทึกเรื่องสำคัญในครอบครัว ยังบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง)
เมื่อเป็นเช่นนี้ถังไท่จงจึงล่าถอยกลับไป
ครั้งที่ 3 อาลักษณ์ยังคงปฏิเสธไม่ให้ดูเช่นเดิม หากถังไท่จงยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องดูให้ได้ สุดท้ายฝั่งเสี่ยนหลิง-นายกรัฐมนตรี จึงจำยอมผ่อนผัน โดยแจ้งกับถังไท่จงว่า เมื่อพระองค์มาดูจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลของพระองค์ อาลักษณ์ก็จะต้องบันทึกว่าพระองค์เคยมาขอดู
เมื่อถังไท่จงได้ดูบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์ ก็มีเรื่อง “การสังหารที่ประตูเสวียนอู่” จริง ดังที่พระองค์ทรงวิตก หากก็ทรงแก้เก้อว่าอาลักษณ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเบาเกินไป และกล่าวว่าพระองค์ก็ทำเหมือนกับโจวกง (ขุนนางคนสำคัญในสมัยราชวงศ์โจว) ที่ต้องฆ่าพี่ฆ่าน้องที่ก่อกบฏเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม การที่ถังไท่จงขอดู “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน” ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์ ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังไม่ให้ความน่าเชื่อถือในเอกสารประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลของถังไท่จงลงมา
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระเจ้าถังไท่จง” จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงฟังคำทัดทานของเสนาบดี
- “น้ำทำให้เรือลอยได้ น้ำก็ทำให้เรือจมได้” คำพูดอมตะของถังไท่จง มีที่มาจากไหน?
ข้อมูลจาก :
หลี่เฉวียน-เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย-แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ , สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกมกราคม 2556.
นยา สุจฉายา. “การบันทึกเหตุการณ์ : รากฐานจดหมายเหตุของไทยและพัฒนาการสู่สังคมร่วมสมัย” ใน, วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (2564): 66 – 85.
สัมภาษณ์ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล. วันที่ 14 มีนาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนำลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2566