ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
บรรดานักเดินเรือคนสำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงยุคการสำรวจและค้นพบนั้น นอกจากชื่อของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส, วาสโก ดา กามา หรือเจมส์ คุก อีกหนึ่งชื่อที่ขาดไม่ได้ย่อมเป็น “เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน” นักสำรวจชาวโปรตุเกสผู้ถูกยกย่องให้เป็นผู้ “เดินเรือรอบโลก” สำเร็จ แม้เกียรติยศดังกล่าวของเขาจะมีความอิหลักอิเหลื่ออยู่บ้าง เพราะการเดินเรือรอบโลกครั้งนั้น “ตัว” ของเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ไม่ได้กลับไปถึงท่าเรือในยุโรป ณ จุดที่เขาเริ่มออกเดินทางด้วยซ้ำ…
เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan) ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่แล่นเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากชายฝั่งอเมริกามายังทวีปเอเชีย นอกจากนี้กองเรือของเขายังสามารถ เดินเรือรอบโลก สำเร็จ เป็นการพิสูจน์ว่าโลกใบนี้กลมดุจดังผลส้ม สามารถแล่นเรือวนรอบแล้ววกกลับมายังจุดเดิมได้โดยไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเดิม แม้ความรู้หรือทฤษฎีเรื่องโลกกลมนั้นอยู่คู่อารยธรรมมนุษย์มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ให้ประจักษ์แจ้งมาก่อน ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ของศตวรรษที่ 16
เส้นทางที่ตัดผ่านโลกใหม่
เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เกิด ค.ศ. 1480 เป็นทายาทขุนนางโปรตุเกส เมื่ออายุ 25 ปี เขาเข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งราชอาณาจักรโปรตุเกสและมีโอกาสเดินทางไปหมู่เกาะเครื่องเทศหรือหมู่เกาะโมลุกกะ (Maluku Islands) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยนั้นชาวยุโรปจะเดินเรือเลาะตามชายฝั่งขอบทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู๊ดโฮปก่อนข้ามมหาสมุทรอินเดียมายังหมู่เกาะเครื่องเทศในอินโดนีเซีย ซึ่งดินแดนดังกล่าวเปรียบเหมือนขุมทองกลางทะเลของพ่อค้าที่ทำกำไรมหาศาลจากการค้าเครื่องเทศเลยทีเดียว
ค.ศ. 1510 เฟอร์ดินานด์ มาเจลลันได้เป็นนายเรือเอกและถูกส่งไปประจำการที่โมรอคโก (Morocco) ดินแดนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ที่นั่นเขาได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้จนขาพิการไปข้างหนึ่ง
7 ปีต่อมา เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน นึกอยากสานต่อการสำรวจของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่พยายามพิสูจน์ว่าโลกกลมและสามารถเดินเรือจากทิศตะวันตกของยุโรปไปยังดินแดนตะวันออกหรือทวีปเอเชียได้ แม้จะมีการค้นพบโลกใหม่ (อเมริกา) แต่ทวีปเอเชียยังอยู่ถัดไปทางตะวันตกของโลกใหม่ เขาจึงนำโครงการไปเสนอกษัตริย์มานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Manuel I of Portugal) เพื่อให้กองเรือเดินทางไปกับเขา แต่ถูกปฏิเสธ
เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ยังไม่ละความพยายาม เขาเบนเป้าไปยังราชสำนักสเปนของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I) แห่งราชวงศ์ฮับบูร์ก หรือจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นอีกครั้งที่ราชสำนักสเปนให้การอุปถัมภ์การเดินเรือครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก
จากข้อตกลงในสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส (Treaty of Tordesillas) ตั้งแต่ปี 1494 สเปนถูกจำกัดสิทธิ์เดินเรือไปยังเอเชียตะวันออก เพราะโปรตุเกสได้สิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าวรวมถึงหมู่เกาะเครื่องเทศ แลกกับสิทธิ์ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสเปน ได้แก่ ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกา หากเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ค้นพบเส้นทางเดินเรือจากตะวันตกไปยังหมู่กาะเครื่องเทศได้จริง นั่นจะเป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างใหญ่หลวงของสเปน
ราชสำนักสเปนมอบเรือ 5 ลำให้แก่เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน เขานำเรือพร้อมลูกเรือกว่า 270 ชีวิตออกจากท่าในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1519 ไปยังทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เทียบท่าที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) ในทวีปอเมริกาใต้ ก่อนเดินเรือเลียบชายฝั่งตอนใต้เพื่อหาทางข้ามไปอีกฝั่ง
หลังการสำรวจพื้นที่แถบนั้นอยู่หลายเดือน เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ทั้งความล้มเหลวจากการพยายามใช้เส้นทางปากแม่น้ำลาพลาตา (La Plata) ในอาร์เจนตินาเพื่อข้ามไปอีกฝั่งทวีป การกบฏภายใต้การนำของกัปตันเรือชาวสเปนและลูกเรืออีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงการสูญเสียเรือซานติอาโก (the Santiago) หนึ่งในกองเรือทั้ง 5 ลำของเขาที่ถูกพายุทำลายจนจมลงสู่ก้นสมุทรระหว่างการสำรวจน่านน้ำ
ในที่สุด เดือนกันยายน ค.ศ. 1520 คณะของมาเจลลันก็พบกับช่องแคบซึ่งต่อมาถูกตั้งชื่อตามเขา คือ “ช่องแคบมาเจลลัน” เป็นช่องทางเดินเรือจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอีกฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ได้ ระหว่างการสำรวจช่องแคบนั้น พวกเขาก็ต้องเสียเรือไปอีกลำ นั่นคือเรือซานอันโตนิโอ (the San Antonio) แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เพราะพายุ เป็นคนบนเรือเองที่ละทิ้งกองเรือแล้ววกกลับไปทางตะวันออกเพื่อกลับสเปน
เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน หลังพ้นออกจากช่องแคบมาเจลลัน คณะเดินทางจึงพบผืนน้ำกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่สงบไร้คลื่นลม พวกเขาตั้งชื่อมหาสมุทรนี้ว่า “มาเร ปาซิฟีโก” (Mare Pacifico) หรือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแปลว่า ทะเลสงบ
เป็นอีกครั้งที่คณะสำรวจยุคต้องเจอปัญหา เพราะพวกเขาประเมินขนาดของโลกเล็กเกินไป เช่นเดียวกับรุ่นพี่อย่างคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน คาดการณ์ว่าพวกเขาน่าจะใช้เวลาราว 3-4 วันเพื่อข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังทวีปเอเชีย แต่ปรากฏว่ากองเรือต้องใช้เวลาถึง 4 เดือน ลอยเคว้งอยู่กลางทะเลจนน้ำและอาหารของพวกเขาร่อยหรอลงทุกขณะ ลูกเรือเริ่มเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคเลือดออกตามไรฟัน (Scurvy หรือโรคลักปิดลักเปิด)
หมู่เกาะแห่งความโกลาหล
กระทั่งวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1521 กองเรือได้ขึ้นฝั่งที่เกาะกวม (Guam island) พบกับชนพื้นเมืองและได้เสบียงอาหารจากพวกเขา ทว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นหลังการมอบเสบียงอาหาร ชนพื้นเมืองเข้าใจว่านั่นคือการแลกเปลี่ยนทางการค้าและพวกเขาขึ้นเรือไปเอาสิ่งของต่าง ๆ เป็นการแลกเปลี่ยนโดยที่เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ไม่รู้ถึงเจตนาและลูกเรือสเปนตีความว่านั่นคือการขโมย นำไปสู่การสังหารผู้คนเพื่อทรัพย์สินทั้งหลายคืน
10 วันต่อมา กองเรือจึงเดินทางมาพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (The Philippines Islands) และขึ้นฝั่งที่เกาะซามาร์ (Samar island) เกาะโฮมินฮอน (Homonhon island) และเกาะซูซูอัน (Suluan island) และอีกหลายเกาะในดินแดนนี้ การสำรวจดังกล่าวทำเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน รู้จักกับราชาหรือผู้นำท้องถิ่นของบรรดาอาณาจักรแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ พวกเขาได้แลกเปลี่ยนสินค้า เสบียงอาหาร เรียนรู้ประเพณีท้องถิ่นไป ตลอดจนเผยแผ่ศาสนาคริสต์และจูงใจผู้นำของชนพื้นเมืองให้เข้ารีตเป็นคาทอลิกได้ด้วย
การค้นพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทำให้คณะของมาเจลลันเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังดินแดนฝั่งทวีปเอเชีย ไขความกระจ่างว่าทวีปอเมริกาและเอเชียเป็นคนละทวีป และตั้งอยู่คนละซีกโลก รวมถึงหมู่เกาะแคริบเบียนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เคยค้นพบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับญี่ปุ่นหรือจีน อย่างที่ชาวตะวันตกเชื่อกันมาเมื่อเริ่มสำรวจทวีปอเมริกา
น่าเศร้าที่เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ไม่มีโอกาสเป็นผู้นำกองเรือของเขากลับสเปน เขาถูกคนพื้นเมืองของเผ่าที่ไม่ต้องการรับศาสนาคริสต์และขัดแย้งกับอีกเผ่าที่เขาเคยผูกมิตร ลงมือสังหารในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1521 ลูกเรือที่เหลือภายใต้การนำของ เซบาสเตียน เดล คาโน (Serbastian del Cano) พร้อมเรืออีก 2 ลำ สามารถหลบหนีออกจากเหตุชุลมุนที่เกิดขึ้นได้ พวกเขาล่องลงใต้ไปพบหมู่เกาะเครื่องเทศในท้ายที่สุดและซื้อเครื่องเทศจากชนพื้นเมืองจนเต็มลำเรือ
ก่อนออกจากหมู่เกาะเครื่องเทศ เซบาสเตียน เดล คาโน พบว่าพวกเขาเหลือเรือเพียงลำเดียวที่ใช้เดินทางกลับสเปนได้ คือ เรือวิกตอรีโอ (Victorio) เพราะอีกลำชำรุดจนต้องทิ้ง กองเรือมาเจลลันที่เหลือเรือเพียงลำเดียวแถมไม่มีเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน จึงเดินทางกลับสเปนผ่านมหาสมุทรอินเดียโดยต้องคอยหลบเรือโปรตุเกสที่คุมน่านน้ำแถบนี้
เรือวิกตอรีโอพร้อมกัปตันลูกเรือ 18-19 คน เทียบท่าที่สเปนวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1521 กลายเป็นเรือลำแรกที่เดินทางรอบโลก การเดินเรือครั้งนี้สร้างชื่อเสียงให้เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน และลูกเรือของเขาในฐานะกองเรือที่เดินทางรอบโลกสำเร็จเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะเซบาสเตียน เดล คาโน ถึงกับใช้รูปโลกเป็นเครื่องหมายประจำตัว (Coat of Arm) พร้อมคำขวัญว่า “ท่านเป็นคนแรกที่แล่นเรือรอบตัวฉัน” (Primus circumdedisti me) ตั้งแต่นั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “ลักปิดลักเปิด” โรคประจำของนักเดินเรือ ทำไมจึงพบมากในหมู่กะลาสี?
- เหลือเชื่อ! เมื่อชาวโพลินีเซียนสามารถย้าย “อารยธรรม” ของตนเองได้ด้วยเรือเพียงลำเดียว
อ้างอิง :
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2554). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
Francisco Contente Domingues, Encyclopaedia Britannica : Ferdinand Magellan, Portuguese explorer (Online)
History.com Editors, HISTORY (OCT 29, 2019) : Ferdinand Magellan (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2565