“คะน้า” ผักในตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิม เหตุใดจึงมีชื่อเรียกว่า คะน้า ?

คะน้า
ผัดผักคะน้า (public domain - pixabay.com)

ผักชนิดหนึ่งที่คนไทยเรารู้จักกันดีทุกครอบครัว นั่นคือ คะน้า (CHINESE KALE)…เป็นที่ยอมรับกันดีว่า ผักคะน้าเป็นราชาแห่งผักจีนชนิดหนึ่ง ที่ชาวจีนโพ้นทะเลแต่กาลก่อนได้นำเมล็ดพันธุ์จากแถวมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และฟูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ติดตัวเข้ามาปลูกในประเทศไทย พร้อม ๆ กับผักกวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย กุยช่าย ตัวไฉ่ เป็นต้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ติดใจผมมาโดยตลอดก็คือ ทำไมคนจีนจึงได้เรียกชื่อของผักชนิดนี้ว่า “ผักคะน้า” ทำไมจึงไม่เรียกว่า —ไฉ่ หรือช่าย ในสำเนียงของคนไทย (ไฉ่ หรือช่าย แปลว่า ผัก) เหมือนผักชนิดอื่น ๆ เพราะถ้าดูตามรูปคำศัพท์แล้ว คำว่า “คะน้า” ก็ไม่น่าที่จะมาเป็นชื่อของผักได้ หรือว่าชื่อของผักชนิดนี้จะมีตำนานความเป็นมาของชื่อคำอยู่?

ผมจึงได้นำความใคร่อยากรู้นี้ไปเรียนถามชาวจีนผู้รู้สูงวัยท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า คำว่า “คะน้า” นี้มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่เรียกว่า แก๋ะหน่าไฉ่ ในภาษาจีนกลางเรียกว่า เจี้ยหลานไฉ่ (JÌE LÁN CÀI)

แก๋ะ หมายถึง กั้นไว้, หน่า หรือน้า หมายถึง ตะกร้า

ที่มาของชื่อนี้นั้นเล่าสืบกันมาว่า ในตำนานประวัติของเจ้าแม่กวนอิม เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหญิงเมี่ยวซาน พระธิดาของพระเจ้าเมี่ยวจวง กษัตริย์ผู้มีอุปนิสัยอันโหดร้าย ชอบฆ่าฟันและก่อสงครามอยู่เป็นนิตย์ เมื่อเจ้าหญิงเมี่ยวซานเจริญวัยพระชันษาขึ้น ก็มีพระสิริโฉมอันงดงาม ทั้งยังมีน้ำพระทัยที่เมตตากรุณาต่อมวลสรรพสัตว์อย่างสุดประมาณมิได้ แม้เชลยศึกที่พระบิดาได้นำมากักขังไว้ ก็แอบเสด็จไปช่วยเหลือมิให้พระบิดาทรงทราบ

แล้ววันหนึ่ง พระเจ้าเมี่ยวจวงรับสั่งให้พระธิดาเมี่ยวซานเข้าเฝ้า เพื่อให้เตรียมเลือกคู่ครอง พระธิดาเมี่ยวซานทูลขอระงับการนี้ เพราะตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเนกขัมบารมี ออกอุปสมบทเป็นภิกษุณี ฉันมังสวิรัติ เพื่อบำเพ็ญพรตภาวนาจนให้บรรลุพระโพธิสัตว์ภูมิ พระเจ้าเมี่ยวจวงกริ้วนัก แต่อุบายว่า ลองให้บวชก็ได้ เมื่อทนลำบากไม่ไหว ก็คงสึกหาลาเพศกลับคืนพระราชวังเอง จึงรับสั่งให้พระธิดาเมี่ยวซานออกบวชได้ โดยให้ทำงานหนักทุกชนิดด้วยตนเอง

เมี่ยวซานภิกษุณีกระทำกิจตามรับสั่ง แต่โดยบารมีแต่ปางก่อน และปณิธานอันแน่วแน่จึงยังผลให้เทพยดามาช่วยงานทั้งปวง ท่านจึงบำเพ็ญภาวนายิ่งขึ้น เวลาล่วงเลยไป ดูเหมือนไม่มีทีท่าที่พระธิดาจะเสด็จนิวัตพระราชวัง พระเจ้าเมี่ยวจวงวิตกว่า บารมีของพระธิดาจะทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเลื่อมใส ผู้คนจะออกบวชเสียสิ้น ความที่พระองค์ทรงมีนิสัยโหดร้ายในพระกมลสันดานอยู่แล้ว จึงมีพระบัญชาให้เผาอารามที่เมี่ยวซานภิกษุณีจำวัดเสีย พร้อมรับสั่งให้ทั่วทั้งเมืองงดปรุงและจำหน่ายอาหารมังสวิรัติ ผู้ใดขัดขืนให้ประหารชีวิตทิ้งเสีย ทั้งนี้เพื่อหมายให้พระธิดาทนอดอยากและลำบากไม่ไหวจนต้องลาสึกเสียเอง

ความที่ไพร่ฟ้าประชาชนสงสารในพระจริยาวัตรอันงดงามของเมี่ยวซานภิกษุณี ที่ถูกพระบิดารังแกทำร้ายถึงเพียงนี้ แม้แต่อาหารมังสวิรัติยังมิให้ปรุงหารับประทาน ชาวบ้านจึงได้นำเอาตะกร้ามาแยกกันในบริเวณหม้อต้มน้ำที่ใส่กระดูกสัตว์ แล้วเด็ดเอาผักชนิดหนึ่งมาลวกต้มในตะกร้านั้นโดยมิให้ถูกเนื้อสัตว์ เพื่อให้เมี่ยวซานภิกษุณีได้ฉันเป็นอาหารเพื่อดำรงชีวิตอยู่รอดได้ต่อมา

ผักชนิดนี้จึงได้รับการเรียกขานว่า “แก๋ะหน่าไฉ่” หรือผักที่ถูกกั้นอยู่ในบริเวณตะกร้า

เมื่อกาลเวลาผ่านไป จึงเรียกเพี้ยนสำเนียงไปเป็น “คะหน่าไฉ่” และคนไทยได้เรียกให้ง่ายขึ้นตามสำเนียงในภาษาไทยว่า “ผักคะน้า” มาจนถึงทุกวันนี้

หรือในอีกคำอธิบายหนึ่ง เล่ากันว่า

เมื่อพระเจ้าเมี่ยวจวงรับสั่งให้ทั่วทั้งเมืองงดปรุงและจำหน่ายอาหารมังสวิรัติแล้วนั้น ก็ยังรับสั่งให้ทหารนำน้ำมันวัวไปรดลงผักที่ปลูกอยู่ทั่วเมือง เพื่อหมายให้พระธิดาทนลำบากหาอาหารมังสวิรัติรับประทานมิได้ แต่ด้วยความที่เมี่ยวซานภิกษุณีมีปณิธานอันแน่วแน่นั่นเอง ความจึงได้ทราบถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงแปลงร่างลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อตรัสกับเมี่ยวซานภิกษุณีว่า ผักที่ถูกราดด้วยน้ำมันสัตว์นั้น ให้รับประทานเพื่อยังชีพได้ เมี่ยวซานภิกษุณีจึงได้นำผักชนิดนั้นมาล้างน้ำสะอาดแล้วปรุงเป็นอาหาร

ต่อมาผักชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้านโดยทั่วไป และมีชื่อเรียกว่า ผักคะน้า

สำหรับคำอธิบายนี้มิได้เล่าถึงความเป็นมาของชื่อคำ เพียงแต่เล่าถึงที่มาของผักชนิดนี้ไว้เท่านั้น ซึ่งผมขอเล่าประกอบไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะมีผู้อาวุโสชาวจีนบางท่านได้เล่าให้ฟังไว้

ผมได้ไปเดินสำรวจย่านตลาดเก่าเยาวราช เพราะทราบมาว่า ในย่านนี้มีคนนำผักคะน้าจากจีนเมืองซั้นโถว (ซัวเถา) และกว่างโจว เข้ามาขาย…เมื่อพินิจดูแล้ว ผักคะน้าต้นตำรับที่ปลูกในประเทศจีน จะมีขนาดของลำต้นและใบคล้ายคะน้าก้านอ่อนของบ้านเรา โดยมีสีเขียวเข้มทั้งใบและลำต้น ต่างจากที่ปลูกในไทย ที่ลำต้นจะมีสีเขียวอ่อนกว่าสีใบ เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว พบว่ามีรสชาติที่ใกล้เคียงกัน

ดังนั้น เมื่อเราจะรับประทานผักคะน้ากันในครั้งต่อ ๆ ไป โปรดช่วยกันรำลึกถึงที่มาของชื่อผักชนิดนี้กันสักเล็กน้อย แล้วน้อมรำลึกนึกถึงพระเมตตาคุณขององค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ที่ได้อาศัยผักชนิดนี้ในการดำรงชีพเพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมอันยิ่งใหญ่ จนสำเร็จพระโพธิสัตว์ภูมิ และเป็นที่นับถือของทั้งชาวไทยและชาวจีนมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ธรรมเกียรติ กันอริ. บารมีพระโพธิสัตว์กวนอิม สาวิกาแห่งหนานไห่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธารวิมล, 2536.

สาทิส อินทรกำแหง. ชีวจิต. สำนักพิมพ์คลีนิคบ้านและสวน, 2541.

มหัศจรรย์ผัก 108. โครงการหนูรักผักสีเขียว, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล, 2541.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คะน้า ผักในตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิม” เขียนโดย ปริวัฒน์ จันทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2564