พระที่นั่งอนันตสมาคม “สถาปัตยกรรมหินอ่อนแห่งสยาม”

พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต พุทธศักราช 2459 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งหินอ่อน องค์เดียวในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับ พระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ซึ่งเป็นวันเดียวกับงานพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติครบ 40 ปีบริบูรณ์ของพระองค์ท่านโดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนกระแสพระบรมราชโองการบรรจุในศิลาพระฤกษ์ด้วย

เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปได้ 2 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2458 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี

พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งหินอ่อน ใน พระราชวังดุสิต
ภาพพระราชพิธีเถลิงพระราชมณเฑียร พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2459 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ศิลปวัฒนธรรมขอนำชมความสวยงามทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยคัดความมาจากบทความ “100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคมสถาปัตยกรรมแห่งสยาม” เขียนโดย รมิดา โภคสวัสดิ์ และศิริวรรณ อาษาศรี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559

พระที่นั่งอนันตสมาคมเดิมเป็นนามของพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการและเสด็จออกรับราชทูต ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระที่นั่งอนันตสมาคมและหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ทรุดโทรมลงมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อ และเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งที่มีนามว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับพระราชวังดุสิต พระที่นั่งองค์ใหม่นี้ก่อสร้างเป็นยอดโดมตามแบบสถาปัตยกรรมยุคเรเนอซองส์และนีโอคลาสสิค ตกแต่งด้วยหินอ่อนทั้งองค์ ซึ่งสั่งมาจากเมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี ออกแบบโดย นายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี

รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งองค์นี้จะก่อสร้างเสร็จ การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยค่าใช้จ่าย 15 ล้านบาท

พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งหินอ่อน พระราชวังดุสิต
พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งหินอ่อนองค์เดียวในสยาม

พระที่นั่งอนันตสมาคม นับเป็น พระที่นั่งหินอ่อน เพียงองค์เดียวที่มีในประเทศไทย อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ได้บรรยายไว้ในขณะนำชมพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานเปิดตัวดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก “100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม” จัดโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับสถาบันสิริกิติ์ ว่า

“หินอ่อนจากเหมืองคาราร่ามหัศจรรย์ตรงที่เป็นเหมืองหินอ่อนเดียวในโลกที่มีหินอ่อนครบทุกสี เหมืองหินอ่อนที่อื่นอาจมีสีเดียว สองสี สามสี ห้าสี หรือสิบสี แต่ที่นี่มีทุกสี ประการที่ 2 คือ เหมืองหินอ่อนคาราร่าขุดต่อเนื่องกันมาจนถึงนาทีนี้นับเป็นเวลา 400 ปี เริ่มทำเหมืองประมาณช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย ซึ่งเหมืองนี้ไม่เคยหยุดขุด และไม่เคยหมด นาทีที่พวกเรานั่งคุยกันตรงนี้ [พ.ศ. 2559] หินอ่อนคาราร่าก็ยังขุดอยู่ ที่สำคัญหินอ่อนที่นำมาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เนื้อหินอ่อนสีขาวเป็นสีขาวบริสุทธิ์อย่างที่เราเห็นกันแบบนี้ เหมืองอื่นจะไม่มีสีขาวเท่านี้ เนื้อลายมากกว่านี้”

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพเมืองเขมร” ภาพบนเพดานโดม ด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม

จุดเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ มีหลังคาโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ขนาดขององค์พระที่นั่งส่วนกว้างประมาณ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร

ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมบนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เป็นงานจิตรกรรมเทคนิคการเขียนสีบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง เป็นภาพแสดงถึงพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์สำคัญในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 6 ภาพ โดยจิตรกรชาวอิตาลี นายกาลีเลโอ กีนี นาย ซี. รีกูลี

เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพเมืองเขมร

เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง

เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงศาสนา พระองค์ประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ภาพเขียนพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนานิกายต่างๆ แสดงนัยมิได้ทรงกีดกันลัทธิศาสนาอื่นใด ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน

เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงประกาศเลิกทาส

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงประกาศเลิกทาส” ภาพบนเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งอนันตสมาคม

เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454

เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งอนันตสมาคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สอยในฐานะเป็นท้องพระโรงของ พระราชวังดุสิต เช่น เป็นมงคลสถานจัดงานพระราชพิธี หรืองานพระราชทานเลี้ยงในโอกาสสำคัญต่างๆ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมถูกใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาครั้งแรก และในฐานะอาคารรัฐสภาของสยามประเทศ ทุกครั้งที่มีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภา พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐสภาได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีและรัฐพิธี

100 ปีที่ผ่านมา พระที่นั่งอนันตสมาคมมีเรื่องราวประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใช้ประชุมรัฐสภาแห่งแรกของสยาม และเหตุการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ คือ เป็นสถานที่ประกอบงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระที่นั่งอนันตสมาคมสถาปัตยกรรมหินอ่อนแห่งเดียวในสยาม จึงนับได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคมสถาปัตยกรรมแห่งสยาม” เขียนโดย รมิดา โภคสวัสดิ์ และ ศิริวรรณ อาษาศรี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2560