“พระเจ้าถังไท่จง” จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงฟังคำทัดทานของเสนาบดี

“ภาพวาดปู้เหนี่ยน” ผลงานของเหยียนลี่เปิ่น จิตกรสมัยราชวงศ์ถัง เขียนถึงเหตุการณ์ที่ถังไท่จงทรงต้อนรับทูตต่างเมือง

“ถ้าไม่ใช่เพราะเว่ยเจิง ข้าคงต้องทำผิดอีกแล้ว” พระราชดำรัสของพระเจ้าถังไท่จง (หลี่ซือหมิน) จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง จีนในสมัยราชวงศ์ถัง นักประวัติศาสตร์หลายท่านทั้งชาวจีนและชาวตะวันตกล้วนถือว่า ราชวงศ์ถังน่าจะเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดของจีนด้วย โดยที่ในระหว่างสามศตวรรษของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-906) จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ยิ่งใหญ่, มั่งคั่งร่ำรวย, ทรงอานุภาพ และก็มีอารยธรรมสูงสุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลของ “ถังไท่จง”

นักประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันมักยกย่องกันว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าถังไท่จง นอกจากการบริหารราชการแผ่นดินให้มีเสถียรภาพอย่างทั่วถึงในราชอาณาจักรแล้ว ยังได้สร้างกลไกการปกครองที่มีประสิทธิภาพ ยังผลให้อาณาจักรจีนรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ และวรรณคดี ยิ่งกว่านี้ ในฐานะที่ไท่จงทรงสร้างความสําคัญให้แก่พระองค์เองในเบื้องต้นด้วยความสามารถทางการทหาร ผลสําเร็จของพระองค์ในด้านการทหารก็ยิ่งใหญ่เหนือผลสําเร็จในด้านใด ๆ ด้วยซ้ำ (แม้ว่าในบั้นปลายของพระชนม์ชีพ จักรพรรดิไท่จงจะทรงมีปัญหาด้วยเรื่องโอรสและผู้สืบราชสมบัติ )

นอกจากพระเจ้าถังไท่จงจะทรงมีความปรีชาสามารถทั้งในทางการทหารและการบริหารอาณาจักรแล้ว ถังไท่จงจงยังมีผู้ช่วยบริหารราชการแผ่นดินที่มีความสามารถปราดเปรื่องทั้งสิ้น อาทิ หลี่จิ้ง, ฝังชวนหลิง, ตู้หรูยุ้ย, ฉางชุนอู และเว่ยเจิง ฯลฯ  ที่สําคัญที่สุดก็คือ พระองค์ทรงเป็นนักปกครองชั้นยอด ฟังความคิดเห็นของขุนนางในฐานะที่ปรึกษาชั้นยอดของพระองค์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของพระองค์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่ง

เมื่อกล่าวถึงการยอมรับฟังความคคำแนะนำ ขุนนางคนแรกที่ควรจะกล่าวถึงก็คือ เว่ยเจิง

เว่ยเจิงเคยรับราชในกองทัพช่วงปลายราชวงศ์สุย เป็นนักวางแผน พระเจ้าถังไท่จงเห็นความสามารถจึงชักนำมารับใช้ราชสำนัก และมักจะสอบถามข้อดีข้อเสียของการเมืองกับเขาอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งพระเจ้าถังไท่จงถามเว่ยเจิงว่า การเป็นจักรพรรดิทําอย่างไรจึงจะ “รู้ผิดรู้ชอบ” ได้ และทําอย่างไรถึงจะไม่ถูก “ปิดบัง” เว่ยเจิงตอบว่า “ฟังความพร้อมกันทั้งสองด้านหูตาก็จะสว่าง ถ้าฟังความข้างเดียวหูตาก็จะบอด” แล้วเขาก็หยิบกรณีของพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ และพระเจ้าสุยหยางตี้มาชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีพฤติกรรมที่เก็บตัวอยู่แต่ในวัง ไม่ยอมฟังคําทัดทาน ทําตัวห่างไกลจากประชาชน ผลคือ ประเทศชาติต้องพังทลาย และต้องถูกประชาชนทรยศ

เว่ยเจิงยังเสนอความคิดเห็นทัดทานงานราชการอย่างตรงไปตรงมาอีกหลายครั้งด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

หนึ่ง คือ คัดค้านพระราชโองการให้เกณฑ์ชายที่อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ที่มีร่างกายกำยำสูงใหญ่เข้ารับราชการได้ เพื่อเพิ่มจำนวนทหารเพิ่มขึ้น เว่ยเจิงเก็บพระราชโองการไม่จัดการประกาศแก่สาธารณะ พระเจ้าถังไท่จงกริ้วอย่างมากจึงสอบถามเรื่องราวนี้กลับเขา เว่ยเจิงกล่าวว่า

“ราชสำนักมีข้อยังคับว่าชายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงจะเข้ารับราชการทหารได้ มาตอนนี้ชายที่อายุไม่ถึง 18 ปี ก็ต้องข้ารับการเกณฑ์ทหารแล้ว นี่เรียกว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ”  และกล่าวต่อไปว่าราชสำนักเคยออกคำสั่งให้ลดภาษีเช่าของประชาชนและแรงงานเกณฑ์ลงส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นไปตามคำมั่นสัญญา จึงไม่ได้ความเชื่อมั่นจากประชาชน

พระเจ้าถังไท่จงรู้ว่าการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนนั้นเป็นพื้นฐานของการบริหารราชการแผ่นดิน จึงยกเลิกพระราชโองการดังนั้น

สอง คือ เมื่อพระเจ้าถังไท่จงเดินทางจากไปเมืองลั่วหยาง ระหว่างทางได้พักค้างแรมที่พระราชวังเจาเหริน (ปัจจุบันอยู่ในเมืองโซวอัน มณฑลเหอหนาน) และทรงกริ้วเพราะอาหารไม่ถูกใจ เว่ยเจิงออกมาทัดทานต่อหน้าถังไท่จงว่า “พระเจ้าสุยหยางที่เคยถูกประชาชนต่อต้านจนต้องสูญเสียเอกราช เพราะการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินไป ฝ่าบาทควรนําเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน”

เมื่อพระเจ้าถังไท่จงได้ฟัง ความโกรธก็มลายหายไปทันที แล้วพูดกับเหล่าขุนนางว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะเว่ยเจิง ข้าคงต้องทําผิดอีกแล้ว”

สาม คือ ผางเซียงโซ่ว สหายเก่าของพระเจ้าถังไท่จงรับราชการเมืองผูโจวที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะรับสินบน มาขอความช่วยเหลือ ถังไท่จงเห็นแก่มิตรภาพเก่าแก่จะคืนตำแหน่งให้เขา แต่เว่ยเจิงคัดค้านหนักแน่น เขาเตือนถังไท่จงว่า ขุนนางเก่าที่อยากได้ตําแหน่งเป็นจํานวนมาก หากพวกเขาต่างก็คิดเอาความสัมพันธ์ครั้งเก่ามาก่อกรรมทําชั่ว ท่านจะอธิบายกับคนในประเทศชาติเช่นไร

พระเจ้าถังไท่จงยอมรับในความเห็นของเว่ยเจิงแล้วกล่าวกับผางเซียงโซวว่า “แต่ก่อนข้า เคยเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นอิน ก็เป็นแค่เจ้านายของแคว้นฉันเท่านั้น ตอนนี้ข้าเป็นจักรพรรดิก็เท่ากับว่าข้าเป็นเจ้านายของประเทศ ไม่อาจเข้าข้างและปกป้องเพื่อนเก่าในแคว้นฉินได้”

เว่ยเจิงกล้าว่ากล่าวเตือนพระเจ้าถังไท่จงแบบไม่ไว้หน้าจักรพรรดิแม้แต่น้อย จนทําให้พระองค์ทรงรู้สึกหวาดกลัว มีครั้งหนึ่งพระเจ้าถังไท่จงได้เหยี่ยวที่สวยงามมาตัวหนึ่ง พระองค์ทรงรักมันมาก เอามันวางไว้บนแขนแล้วเล่นกับมัน ไม่ได้คาดคิดว่าเว่ยเจิงจะเดินเข้ามา พระเจ้าถังไท่จงคิดถึงคําพูดของเว่ยเจิงที่ว่า เป็นกษัตริย์จะเล่นไปเรื่อยไม่สนใจความก้าวหน้าในชีวิตไม่ได้ขึ้นมาทันที จึงรีบซ่อนเหยี่ยวไว้ในอก เว่ยเจิงนั้นเห็นตั้งนานแล้วแต่พระองค์ทรงแกล้งทําเป็นไม่เห็น แล้วนําจักรพรรดิในสมัยก่อนที่แสวงหาแต่ความสุขสบายจนทําให้ประเทศชาติเสียหาย มาเปรียบเทียบกับถังไท่จงเป็นการใหญ่ พระเจ้าถังไท่จงไม่กล้าขัดจังหวะเว่ยเจิง ผลคือเหยี่ยวตัวนั้นถูกขังจนตายอยู่กับอกของพระองค์

เว่ยเจิงพูดอย่างไม่ไว้หน้า แม้แต่คนธรรมดาเองก็ยังยากยอมรับได้แล้วนับประสาอะไรกับคนที่เป็นถึงจักรพรรดิ

วันหนึ่งพระเจ้าถังไท่จงออกจากประชุมขุนนาง แล้วเสด็จกลับมาเข้าพระราชฐานฝ่ายใน เขาพูดอย่างเดือดดาลว่า “สักวันข้าจะต้องฆ่าไอ้คนบ้านนอกคนนี้ให้ตาย” พระนางฉางชุนฮองเฮาถามว่าจะฆ่าใคร

พระเจ้าถังเจ้าไท่จงจึงตอบว่า “เว่ยเจิงมักจะแย้งข้าต่อหน้าผู้คนมากมายอยู่เสมอ ทำให้ข้ารู้สึกกระอักกระอ่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเกลียดชังที่สุด”

ฉางชุนฮองเฮาสวมชุดเครื่องแบบเต็มยศ ขอถวายพระพรพระเจ้าถังไท่จงอย่างเคารพนอบน้อม จนถังไท่จงจับต้นชนปลายไม่ถูก ฉางชุนฮองเฮากล่าวว่า “หม่อมฉันได้ยินมาว่าฝ่าบาทเป็นจักรพรรดิที่ทรงปรีชาญาณ ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์ จึงกล้าตักเตือนฝ่าบาทอย่างตรงไปตรง นั่นเป็นเพราะว่า ฝ่าบาททรงพระปรีชาญาณ หม่อมฉันจะไม่ถวายพระพรฝ่าบาทได้อย่างไร” เมื่อพระเจ้าถังไท่จงได้ฟังจิตใจก็สงบลงทันที


ข้อมูลจาก

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ กุมภาพันธ์ 2547

หลี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัน แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562