“พระที่นั่งอนันตสมาคม” สถาปัตยกรรมที่รัชกาลที่ 5 ทรงจำใจสร้างแบบฝรั่ง

พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต พุทธศักราช 2459 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ใครก็ตามที่ได้เห็น “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น ต่างตกตะลึงในความสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ทว่าความงามดังกล่าวกลับมีความลับที่ซ่อนเร้นอยู่คือ สถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอันโอ่อ่านี้ออกแบบสไตล์ตะวันตก ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะช่างไทยไม่เพียงพอ

พระที่นั่งฯ เป็นพระที่นั่งหินอ่อนองค์เดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2451 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม 8 ปีจึงสร้างแล้วเสร็จ

จุดเริ่มต้นของการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เกิดจากรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง ที่ประทับหลักของพระมหากษัตริย์ มีอายุการใช้งานมาแล้วกว่า 100 ปี ทั้งยังอึดอัดและคับแคบ เพราะมีผู้พำนักถึง 30,000 ชีวิต พระองค์จึงมีพระราชดำริย้ายไปประทับยังสถานที่ใหม่ คือ “พระราชวังสวนดุสิต”

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มสร้างพระราชวังสวนดุสิตในปี 2442 พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้าง “ห้องรับแขก” ในบริเวณดังกล่าว เพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้สยาม เป็นที่มาของ พระที่นั่งฯ ดังกล่าว ที่ได้ชื่อว่ารับอิทธิพลมาจากตะวันตกอย่างเต็มเปี่ยม 

ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรเนสซองส์ ผังของพระที่นั่งฯ ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาสนวิหารเซนต์พอล อาสนวิหารสำคัญของอังกฤษ วัสดุก็ยังนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กระเบื้องปูพื้นจากเมืองเวียนนา ออสเตรีย ผ้าม่านจากเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ ประติมากรรมจากเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เป็นต้น

การออกแบบตกแต่งที่ล้วนเป็นรูปแบบตะวันตกเช่นนี้ ทำให้ผู้พบเห็นต่างคิดว่าเป็นความตั้งพระทัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งแท้จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น แต่เกิดจาก ช่างไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการสร้าง พระองค์จึงต้องทรงจ้างช่างจากอิตาลีมารังสรรค์พระที่นั่งอนันตสมาคม 

จากบันทึกของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้กล่าวถึงพระราชปรารภของรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับรูปแบบท้องพระโรงของพระราชวังดุสิตไว้ว่า

“พระราชประสงค์ใคร่จะให้เป็นแบบไทย แต่มีพระยาสงครามเป็นช่างทำได้อยู่คนเดียว ที่ไหนจะสามารถทำให้เรียบร้อยและทันพระราชประสงค์ จึงจำพระทัยจำสร้างแบบฝรั่ง ซึ่งจะสั่งช่างวิเศษมาสักโหลหนึ่งก็ได้ทันที อุปสรรคอันนี้ทรงแสดงพระราชโทมนัสมากถึงแก่รับสั่งว่า ต่อไปข้างหน้าเขาคงพากันติฉินว่าสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ นี้ช่างโปรดตึกฝรั่งเสียจริง ๆ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่แปลภาพ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2566