ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นมาหมู่หนึ่ง พระราชทานนามว่า “พระอภิเนาว์นิเวศน์” โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2397 และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อ พ.ศ. 2402 รวมเวลา 5 ปีในการสร้าง
พระอภิเนาว์นิเวศน์ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 8 องค์ และหออีก 3 หอ รวมเป็นกลุ่มอาคาร 11 หลัง แต่การตั้งชื่อพระที่นั่งและหอต่างๆ นี้โปรดให้รวมพระที่นั่งบนกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออกนี้อีก 2 องค์ องค์หนึ่งคือ พระที่นั่งไชยชุมพล ที่โปรดให้สร้างขึ้นบนกำแพงพระราชวังหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกองค์หนึ่งคือ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ที่สร้างขึ้นแต่รัชกาลที่ 1 แล้วมาปรับปรุงยกยอดปราสาทสมัยรัชกาลที่ 3 รวมเข้าเป็นพระที่นั่งในหมู่เดียวกัน มีนามคล้องจองกันดังนี้
พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ฯ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส พระที่นั่งภาณุมาศจำรุญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร หอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาส และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์
ความสำคัญของพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 4 เสด็จออกรับทูตจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาทำหนังสือสัญญาเจริญพระราชไมตรี เช่น ฮอลันดา, ปรัสเซีย, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส เป็นต้น
อีกทั้งเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงพระประชวรจนเสด็จสวรรคตนั้น มีการสื่อสารและการเฝ้ารอฟังพระอาการระหว่างพระที่นั่ง 2 องค์ คือ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ พระวิมานที่บรรทมระหว่างทรงพระประชวรจนเสด็จสวรรคต และพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นสถานที่ที่เจ้านาย เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รอฟังพระอาการ
และพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เอง เป็นสถานที่ประชุมปรึกษาหารือของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ และเหล่าเสนาบดี โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานที่ประชุมในการถวายสิริราชสมบัติแด่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ในกลางดึกของวันที่รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต
รัชกาลที่ 5 โปรเดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่พระราชวังดุสิต
ในปลายรัชกาลที่ 5 เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการสร้างพระราชวังดุสิต และพระองค์โปรดประทับ ณ ที่นั้น จึงทำให้พระองค์จึงไม่มีพระราชกิจใดๆ ในพระอภิเนาว์นิเวศน์เลย จนวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1902 (พ.ศ.2445) มีรายงานของนายคาร์โล อาเลกรี วิศวกรโยธาชาวอิตาเลียนที่รับราชการในยุคนั้น เข้ามาตรวจสภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ว่าพระที่นั่งองค์นี้ชำรุดเสียหายมาก แล้วไม่แนะนำให้ซ่อม จนทำให้รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชกระแสให้รื้อและเก็บเสาและศิลาที่ยังได้ไว้ใช้ในการอื่น
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงโปรดให้นำนามพระที่นั่งที่สำคัญใน “พระอภิเนาว์นิเวศน์” ไปเป็นนามพระที่นั่งองค์ใหม่ในพระราชวังดุสิต เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งนงคราญสโมสรในสวนสุนันทา เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระที่นั่งอนันตสมาคม” สถาปัตยกรรมที่รัชกาลที่ 5 ทรงจำใจสร้างแบบฝรั่ง
- พระที่นั่งอนันตสมาคม “สถาปัตยกรรมหินอ่อนแห่งสยาม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
(ข้อมูลจาก พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดย หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. 2549.)
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2560